รีเซต

"บายพาส" ดวงตาไปยังสมอง เทคโนโลยีใหม่มอบแสงสว่างให้ผู้พิการทางสายตา

"บายพาส" ดวงตาไปยังสมอง เทคโนโลยีใหม่มอบแสงสว่างให้ผู้พิการทางสายตา
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2564 ( 13:34 )
186

ดวงตาและการมองเห็น คือของขวัญที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ การปราศจากซึ่งการมองเห็นทำให้โลกของคุณมืดมิด แน่นอนว่าในวงการแพทย์มีความพยายามที่จะคืนแสงสว่างให้กับผู้พิการทางสายตาเหล่านี้ และล่าสุดดูเหมือนว่าเราจะทำได้สำเร็จเป็นครั้งแรกแล้ว !!




นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิกูเอล เออร์นานเดซ ประเทศสเปน ได้คิดค้นวิธีที่จะช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถมองเห็นได้อีกครั้ง โดยการสร้างทางลัดหรือ "บายพาส" ภาพไปยังสมองได้โดยตรง 


กระบวนการนี้จะอาศัยอุปกรณ์อยู่ 2 ชุด คือแว่นตาที่มีชุดกล้องเก็บภาพต่าง ๆ ตรงหน้าของผู้ป่วย กล้องนี้จะทำหน้าที่เป็น "เรตินาเทียม" เสมือนจอประสาทรับภาพของดวงตา ภาพที่เก็บได้จะถูกแปลงคลื่นแสงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า ก่อนที่จะส่งไปยัง "ศูนย์รับภาพ" ซึ่งเป็นขั้วอิเล็กโทรดจำนวน 96 ชิ้นที่ฝังอยู่ในสมองของผู้ป่วย 


กลไกการแปลงคลื่นแสงจากสิ่งแวดล้อมให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า มีความคล้ายคลึงกับการส่งกระแสประสาทที่เกิดขึ้นภายในดวงตา สัญญาณไฟฟ้าจากเรตินาเทียมที่ถูกส่งไปยังขั้วอิเล็กโทรดในสมอง กระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับภาพ (Visual Cortex) เพื่อแปลสัญญาณไฟฟ้ากลายเป็นภาพให้ผู้ป่วยรับรู้ได้นั่นเอง

ที่มาของภาพ RUVID

 


ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยเคยทำการทดลองหลายครั้งกับสัตว์ในตระกูลลิง ซึ่งประสบผลสำเร็จมาเป็นอย่างดีโดยตลอด แต่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในมนุษย์ พวกเขาจึงได้ทำการทดลองในอาสาสมัครหญิงอายุ 57 ปีรายหนึ่ง ที่สูญเสียการมองเห็นมานานถึง 16 ปี 


งานวิจัยนี้เริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 และดำเนินการเรื่อยมา ผลปรากฏว่าอาสาสมัครหญิงสามารถมองเห็นตัวอักษรรวมถึงรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งในระหว่างนี้เธอจะถูกสอนให้คุ้นชินกับอุปกรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถมองเห็นและจดจำภาพจากสิ่งรอบข้างได้อย่างสมบูรณ์


อุปกรณ์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยเริ่มกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง มันยังสามารถทำงานได้ดีโดยไม่รบกวนสมองในบริเวณอื่น อีกทั้งกระแสไฟฟ้าที่ส่งมายังสมองยังอยู่ในระดับที่พอเหมาะไม่ก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งคาดว่าในอนาคตนักวิจัยจะพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น พร้อมนำมาทดลองในผู้พิการทางสายตาจำนวนมากขึ้นด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง