รีเซต

NASA เผยข่าวดีจากการตรวจวัดช่องโหว่โอโซนที่ขั้วโลกใต้ พบว่ารูโหว่เล็กลงจากปีก่อน

NASA เผยข่าวดีจากการตรวจวัดช่องโหว่โอโซนที่ขั้วโลกใต้ พบว่ารูโหว่เล็กลงจากปีก่อน
TNN ช่อง16
29 ตุลาคม 2565 ( 09:00 )
53
NASA เผยข่าวดีจากการตรวจวัดช่องโหว่โอโซนที่ขั้วโลกใต้ พบว่ารูโหว่เล็กลงจากปีก่อน

นาซา (NASA) รายงานผลการรายงานตรวจวัดช่องโอโซนในทวีปแอนตาร์กติกา ช่วงระหว่างวันที่ 7 กันยายน จนถึง 13 ตุลาคม 2022 ว่า ช่องโหว่ของโอโซนเหนือขั้วโลกใต้มีขนาดเล็กกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยการตรวจวัดระบุว่า ช่องโหว่มีพื้นที่โดยรวมราว 23.2 ล้านตารางกิโลเมตร และยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

"จากการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เราพบว่า รูโหว่นี้เล็กลงเรื่อย ๆ" พอล นิวแมน (Paul Newman) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด (NASA’s Goddard Space Flight Center) ของนาซาเผย ทั้งยังเสริมว่า "ตัวเลขพื้นที่เปลี่ยนไปมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ตัวเลขขยับไปมาในแต่ละวัน รวมถึงสัปดาห์ต่อสัปดาห์ แต่โดยรวมแล้ว เราเห็นว่ามันลดลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การกำจัดสารทำลายโอโซนเนื่องจากพิธีสารมอนทรีออล ทำให้รูโหว่นี้เล็กลง"


ที่มาของรูปภาพ NASA


ชั้นโอโซน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศขั้นสตาโทสเฟียร์ (Stratosphere) ที่ช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ ถูกทำลายจนเกิดเป็นช่องโหว่โอโซน ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกใต้ในทุก ๆ เดือนกันยายน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีของคลอรีนและโบรมีนต่อชั้นบรรยากาศ ซึ่งก่อตัวมาจากสารประกอบที่มนุษย์สร้างขึ้น และจะเกาะติดกับเมฆบริเวณขั้วโลกใต้ในช่วงฤดูหนาว คลอรีนและโบรมีนจะเริ่มต้นกระบวนการทำลายชั้นโอโซนเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ในจุดสิ้นสุดฤดูหนาวของทวีปแอนตาร์กติกา 


โดยนักวิจัยที่นาซา (NASA) และองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้ตรวจจับและวัดการเติบโตและการแตกตัวของรูโอโซนด้วยเครื่องมือบนดาวเทียมหลากหลายดวง เช่น Aura, Suomi NPP และ NOAA-20 ซึ่งข้อมูลในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ดาวเทียมเหล่านั้นสำรวจช่องโหว่ของโอโซน พบว่า มีขนาดอยู่ที่ 26.4 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าปีที่แล้วเล็กน้อย


ทั้งนี้ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น นักวิทยาศาสตร์ของ NOAA ได้ใช้ Dobson Spectrophotometer เครื่องมือด้านแสงที่บันทึกปริมาณโอโซนระหว่างบริเวณผิวโลกและขอบอวกาศ โดยจะมีตัวชี้วัดเฉพาะซึ่งเรียกว่าค่าคอลัมน์ของโอโซน ในหน่วยวัดด็อบสัน (Dobsons) ซึ่งตามปกติแล้ว ค่าเฉลี่ยคอลัมน์โอโซนทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 300 Dobson Units ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ พบว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พวกเขาบันทึกค่าโอโซนรวมบริเวณขั้วโลกใต้ในปริมาณต่ำสุดได้ที่ 101 Dobson Units เหนือขั้วโลกใต้ ในเวลานั้น โอโซนเกือบจะหายไปอย่างสมบูรณ์ที่ระดับความสูงระหว่าง 14 ถึง 21 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับปีที่แล้วมาก




ก่อนหน้านี้ จากการปะทุของภูเขาไฟ ฮังกา ตองกา-ฮังกา ฮาอาปาย (Hunga Tonga-Hunga Ha'apai) เมื่อเดือนมกราคม 2565 นักวิทยาศาสตร์บางคนกังวลว่า การปะทุอาจมีผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ จากตัวอย่างการปะทุของภูเขาไฟปินาตูโบในปี 1991 ที่ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมาก ซึ่งขยายช่องโหว่ของชั้นโอโซน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบล่าสุด ไม่มีการตรวจพบผลกระทบโดยตรงจากภูเขาไฟฮังกา ตองกาแต่อย่างใด 


ที่มาของข้อมูล nasa.gov

ที่มาของรูปภาพ NASA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง