รีเซต

ทดสอบส่งยาน Starship ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ แต่ยานขาดการติดต่อขณะ Re-Entry ผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก

ทดสอบส่งยาน Starship ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ แต่ยานขาดการติดต่อขณะ Re-Entry ผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก
TNN ช่อง16
14 มีนาคม 2567 ( 21:51 )
30

วันที่ 14 มีนาคม เวลาประมาณ 20.25 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริษัท SpaceX ทดสอบส่งยาน Starship ขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Super Heavy โดยยาน Starship สามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ ส่วนจรวด Super Heavy ทิ้งตัวลงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นความก้าวหน้าและความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัทหลังการทดสอบ 2 ครั้งที่ผ่านมาในช่วง 2023 ประสบความสำเร็จบางส่วน


ระหว่างยาน Starship โคจรอยู่บนอวกาศได้มีการทดสอบประตูเพย์โหลดของยาน ซึ่งการทดสอบประตูดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อภารกิจการขนส่งอวกาศในอนาคต เช่น การขนส่งดาวเทียมปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ รวมไปถึงใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาประตูเพย์โหลดบนอวกาศรูปแบบอื่น ๆ


สำหรับยาน Starship และจรวด Super Heavy มีความสูงรวมกัน 122 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร ใช้เชื้อเพลิงเป็นออกซิเจนเหลวและมีเทนเหลวทำให้ยาน Starship สามารถติดเครื่องยนต์ใหม่ระหว่างบินอยู่บนอวกาศเพื่อชะลอความเร็วของการโคจรและกลับมาลงจอดบนพื้นโลก


โครงสร้างของยาน Starship ถูกพัฒนาขึ้นโดยเหล็กสแตนเลสสตีล (Stainless Steel) และโลหะชนิดอื่น ๆ บริเวณส่วนท้องของยานติดตั้งกระเบื้องป้องกันความร้อนความทนทานสูงเพื่อป้องกันความร้อนจากการเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง


การทดสอบยาน Starship ในครั้งนี้ ตามแผนการของบริษัทยานจะใช้การทิ้งตัวลงจอดบริเวณมหาสุมทรอินเดีย อย่างไรก็ตามยาน Starship ได้ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมขณะยานทำการ Re-Entry ผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก ซึ่งในขณะนี้ต้องรอแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากบริษัท SpaceX


สำหรับยาน Starship หากได้รับการพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจคล้ายยานอวกาศ Crew Dragon ของบริษัท SpaceX ที่ประสบความสำเร็จนำมนุษย์อวกาศขึ้นสู่อวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติ ISS


นอกจากนี้ยาน Starship ยังถูกออกแบบให้เป็นยานนำมนุษย์ไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในภารกิจ Artemis 3 ซึ่งบริษัท SpaceX ได้ทำสัญญาไว้กับองค์การนาซา โดยภารกิจดังกล่าวมีกำหนดลงจอดในช่วงปี 2026 ซึ่งนับเป็นการเดินทางกลับไปดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ในรอบ 54 ปี


ที่มาของข้อมูล SpaceX

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง