สิ้นสุดภารกิจ Ingenuity เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กบนดาวอังคารหลังใบพัดโรเตอร์ได้รับความเสียหาย
วันที่ 26 มกราคม องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซา แถลงข่าวจบภารกิจเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ถูกใช้สำรวจดาวอังคารพร้อมกับรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance rover) ที่ลงจอดบนดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 บริเวณปล่องภูเขาไฟเจซีโร (Jezero)
การจบภารกิจของเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) เกิดขึ้นหลังจากในวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา องค์การนาซาค้นพบว่าใบพัดโรเตอร์ที่ใช้ยกตัวบินเหนือพื้นผิวดาวอังคารได้รับความเสียหาย โดยข้อมูลถูกยืนยันด้วยภาพถ่ายใบพัดอย่างน้อย 1 ใบ แตกและบิดตัวผิดรูปทรง ทำให้ไม่สามารถใช้บินขึ้นจากผิวดาวอังคารได้อีก นับเป็นการปิดฉากภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity)
เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ได้รับการออกแบบโดยเทคโนโลยีการบินขั้นสูง เนื่องจากดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศเบาบางเพียงแค่ 1% เมื่อเปรียบเทียบกับโลก ทำให้ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ต้องหมุนถึง 2,900 รอบต่อนาที เพื่อทำการยกตัวบินขึ้นสู่ท้องฟ้าบนดาวอังคาร ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์บนโลกทั่วไปใบพัดจะหมุนเพียงแค่ 500 รอบต่อนาทีเท่านั้น
ก่อนหน้านี้นาซาวางกำหนดการให้เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ทำภารกิจบนดาวอังคารเพียงแค่ 30 วัน อย่างไรก็ตามเฮลิคอปเตอร์กลับสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและทำภารกิจได้นานต่อเนื่อง 3 ปี โดยบินขึ้นทั้งหมด 72 ครั้ง ใช้ระยะเวลาบินรวมทั้งหมด 127 นาที ครอบคลุมพื้นที่บนดาวอังคาร 17.7 กิโลเมตร
เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการสำรวจอวกาศ และถูกยกให้เป็นอากาศยานลำแรกที่พัฒนาขึ้นโดยมนุษย์ที่ถูกส่งไปทำการบินบนดาวดวงอื่น สำหรับแผนการหลังจากนี้นาซาเตรียมส่งเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่อย่างน้อย 2 ลำ ที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปทำการบินสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคารร่วมกับรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance rover) ที่กำลังปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคาร
“เฮลิคอปเตอร์ที่น่าทึ่งลำนั้นบินได้สูงขึ้น และไกลเกินกว่าที่เราจินตนาการไว้ ช่วยให้องค์การนาซาทำสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้” บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การนาซา กล่าวสดุดีภารกิจเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) อากาศยานลำเล็กที่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ในการสำรวจอวกาศของมนุษย์
ที่มาของข้อมูล nasa.gov, space.com