รีเซต

ปัญหาแฟรนไชส์ Subway เมื่อผู้บริโภคสับสน หลงซื้อ ร้านค้าไม่มีลิขสิทธิ์

ปัญหาแฟรนไชส์ Subway เมื่อผู้บริโภคสับสน หลงซื้อ ร้านค้าไม่มีลิขสิทธิ์
TNN ช่อง16
4 พฤศจิกายน 2567 ( 16:27 )
19

คงไม่มีใครทันได้คาดคิด ว่าการเข้าไปสั่งแซนด์วิชในร้าน Subway กลางห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แต่กลับได้อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะร้านค้าเหล่านั้นเป็นร้านค้า “ไม่มีลิขสิทธิ์” เพราะถูกยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์จากทาง Subway 


ที่น่าตกใจร้านค้า“ไม่มีลิขสิทธิ์” กระจายตัวอยู่ในทำเลทองทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล แถมมีมากกว่าร้าน “ถูกลิขสิทธิ์” ถึง 2 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดความสับสนของผู้บริโภค ในการเดินเข้าไปสั่งอาหารในร้านเดิมที่คุ้นเคย หากทั้งป้ายร้าน การตกแต่ง ไปจนถึงเมนูอาหาร ล้วนยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง 


มีเพียงลูกค้าบางคนที่จับสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของรายการอาหารบางเมนูที่หายไป รวมถึงคุณภาพของวัตถุดิบ และ บรรจุภัณฑ์ที่ด้อยลง แต่ลูกค้าก็ยังเข้าใจว่าเป็นร้านอาหารเดิม จึงร้องเรียนไปยังเจ้าของแบรนด์ ก่อนที่คำตอบกลับเพื่อชี้แจงจะนำมาซึ่งประเด็นที่ทำให้คนในสังคมจำนวนมากตกใจ


“แอดมินขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่คุณลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากร้านอาหารที่คุณลูกค้าได้เข้าใช้บริการ จากการตรวจสอบแอดมินพบว่าร้านอาหารดังกล่าวได้สิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์ร้านอาหาร Subway® โดยสิ้นเชิง แล้วตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป...

. ...บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแจ้งรายชื่อสาขาผู้รับแฟรนไชส์โดยชอบในร้านอาหาร Subway® ในประเทศไทย ตามเอกสารแนบ  ”


ความเสียหายจากร้าน Subway ปลอม ใครควรรับผิดชอบ

คำชี้แจงดังกล่าวของ Subway Thailand นำมาซึ่งคำถามจากผู้บริโภค และผู้ที่ชื่นชอบในรสชาติของ Subway  โดยเฉพาะการถามหาความรับผิดชอบ รวมไปถึงความชัดเจนในการจัดการร้าน“ไม่มีลิขสิทธิ์” กว่า 100 ร้านค้า ที่ยังเปิดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ Subway จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด   เช่น 


“แบรนด์ไม่ว่างเหรอคะ

ถึงยกภาระให้ผู้บริโภค ตรวจสอบเอง?

 

“แล้วคิดดูว่า เราสั่งอาหารเสร็จ เปิดฟีดอ่าน อ้าววว พอดูรายชื่อสาขา อ้าวแจ็คพอตแตกนี่เรานั่งอยู่ในสาขาที่เขายกเลิกไปแล้ว

นี่เลยตัดสินใจเดินมากินร้านฝั่งตรงข้ามละ ตกลงนี่คือปัญหาที่ลูกค้า ต้องวัดดวงเองใช่ไหม”

 

“สรุป เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคใช่ไหมครับที่ต้องคอยสังเกตสติกเกอร์ก่อนเดินเข้าร้าน?


“ก็ว่าทำไม สั่งแกรปที พนักงานจะโทรมาถามว่า อันนั้นไม่มี อันนี้ไม่มี เอาอันนี้เเทนไหม

เเล้วขอถามเเบบไม่รู้เลยนะคะ พนักงานสาขาที่ขาดการต่อแฟรนไชส์ ก็โดนลอยแพไปด้วยใช่ไหมคะ สงสารเลย”

 

“แล้วคิดดูว่า เราสั่งอาหารเสร็จ เปิดฟีดอ่าน อ้าววว พอดูรายชื่อสาขา อ้าวแจ็คพอตแตกนี่เรานั่งอยู่ในสาขาที่เขายกเลิกไปแล้ว

นี่เลยตัดสินใจเดินมากินแมคฝั่งตรงข้ามแหละ ตกลงนี่คือปัญหาที่ลูกค้า ต้องวัดดวงเองใช่ไหม” 


ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นจากมุมมองผู้บริโภคที่สะท้อนไปยังหน้าเพจของ Subway Thailand ในฐานะ “แฟรนไชส์ซอร์” หรือ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์



ทำไมร้านค้า "ไม่ปลดป้าย" แม้สิ้นสุดสัญญาแฟรนไชส์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ และ นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า โดยปกติแล้วเมื่อสัญญาแฟรนไชส์สิ้นสุดลง ทาง “แฟรนไชส์ซอร์” หรือ เจ้าของลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ จะห้ามร้านค้าแฟรนไชส์ซี หรือ ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ใช้แบรนด์ต่อ รวมไปถึงห้ามประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหาย และปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ และ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ เพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาก็ไม่สามารถควบคุมมาตรฐานได้อีกต่อไป 


“ กรณีของ Subway เรายังไม่รู้ถึงรายละเอียดของสัญญาแฟรนไชส์ว่าเป็นอย่างไร ต้องไปดูว่าทำไมร้านแฟรนไชส์กว่า 100 ร้านค้าจึงยังกล้าจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ต่อทั้งที่ทาง Subway ประกาศสิ้นสุดสัญญาไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ  หากสัญญาระหว่างร้านค้า “แฟรนไชส์ซี” กับ แบรนด์เจ้าของแฟรนไชส์สิ้นสุดลงชัดเจนแล้ว “แฟรนไชส์ซี” จะไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อแบรนด์ในการจำหน่ายสินค้าต่อ เพราะนอกจากเป็นการละเมิดเจ้าของแฟรนไชส์แล้ว ยังเป็นเหมือนการหลอกลวงผู้บริโภค ทำให้ลูกค้าของ SUBWAY เข้าใจผิดเดินเข้าไปซื้อสินค้า

แต่หากการใช้ชื่อแบรนด์จำหน่ายสินค้าต่อไป เป็นเพราะยังคงมีการต่อรอง หรือฟ้องร้องกันอยู่ระหว่าง ร้าน “แฟรนไชส์ซี”  กับ เจ้าของลิขสิทธิ์ SUBWAY ก็อาจมีการดำเนินการขายต่อไป แต่แน่นอนว่าทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะไม่ส่งวัตถุดิบให้กับทางร้านเหล่านี้ จึงทำให้ต้องไปหาวัตถุดิบใกล้เคียงมาทดแทน ซึ่งไม่รู้ว่าไปนำมาจากที่ไหน”  ผศ.ดร.สมชาย อธิบาย 


 

ทำไมร้านค้า "ไม่ปลดป้าย" แม้สิ้นสุดสัญญาแฟรนไชส์

สำหรับกรณีร้าน “แฟรนไชส์ซี”  สิ้นสุดสัญญาแฟรนไชส์ แต่ยังดำเนินการจำหน่ายสินค้าต่อ โดยอาศัยแบรนด์เดิม ในประเทศไทยพบปัญหาในหลายกรณี โดยผศ.ดร.สมชาย เล่าว่ามีทั้งกรณีที่ร้านหมดสัญญาแฟรนไชส์แต่ไม่ยอมปลดป้ายร้าน และ ขายสินค้าแบบเดิม รวมไปถึงกรณีแม้ปลดป้ายร้าน แต่ยังใช้การตกแต่ง ในโทนสีเดิม ตั้งอยู่ทำเลเดิม และ ขายอาหารในรูปแบบเดิมก็มี ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด และ สับสนเป็นอย่างมาก เพราะเข้าไปใช้บริการด้วยความคุ้นเคย 


ส่วนกรณีของ Subway แน่นอนว่าด้วยความเป็นแบรนด์ใหญ่ กรณีที่ร้านค้า “ไม่มีลิขสิทธิ์” ยังคงจำหน่ายอยู่ในทำเลเดิม ภายใต้ชื่อแบรนด์เดิมกว่า 100 ร้านค้า ย่อมทำให้เกิดความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่งผลต่อชื่อเสียง และความเชื่อมั่นของแบรนด์ แต่ในขณะเดียวกันแบรนด์เองก็ต้องเร่งดำเนินการกับร้านค้า “ไม่มีลิขสิทธิ์” เพราะการที่ไม่สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงยังปล่อยให้มีการขายสินค้าตามปกติ ย่อมทำให้เกิดความสับสน และ ความเข้าใจผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  



Exclusive Content By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง