รีเซต

นาซาขยายเวลาภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ไปจนถึงปี 2030

นาซาขยายเวลาภารกิจสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ไปจนถึงปี 2030
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2565 ( 00:57 )
166

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์เกี่ยวกับแผนการขยายระยะเวลาภารกิจของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ไปจนถึงปี 2030 หลังจากสถานีอวกาศแห่งนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 1998 ตลอดระยะเวลากว่า 23 ปี โมดูลต่าง ๆ ของสถานีอวกาศถูกใช้งานเพื่อการศึกษาวิจัยในด้านต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยหลายอย่างถูกประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์กับวงการวิทยาศาสตร์บนโลก รวมไปถึงการทดสอบใช้ชีวิตบนอวกาศเป็นระยะเวลานานของนักบินอวกาศที่มีความสำคัญกับการสำรวจอวกาศระยะยาว


สถานีอวกาศนานาชาติ ISS หนึ่งในโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างโดยมนุษย์บนอวกาศมีขนาดความกว้าง 108.5 เมตร ความยาว 73 เมตร แบ่งออกเป็นโมดูลการทำงานต่าง ๆ เชื่อมต่อเข้าหากัน การก่อสร้างสถานีอวกาศเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านอวกาศหลายประเทศนำโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) องค์การอวกาศแคนาดา (CSA) องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยใช้ยานอวกาศของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียทำหน้าที่ขนส่งมนุษย์อวกาศ ขึ้นสู่สถานีอวกาศ ส่วนการขนส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศในบางภารกิจใช้ยานอวกาศของประเทศญี่ปุ่น


การประกาศในครั้งนี้ของนาซาเกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศครั้งใหม่ องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) เตรียมถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในปี 2025 เพื่อเดินหน้าพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่ของตัวเอง ในขณะเดียวกันองค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNSA) ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS มาตั้งแต่เริ่มแรกได้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tienhe) ระหว่างปี 2021-2022


แม้ว่าสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและประสบปัญหาการซ่อมแซมปรับปรุงบ่อยครั้ง นาซายังคงมั่นใจในประสิทธิภาพของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในการทำภารกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป รวมไปถึงรองรับภารกิจการส่งมนุษย์อวกาศกลับไปสำรวจดวงจันทร์ สถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ Lunar Gateway อาจรวมไปถึงภารกิจการส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต


นอกจากนี้นาซายังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอวกาศในประเทศต่าง ๆ สำหรับแผนการที่เกี่ยวข้องกับโครงการสถานีอวกาศของนาซานอกจากสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ Lunar Gateway นาซากำลังร่วมมือกับบริษัทเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกา 3 แห่ง ประกอบด้วยบริษัท Blue Origin, Nanoracks และ Northrop Grumman เพื่อพัฒนาสถานีอวกาศที่บริหารจัดการโดยบริษัทเอกชนโคจรรอบโลกในช่วงปี 2030


ข้อมูลจาก engadget.com, hypebeast.com 

ภาพจาก blogs.nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง