รีเซต

ความสำคัญของ "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"

ความสำคัญของ "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"
TrueID
29 กันยายน 2564 ( 10:16 )
297
ความสำคัญของ "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"

กระแสการซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจสำหรับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ให้ผลการตอบแทนที่สูงในเวลาอันรวดเร็ว Bitcoin ก็เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวกลางหรือธนาคารเพื่อบันทึกธุรกรรม ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส จึงมีการควบคุมจากหน่วยงานของรัฐ วันนี้ trueID ได้นำบทความของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในเรื่องความสำคัญของกฏหมายสินทรัพย์ดิจิทัลทุกคนได้รับทราบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

 

การแบ่งประเภทของ สินทรัพย์ดิจิทัล

 

สินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้พระราชกำหนดกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล

 

1.คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เช่น Bitcoin, Ethereum, Litecoin ฯลฯ

 

2.โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token)  ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) การระดมทุนแบบ ICO คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยบริษัทจะเสนอ และกำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือ บริการที่เฉพาะเจาะจงและกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการนำคริปโทเคอร์เรนซี มาแลกโทเคนที่บริษัทออกให้ โดยมีการกำหนด และบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน

 

 

การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

 

​ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ทั้งนี้มิให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิคตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้

 

  • ​ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) หมายถึง ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบหรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ทั้งนี้ไม่รวมศูนย์กลางหรือเครือข่ายในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ปัจจุบัน ผ่านมา 3 ปีนับตั้งแต่มีกฎหมายบังคับใช้ ประเทศไทยมี 7 บริษัทที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่  (1) BITKUB (2) SatangPro (3) Huobi (4)ERX (5) Zipmex ส่วนรายที่ 6 และ 7 เพิ่งได้ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังคือ Upbit และ Z.comEX

  • นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หมายถึง บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่นโดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด​​

  • ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) หมายถึง บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่รวมถึงการให้บริการในลักษณะตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

  • ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service) หมายถึง บุคคลซึ่งให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ เป็นทางค้าปกติ ทั้งนี้ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำอันเป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบการของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

  • ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager) หมายถึง บุคคลซึ่งเข้าจัดการเงินทุน หรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะรับจัดการเงินทุนให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ไม่รวมถึงการจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

 

การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่แก่ประชาชน หรือโทเคนดิจิทัลที่ผู้เสนอขายได้ออกไว้แล้วและต้องการเสนอขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชน จะกระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือมหาชนจำกัด และต้องได้รับอนุญาตจากสำนักกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อสำนักกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย



การเสนอขายโทเคนดิจิทัลได้รับอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว จะทำได้เมื่อมีแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยต้องเสนอขายต่อผู้ลงทุนตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ ซึ่งทําหน้าที่กลั่นกรองลักษณะของโทเคนดิจิทัลที่จะเสนอขายคุณสมบัติของผู้ออก และความครบถ้วนถูกต้องของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือข้อมูลอื่นใดที่เปิดเผยผ่านผู้ให้บริการดังกล่าว​​​


 

ภายหลังการเสนอขาย ให้ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่นรายละเอียดแผนธุรกิจ สิทธิ์ในโทเคนเพื่อการลงทุน  ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจ ต่อสำนักกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนและผู้ลงทุนต่อไป

 

สรุปหลักเกณฑ์​

คุณสมบัติและหน้าที่

 

 

 

การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย

 

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล นี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะรับคริปโทเคอร์เรนซีจากลูกค้าในการทำธุรกรรม ให้รับเฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้จากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ตามพระราชกำหนดนี้เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฟอกเงินหรือใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางไม่สุจริต ซึ่งการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในพระราชกำหนดนี้ มีบทกำหนดโทษทางอาญา

 

โดยฐานความผิดและอัตราโทษเทียบเคียงได้กับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเสนอขายโดยไม่ได้รับอนุญาต การประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม ความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความรับผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ทั้งนี้ ยังได้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

 

สินทรัพย์ดิจิทัลเสียภาษีอย่างไร

 

สำหรับการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนประเภทนี้ ประเทศไทยได้ออกกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีของนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 โดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมายภาษีดังกล่าวก็คือ 


กำหนดให้ทรัพย์สินดิจิทัลที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin)  และโทเคนดิจิทัล ที่มีการซื้อขายในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดประเภทเงินได้ดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นมาโดยจัดเอาไว้ในกลุ่มเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ข้อ 4 (ซ) และ (ฌ) ในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ) ซึ่งตัวอย่างเงินได้ประเภทที่ 4 นี้จะอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ยเงินปันผล
 

โดยกฎหมายได้กําหนดให้เพิ่มประเภทของเงินได้ (ซ) และ (ฌ) ของ (4) ในมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ “(ซ) เงินส่วนแบ่งของกําไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน” และเพิ่มเรื่องการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเงินได้ดังกล่าวไว้ใน (ฉ) ของ (2) ในมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
 

“(ฉ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ให้คํานวณหักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้”
 

จากสาระสำคัญของกฎหมายภาษีข้างต้น สามารถอธิบายแนวทางการเสียภาษีโดยสรุปดังนี้
 

1.กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครอง มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง
 

2.กรณีมีกำไรจากการขาย (Capital Gain) เช่น หากมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วมีกำไรจากการขาย กล่าวอย่างง่ายคือ ราคาขายมากกว่าราคาต้นทุนที่ได้มา ทางผู้ขายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน และแม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% นั้น แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย
 

แม้เงินได้นี้จะถูกจัดประเภทไว้ในเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งเป็นหมวดหมู่ของกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ย เงินปันผลในหุ้น โดยปกติเงินได้กลุ่มนี้หากเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณเงินได้ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้  แต่สำหรับเงินได้จากทรัพย์สินดิจิทัลยังคงต้องนำเงินได้มายื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย

 

 

ภาพโดย VIN JD จาก Pixabay 

ข้อมูล : SCB , กลต.

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง