รีเซต

Passive กับ Active ลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน

Passive กับ Active ลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน
TrueID
16 กรกฎาคม 2564 ( 09:37 )
571

สงสัยกันมั้ยว่า แนวคิดทั้งสอบแบบแตกต่างกันอย่างไร ? ความแตกต่าง Passive Income และ Active Income แตกต่างกันตั้งแต่แนวคิดในการหารายได้ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ต่างมีข้อดี-ข้อด้อยในตัวมันเอง มาหาคำตอบไปด้วยกันว่า Passive Income และ Active Income ต่างกันอย่างไร ? วันนี้ trueID รวบรวมข้อมูลความแตกต่างมาให้แล้ว

 

 

Active Income คืออะไร?

 

Active Income คือรายได้จากการที่เราทำงาน เพื่อให้เกิดรายได้ ซึ่งรายได้นั้น นับรวมถึงเงินเดือน ค่าคอมมิสชัน เงินฟรีแลนซ์ ต่าง ๆ หรือที่เราเรียกตามที่เข้าใจคือการทำงานแลกเงินนั่นเอง

 

 

Active Income มีข้อจำกัด ทางด้านทรัพยากรในเรื่องของเวลา และร่างกายเป็นหลัก เพราะเวลามีจำกัด และการจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นได้นั่นคือการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ให้รายได้ของเราเพิ่มขึ้น เช่น นาย A จากที่เมื่อก่อนเราเคยทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้ค่าจ้างรายเดือน 15,000 บาท แต่ตอนนี้ในชั่วโมงทำงานเท่าเดิม นาย A อาจจะทำรายได้มากขึ้นเป็นสองเท่า คือ 30,000 บาท หมายถึงว่านาย A สามารถเพิ่มรายได้ Active Income เพิ่มเป็น 2 เท่าในเวลาทำงานเท่าเดิม

 

 

แต่ในยุคที่มีความไม่แน่นอนในหลากหลายรูปแบบ การทำรายได้จากช่องทางเดียวจึงไม่ใช่คำตอบเดียวเสมอไป การเพิ่มรายได้ Active Income มากกว่า 1 ช่องทาง เช่นการทำรายได้จากงานประจำอยู่แล้ว ยังต้องมองหารายได้จากฟรีแลนซ์ เป็นรายได้สำรองอีกด้วย หรือการเริ่มทำรายได้เพิ่มเติมจากขายของออนไลน์

 

 

โดยเมื่อเราทำงานอย่างหักโหมเพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น สุขภาพร่างกายก็จะทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายได้ที่หามาได้ก็นำไปรักษาสุขภาพจนหมด

 

 

ดังนั้นเมื่อเรามี Active Income ในระดับหนึ่งแล้ว การลงทุนจึงเป็นตัวเลือกที่ดี เพื่อสร้าง Passive Income ที่ควบคู่กันไป ทำให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน และสมดุลกันนั่นเอง

 

 

Passive Income คืออะไร?

 

Passive Income คือ รายได้ที่เกิดจากการให้เงิน หรือทรัพย์สินทำงานแทนเรา สร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้น โดยอาจใช้เวลาแต่ไม่มากเท่ากับแบบ Active Income ที่เห็นได้ชัดคือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แล้วปล่อยเช่า หรือการลงทุนในหุ้น ลิขสิทธิ์ทางปัญญา รวมไปถึงการลงทุนในประเภทอื่นๆ

 

ทุกคนจึงควรมีรายได้แบบ Passive Income เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้ตามต้องการ เพราะ Passive Income จะทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยมากนั่นเอง แต่การที่จะได้ Passive Income ในช่วงแรกต้องมีความอดทนพอสมควร

 

 

ความแตกต่าง Passive Income และ Active Income ต่างกันแค่ไหน

 

  • Active Income เราจำเป็นต้องทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ส่วน Passive Income ใช้ทรัพย์สินทำงานแทนเรา เพื่อให้เกิดรายได้
  • Active Income มีเวลาจำกัด คือตราบเท่าที่เราทำงานได้ แต่ Passive Income นั้น ถึงเราจะทำงานไม่ได้แล้ว แต่เราก็ยังมีรายได้อยู่
  • Active Income คือการทำงานแล้วเราได้รับผลตอบแทนเกือบจะทันที เช่นได้รับเป็นค่าจ้าง แต่ถ้าเป็น Passive Income ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดรายได้

 

โดยสรุปแล้ว หลักการทำงานแบบ Passive Income คือการที่เงินทำงานเพื่อคุณ ส่วน Active Income คือการที่คุณทำงานเพื่อเงินนั่นเอง ดังนั้นการมีรายได้ทางเดียวอาจไม่มั่นคงสักเท่าไรนัก จึงควรมีรายได้ทั้งสองทางจะดีกว่า

 

 

Passive vs. Active ลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน

 

ขอพูดถึงกรณีของกองทุนรวมที่ ลงทุนในหุ้น เป็นหลักก่อน เพราะจะเห็นความแตกต่างของกองทุนแบบ Active (Active Fund) และแบบ Passive (Passive Fund) กันค่อนข้างชัดเจน

 

มาเริ่มที่ Active Fund กันก่อนเลย ตามชื่อกองทุนก็จะมีการบริการแบบ Active คือ ผู้บริหารกองทุนต้องพยายามเอาชนะ มาตรฐาน (Benchmark) ที่ตั้งไว้ เช่น Set 100 , Set 50 เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือเล่นหุ้นยังไงก็ได้ ให้ได้ผลตอบแทน “ชนะ” ดัชนีพวกนี้แหละ ยิ่งทำผลตอบแทนได้มากกว่าตลาดเท่าไหร่ ยิ่งเป็นกองทุน Active ที่ดีเท่านั้น

 

Active Fund

กองทุนรวม Active Fund เป็นการบริหารแบบเชิงรุก โดยใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนเป็นหลักในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน โดยเป้าหมายคือต้องการให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด (benchmark) อาทิ ลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนมากกว่า SET Index โดยสามารถแบ่งการวิเคราะห์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้ใน 2 รูปแบบ คือ

 

  1. การวิเคราะห์แบบ Top-Down Analysis ผ่านการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค อุตสาหกรรม และจึงมาดูพื้นฐานของสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุนว่าในภาวะนี้จะเหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่
  2. การวิเคราะห์แบบ Bottom-Up Analysis จะเริ่มพิจารณาจากสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนก่อนว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือไม่ แล้วค่อยดูว่าสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมนั้นดีหรือไม่ และสุดท้ายจึงดูว่าเป็นเวลาเหมาะทางเศรษฐกิจที่จะลงทุนหรือยัง ก็จะตรงข้ามกับวิธี Top-Down

 

ส่วนข้อดี ข้อเสีย ของกองทุนรวมแบบ Active ก็จะตรงกันข้ามกับแบบ Passive นั่นเอง

 

แล้วกองทุนรวมแบบ Active เหมาะกับใคร?

  •  คำตอบก็จะเหมาะกับนักลงทุนที่คิดว่าจะมีผู้จัดการกองทุนเก่งๆ ที่จะบริหารกองทุนรวมให้ได้ผลตอบแทนที่ดี และชนะตลาดได้ในระยะยาวด้วย แม้ว่ากองทุนรวมแบบ Active จะเก็บค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า แต่นักลงทุนก็ยินดีที่จะจ่าย เพราะเชื่อในฝีมือของผู้จัดการกองทุนนั่นเอง ดังนั้นเราจึงต้องเลือกให้ถูกกองด้วย เพราะอย่าลืมว่ากองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่แพ้ตลาด

 

Passive Fund

กองทุนเป็น Passive Fund อันนี้เข้าใจง่ายมาก ผู้บริหารกองทุนไม่ต้องทำอะไรมาก  แค่ลงทุนตาม Benchmark เลย งานง่าย ๆ ส่วนใหญ่จะใช้แค่โปรแกรมหรือ Robot คอยปรับพอร์ต กองทุน Passive ที่ดีต้องเป็นกองทุนที่ผลตอบแทนเหมือนตลาดให้มากที่สุดหรือมาตรฐาน (Benchmark) ของกองทุนนั้น ๆ

 

กองทุนรวมแบบ Passive Fund หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองทุนรวมดัชนี หรือ Index Fund คือ กองทุนรวมหุ้นที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ “ใกล้เคียงกับดัชนีให้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้” เช่น วันนี้ SET Index +5%  กองทุนรวมดัชนีก็ต้อง +5%  หรือ +4.9%  หรือ +5.1%  โดยประมาณ (ขอให้ได้ใกล้เคียงที่สุด) เป็นต้น

 


กองทุนรวมดัชนี ส่วนใหญ่จะแบ่งตามดัชนี หรือ Benchmark ที่กองทุนนั้นๆ ลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียง  เช่น  SET, SET100, SET50 และ SETHD เป็นต้น นักลงทุนสามารถสังเกตได้จากชื่อกองทุน โดยชื่อกองทุนจะบอกได้ว่ากองทุนนั้นใช้ดัชนีอ้างอิงเป็นดัชนีใด เช่น กองทุน Passive Fund ที่ใช้ดัชนี SET50 เป็นดัชนีอ้างอิง จะมีคำว่า SET50 อยู่ในชื่อกองทุนนั้นด้วย นอกจากนี้แนวทางการลงทุนจะถูกแจ้งอยู่ในหนังสือชี้ชวนด้วยเช่นกัน

 


ถึงตรงนี้หลายคนคงจะสงสัยว่า แล้วกองทุนรวมดัชนีที่ไม่พยามเอาชนะตลาด มันมีดีที่ตรงไหน?

 


คำตอบก็คือ ถ้าเราเชื่อว่า “ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ” และ “ราคาหุ้นทุกตัวในตลาด เป็นราคาที่สมเหตุสมผล” การลงทุนในกองทุนรวมดัชนีก็จะตอบโจทย์ เพราะถ้าเราเชื่อว่าราคาหุ้นที่เห็นนั้นเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้วล่ะก็ ก็เปล่าประโยชน์ที่จะพยายามเอาชนะตลาด

 


ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมดัชนี จึงเป็นการลงทุนโดยซื้อหุ้นทั้งตลาดตามดัชนี โดยกองทุนรวมดัชนี จะไม่พยายามทำตัวเหมือนว่า เลือกหุ้นที่ “ดีที่สุด”  หรือ หลีกเลี่ยงหุ้นที่ “แย่ที่สุด” แต่จะลงทุนไปตามตลาด ทีนี้เราลองมาดู ข้อดี ข้อเสีย ของกองทุนรวมดัชนีกันบ้าง

 

ข้อดี

  • กองทุนรวมดัชนี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุดในบรรดากองทุนรวมหุ้น หรือ ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็จะเสี่ยงในระดับเดียวกับดัชนี (เพราะกองทุนรวมจะลงทุนตามดัชนีที่ใช้อ้างอิงและลงทุนในสัดส่วนเดียวกันด้วย)
  • กองทุนรวมดัชนี มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่ากองทุนรวมแบบ Active
  • ด้วยความที่กองทุนรวมดัชนี ไม่จำเป็นต้องใช้ ผู้จัดการกองทุน ในการคัดเลือกหุ้น ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องของการคัดเลือกหุ้นให้ถูกตัว หรือเลือกหุ้นผิดตัวจึงต่ำกว่า
  • กองทุนรวมดัชนี เมื่อมีการลงทุนเลียนแบบดัชนี จึงทำให้กองทุนรวมดัชนี สามารถถือหุ้นได้ยาวกว่า ดังนั้นถ้าใครอยากถือหุ้นยาวๆ หรือ ลงทุนระยะยาว กองทุนรวมดัชนีน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะกองทุนรวมดัชนี จะมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตน้อยมาก คือ ปรับเปลี่ยนพอร์ตตามดัชนี ทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น


ข้อเสีย

  • กองทุนรวมดัชนี จำเป็นจะต้องลงทุนในหุ้นตลอดเวลา ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ในภาวะตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น กองทุนรวมดัชนีจะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นตลาดขาลง กองทุนรวมดัชนีก็จำเป็นจะต้องถือหุ้นตลอดเวลาด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผลตอบแทนลดลงตามดัชนี 
  • นอกจากนี้เมื่อเป็นตลาดขาลง กองทุนรวมดัชนี ไม่สามารถลดทอน หรือขายหุ้นออกจากพอร์ตได้หมด แล้วถือเป็นเงินสด ซึ่งกองทุนรวมแบบ Active จะได้เปรียบตรงจุดนี้ เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตได้ตามภาวะของตลาด
  • กองทุนรวมดัชนี มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี” เท่านั้นฉะนั้นนักลงทุนจึงไม่สามารถคาดหวังถึงการเอาชนะตลาดได้

 


 แล้วกองทุนรวมดัชนี เหมาะสำหรับใคร?  กองทุนรวมดัชนีเหมาะกับ

  • นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว
  • นักลงทุนที่ต้องการได้รับอัตราผลตอบแทน และรับความเสี่ยงได้ในระดับเดียวกับดัชน
  • ผู้ที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาในการวิเคราะห์ หรือคัดเลือกหุ้นรายตัว หรือไม่ไว้ใจฝีมือในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุน เพราะในความเป็นจริง กองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่แพ้ตลาด

 

ขอแนะนำว่า ซื้อมันทั้ง 2 แบบ “การกระจายการลงทุน”  เป็นสิ่งที่ควรทำอันดับแรก ๆ และกองทุนทั้งสองแบบก็ถือว่าน่าสะสมเก็บไว้ไม่ใช่เล่น ในระยะยาวเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังไปอีกไกล การเก็บสะสมไว้ในระยะยาวน่าจะสบาย แต่กองทุนแบบ Active ต้องอาศัยผู้จัดการกองทุน ซึ่งในระยะยาวไม่มีใครบอกได้ว่า จะทำได้ดีตลอดหรือเปล่า ?

 

สุดท้ายแล้ว กองทุนทั้ง 2 ประเภทต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน นักลงทุนจึงต้องเลือกลงทุนโดยพิจารณาจากเป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง และอย่าลืมอ่านหนังสือชี้ชวนให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ข้อมูล : cissa , SCB , moneybuffalo

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง