รีเซต

ทำความรู้จักกับ หุ้น IPO ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้

ทำความรู้จักกับ หุ้น IPO ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้
TrueID
25 มกราคม 2564 ( 13:18 )
2.5K
1

ชั่วโมงนี้คงไม่มีหุ้นตัวไหนที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงไปกว่า หุ้นโออาร์ OR (PTTOR) หุ้นลูกของ ปตท. ได้มีการเปิดจองซื้อหุ้นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น OR ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้น IPO ที่ทำการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก และได้มีการจัดสรรหุ้นบางส่วนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ในการจองซื้อผ่านทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย ซึ่งจากการเข้าใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากในรายการดังกล่าวส่งผลให้ระบบธนาคารติดขัดชั่วคราว วันนี้ trueID news จะพาไปทำความรู้จักกับหุ้น IPO ว่าทำไมจึงทำให้เกิดการลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

 

หุ้น IPO คืออะไร

หุ้น IPO คือ หุ้นที่ได้เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก จริงๆย่อมาจาก Initial Public Offering มักจะเป็นที่จับตาต้องใจของนักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก่า ยิ่งช่วงตลาดหุ้นขาขึ้น บริษัทจะนำหุ้นมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น

การที่บริษัทจะออกขายหุ้น IPO หรือไม่นั้น อยู่ที่ว่า บริษัทกำลังมองหาแหล่งเงินทุนที่นอกเหนือจากแหล่งจากสถาบันการเงิน ที่บางทีมีต้นทุนที่สูงกว่าระดมเงินทุนจากประชาชน เพื่อนำเงินทุนเหล่านี้มาขยายกิจการหรือใช้ด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 

 

ข้อดีของหุ้น IPO

  • ผู้ลงทุนเกิดวามมั่นใจจากการดำเนินงานอยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์
         
  • ผู้ลงทุนจะได้รับการจัดสรรผลประโยชน์จากบริษัทอย่างเป็นธรรม
         
  • เมื่อสภาพเศรษฐกิจอยู่ในช่วงน่าลงทุนหรือเงื่อนไขด้านการตลาดอยู่ในขาขึ้นเป็นการลงทุนที่มีโอกาสในการทำกำไรสูงภายในช่วงเวลาสั้นๆ
         
  • หากคุณเป็นนักลงทุนที่เก็งกำไรระยะยาว IPO เหมาะสมกับคุณ
         ไม่ได้ใช้กลยุทธ์หรือเทคนิคเฉพาะมากนัก วิเคราะห์ง่าย แต่ควรศีกษาโปรไฟล์ของบริษัทให้ดี

 

ข้อเสียของหุ้น IPO

  • บริษัทจะต้องยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาจดทะเบียน เช่น ข้อมูลทางการเงิน งบกำไรขาดทุน ตลอดทั้งภาษีของบริษัท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องแสดงต่อสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งของบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้
         
  • การเสนอขายหุ้นด้วยวิธี IPO จะนำมาสู่การสร้างต้นทุนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องการปรับระบบการควบคุมภายในให้ดี , งบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานบัญชี, ค่าใช้จ่ายสำหรับที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ, การสรรหาวาณิชธนกิจ (investment banking) เพื่อการรับคำแนะนำที่ถูกต้องอันมีส่วนโดยตรงในการลดอุปสรรคของกระบวนการ IPO เป็นต้น
         
  • เจ้าของบริษัทอาจจะไม่ได้ถือหุ้นในปริมาณที่มากเหมือนเช่นเดิม อาจเป็นเพราะปัจจัยของราคาหุ้นจากเหตุที่ไม่สามารถขายหุ้นได้เป็นเวลาหลายปี
         
  • ผู้เป็นเจ้าของบริษัทอาจสูญเสียอำนาจการควบคุมในฐานะเจ้าของบริษัท นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดฯ กลุ่มงานบริหารจะมีอำนาจสามารถปลดเจ้าของบริษัทออกได้
         
  • การบริหารงานของบริษัทจะไปอยู่ที่ คณะกรรมการบริหาร ซึ่งอาจจะแตกต่างจากกลุ่มผู้บริหารชุดเดิม

 

การซื้อหุ้น IPO มีวิธี 2 แบบได้แก่

 

การจ้องหุ้น IPO เป็นที่ทราบกันดีในวงการเทรดดิ้งว่าจะมีผู้ลงทุนจำนวนไม่กี่รายเท่านั้นที่มีโอกาสจะได้หุ้นที่จองเอาไว้ ผนวกกับบางบริษัทที่กำลังจะระดมทุนด้วยวิธี IPO ต้องผ่านขั้นตอนการเตรียมตัวและการประเมินที่รัดกุม โดยแนวทางการจองหุ้น IPO แบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้


วิธีที่ 1 ผู้ลงทุนจองซื้อหุ้น IPO ก่อนเข้าสู่ตลาด (Primary Market)

ในการซื้อขายหุ้นส่วนนี้จะเริ่มจากบริษัทมีการเสนอขายหุ้นเพื่อการระดมเงินทุน ซึ่งดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดของ ก.ล.ต. โดยประกาศผ่านทางเว็บไซต์ SET หรือ เว็บไซต์ของบริษัท รวมถึงผ่านโบรกเกอร์ต่างๆ โดยผู้ที่มีความสนใจอยากลงทุนซื้อหุ้นดังกล่าวก็สามารถจองซื้อหุ้นภายในระยะเวลาการซื้อขายที่ได้กำหนดเอาไว้ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ราคาการซื้อขายที่ถูกกำหนดเอาไว้ส่วนใหญ่จะค่อนข้างต่ำและต่ำกว่าราคาหุ้นตัวเดียวกันเมื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว การเก็งกำไรของนักลงทุนในลักษณะนี้จึงมักได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างพึงพอใจ

 

วิธีที่ 2 การซื้อหุ้น IPO หลังเข้าสู่ตลาด (Secondary Market)

ตลาดการซื้อขายหุ้น IPO ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากสงสัยว่าหุ้น IPO ที่ปล่อยให้ซื้อในตลาดหลักทรัพย์มาจากไหนกันล่ะ? คำตอบก็คืออาจจะมาจาก ผู้ลงทุนในครั้งแรก (IPO Investors) ที่นำหุ้นของตนเองที่มีต่อบริษัทมาขายในตลาดหลักทรัพย์นี้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเพียงเท่านั้น โดยนักลงทุนที่เคยพลาดโอกาสในการซื้อครั้งแรกสามารถใช้ช่องทางนี้ในการซื้อหุ้น IPO  อย่างไรก็ตามความผันผวนของราคาหุ้นในช่วงแรกค่อนข้างเห็นได้อย่างชัดเจน และบางครั้งราคาหุ้นในตลาดอาจสูงกว่าตอนจองหลายเท่าตัว ดังนั้นถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่อาจลงทุนในหุ้น IPO จะต้องศึกษา ทำความเข้าใจในบริบทของบริษัทเป็นอย่างสำคัญ

 

วิธีป้องกันการสูญเสียจากการซื้อหุ้น IPO ทำได้อย่างไรบ้าง ?

ดูวัตถุประสงค์ในการออก IPO

วัตถุประสงค์ในการระดมทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ สะท้อนถึงบริษัทมีโอกาสเติบโตหรือความเสี่ยง เช่น ระดมทุนเพื่อไปขยายกิจการ เพื่อไปลงทุนโครงการใหม่ ๆ หากระดมทุนเพื่อไปจ่ายชำระหนี้ หรือเพื่อไปใช้เงินทุนหมุนเวียนบริษัท เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังไว้ก่อน

วิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจ ผลประกอบการ และแนวโน้มเติบโตในอนาคต

ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องคิดให้ดีก่อน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ต้องเข้าใจบริษัทที่ออก IPO ว่าประกอบธุรกิจอะไรอยู่ ทำธุรกิจที่ดีมีอนาคตอยุ่หรือไม่ หรือว่ากำลังอยู่ในธุรกิจที่ตะวันตกดิน มีแนวโน้มความเสี่ยงจะปิดกิจการมากน้อยเพียงใด มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่เท่าไหร่ มีคู่แข่งขันกันในตลาดสูงมั้ย มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้นสิ่งที่ควรต้องดูเพิ่มเติมให้ดีๆเลย ก็คือ ผลประกอบการของบริษัท อย่างน้อย 3-5 ปีย้อนหลัง ก่อนที่บริษัทจะเข้าตลาดหุ้นว่ามีแนวโน้มอย่างไร รายได้ กำไร สินทรัพย์ ว่ายังเติบโตดีอยู่มั้ย ส่วนความเสี่ยง หนี้ หรือหนี้สินต่อทุน ลดน้อยลงมั้ย และรวมถึงความสามารถของผู้บริหาร รวมถึงคุณธรรมจริยธรรมของทีมกรรมการบริหารด้วย แล้ววิเคราะห์ว่ามีปัจจัยหลักๆใดอีกบ้างที่จะส่งผลต่อบริษัทได้

ประเมินมูลค่าหุ้น IPO ว่าเหมาะสมหรือไม่

การซื้อหุ้นทุกครั้ง ไม่ใช่แค่หุ้น IPO เท่านั้นนะ สิ่งสำคัญคือ นักลงทุนควรประเมินมูลค่าหุ้นก่อนทุกครั้ง ควรหาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง บางคนอาจจะใช้มูลค่าการประเมินจากบทวิเคราะห์ต่างๆ ก็ได้ หรือถ้าอยากลองคิดเองเอาแบบไม่ยาก ลองเปรียบเทียบมูลค่าความถูกแพงของหุ้นกับอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือหุ้นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วยก็ได้ ซึ่งหุ้น IPO เหล่านี้มักจะเป็นหุ้นที่เพิ่งเข้ามาในตลาดได้ไม่นาน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงจะหาได้ยากกว่าหุ้นปกติทั่วไปที่อยู่ในตลาดหุ้นมาแล้วในระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องทำการบ้านเพิ่มเติมให้ดีๆก่อน หรือลองสอบถามไปยังโบรคเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่ก็ได้เช่นกัน ใช้โบรคเกอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

 

++++++++++

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง