รีเซต

มั่นใจได้! ซิโนแวค & แอสตราเซเนกา ประสิทธิภาพพร้อมฉีด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

มั่นใจได้! ซิโนแวค & แอสตราเซเนกา ประสิทธิภาพพร้อมฉีด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
Ingonn
17 พฤษภาคม 2564 ( 12:44 )
1.9K
มั่นใจได้! ซิโนแวค & แอสตราเซเนกา ประสิทธิภาพพร้อมฉีด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

วัคซีนโควิด-19 เป็นอาวุธชนิดเดียวที่ทำลายไวรัสโควิดได้ ณ ตอนนี้ ซึ่งในประเทศไทยได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนของซิโนแวค และวัคซีนของแอสตราเซเนกา จากผลการวิจัย พบว่าทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก พร้อมขอแนะนำคนไทยให้เริ่มฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประเทศ

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมผลวิจัยประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 จากทั้งสองวัคซีนมาสร้างความมั่นใจให้ทุกคนลดความกังวลจากการฉีดวัคซีน

 

 

 

ผลการวิจัยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด-19


ศ.ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโรคโควิด-19 ทั้งสองชนิดที่ฉีดในคนไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "ทั้งวัคซีนของซิโนแวค และวัคซีนของแอสตราเซเนกา สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราซิเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวกสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้"

 

 


กลุ่มการทดลอง


ในการศึกษานี้ ได้ทำการตรวจวัดระดับแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ด้วยวิธี Roche Elecsys Electrochemiluminescence lmmunoassay (ECLIA) ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์ เป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่

 

1.กลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด โดยเจาะเลือดหลังจากนั้น 4-8 สัปดาห์ เพื่อดูว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติจะสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่


2.กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน


3.กลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา โดยเจาะเลือดก่อนฉีด และหลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 4 สัปดาห์


4.กลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค โดยเจาะเลือดก่อนฉีด, หลังฉีดเข็มที่หนึ่งแล้ว 3 สัปดาห์ และหลังฉีดเข็มที่สองแล้ว 4 สัปดาห์

 

 


เช็กประสิทธิภาพวัคซีนโควิดในไทย


ผลการตรวจวัดระดับแอนติบอดี และเปอร์เซ็นต์การตรวจพบแอนติบอดีในกลุ่มต่างๆ ซึ่งบ่งถึงการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นดังนี้

 

 

กรณีที่การติดเชื้อโดยธรรมชาติ


-กลุ่มผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)


-กลุ่มผู้เคยมีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบแอนติบอดี 92.40% (243 ใน 263 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 60.9 unit/ml

 

 

วัคซีนของแอสตราเซเนกา


-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)


-หลังฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 97.26% (71 ใน 73 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 47.5 unit/ml


-ยังไม่มีผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่สอง เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาฉีดเข็มที่สอง

 

 

 

 


เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มอายุและตามเพศของผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยละเอียดแล้ว พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก เป็นเวลา 4 สัปดาห์นั้น

 

-เพศชาย ตรวจพบแอนติบอดี 93.55% (29 ใน 31 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 32.9 unit/ml


-เพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี 100% (42 ใน 42 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 62.3 unit/ml


-กลุ่มอายุ 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 100% (44 ใน 44 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 67.2 unit/ml


-กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี 93.11 % (27 ใน 29 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 28.1 unit/ml

 

 

 

 

 

 


วัคซีนของซิโนแวค


-ก่อนฉีดวัคซีน 0% (ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อ)


-หลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 65.96% (124 ใน 188 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 1.9 unit/ml


-หลังฉีดเข็มที่สอง 4 สัปดาห์ ตรวจพบแอนติบอดี 99.49% (196 ใน 197 ราย) และมีปริมาณเฉลี่ย 85.9 unit/ml

 

 

 


ดังนั้น วัคซีนซิโนแวค สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก โดยเริ่มสร้างแอนติบอดีหลังฉีดเข็มแรก (ระดับยังต่ำ) และเพิ่มมากขึ้นหลังฉีดครบสองเข็ม ซึ่ง 99.49% ของผู้ที่ฉีดครบสองเข็มแล้วสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูงมาก

 

 

สรุป 


วัคซีนโควิด-19 ทั้งสองชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนเกือบทุกรายสามารถสร้างแอนติบอดีในระดับสูง โดย 97.26% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกแล้ว 4 สัปดาห์ และ 99.49% ของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถสร้างแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

 

 

 


รู้ไว้ไม่ต้องกลัว "แพ้วัคซีนโควิดรักษาได้"

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ระบุว่า ยังไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน แต่ทุกวันมีคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ประมาณ 1-2 ใน 100 คนทุกวัน จึงควรกลัวโรคมากกว่ากลัววัคซีน ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน คนที่เป็นแผลพบประมาณ 1 ใน 1 แสนคน ส่วนมีอาการชาข้างใดข้างหนึ่ง ก็เป็นปฏิกิริยา ที่บ่งบอกถึงร่างกายอาจจะยังไม่พร้อม มีอาการอ่อนเพลีย หรืออาการกลัว ก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน - 1 สัปดาห์ถึงหายเป็นปกติ จึงไม่ต้องตกใจทุกอย่างปลอดภัย ไม่มีใครเสียชีวิต พิการ หรืออันตรายเรื้อรังถาวร


 
เช่นเดียวกับ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ประกาศไว้ว่า สำหรับอาการชาบางส่วนของร่างกาย หรือมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อยทำให้รู้สึกใช้งานได้ไม่เป็นปกติ ที่พบในผู้ที่ใด้รับวัคซีนโควิดในขณะนี้ ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต) และตรวจไม่พบลิ่มเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถหายเองได้ อาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง เกิดขึ้นได้น้อยมากประมาณ 1-2 คนต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และอาการรุนแรงนั้นสามารถรักษาได้

 

 

คนไทยกับวัคซีนซิโนแวค

 

ทาง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยืนยันว่า วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 เนื่องจากมีการอนุมัติให้ใช้กว่า 45 ประเทศทั่วโลก ซึ่ง อย. ได้ประเมินและขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกด้านประสิทธิผลในการป้องกันโรคมากกว่า 50% สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 77.9% (ผลการศึกษา Phase 3 จากประเทศบราซิล) รวมทั้ง ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ในประเทศชิลี พบว่า ป้องกันโรคได้ 67%ป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาล 85% ป้องกันการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนัก 89% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 80% (ข้อมูลจาก Evidence Assessment ของวัคซีนซิโนแวค องค์การอนามัยโลก) 


 
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนของซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว เป็นเวลา 1 เดือน ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ พบว่า เกิดภูมิต้านทาน 99.4% ในขณะที่ 4-8 สัปดาห์ หลังติดเชื้อโดยธรรมชาติ ตรวจพบภูมิต้านทานได้ 92.4%


 
ล่าสุดจากประเทศอินโดนีเซีย หลังเจ้าหน้าที่ได้ติดตามอาการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 25,374 คนในกรุงจาการ์ตา หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวค โดสที่ 2 เป็นเวลา 28 วัน พบว่า สามารถป้องกันการเสียชีวิตในคนกลุ่มนี้ได้ 100% เต็ม และป้องกันการติดเชื้ออาการหนักได้ถึง 96% เร็วที่สุด 7 วันหลังฉีดวัคซีน และยังพบด้วยว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวค มีส่วนช่วยลดการติดเชื้อได้ถึง 94%
 

 


 
คนไทยกับวัคซีนแอสตราเซเนกา

 

บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ จากห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ของแอสตราเซเนกาแล้ว ตามมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่ผลิตจากเครือข่ายทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่า วัคซีนที่ผลิตจากทุกแหล่งการผลิตนั้นมีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล

 
นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” จะได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือน เม.ย. และ ก.ค. 2564 ยกเว้นในช่วงเดือน พ.ค. ที่ไม่มีวัคซีนแอสตราเซเนกา มีแต่วัคซีนของซิโนแวค ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนในแต่ละยี่ห้อขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์อีกด้วย 


 
ในสถานการณ์ที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก การฉีดวัคซีนจึงเปรียบเสมือนอาวุธสำคัญที่ทำให้เชื้อโควิด-19 ลดความรุนแรงลงได้ ซึ่งอาการแพ้ต่างๆสามารถรักษาหายได้ ตามระยะเวลา ประชาชนจึงอย่ากังวลในประสิทธิภาพของการฉีด แต่ต้องป้องกันตัวเองจากโรคเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดสู่ครอบครัว พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประเทศได้

 

 


อัปเดตวัคซีนโควิดที่ขึ้นทะเบียนแล้วในไทย

 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 3 รายการ ได้แก่ วัคซีนของแอสตราเซเนกา วัคซีนของซิโนแวค วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนโมเดิร์นนา ที่ขึ้นทะเบียนไปล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 


อัปเดตวัคซีนโควิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง


 
1. วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) ผ่านการอนุมัติวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

2. วัคซีนแอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) ผ่านการอนุมัติวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

 

3. วัคซีนโควิชิลด์ (Covishield) ซึ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในอินเดีย ผ่านการอนุมัติวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

 

4. วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ผ่านการอนุมัติวันที่ 12 มีนาคม 2564

 

5. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ผ่านการอนุมัติวันที่ 30 เมษายน 2564

 

6.วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ผ่านการอนุมัติวันที่ 8 พฤษภาคม 2564

 

 

 

ประมวลข้อมูลโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ข้อมูลประกอบอื่นจาก กรมควบคุมโรค , Hfocus , ศูนย์ข้อมูล COVID-19, สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง