เช็กตัวเอง! เรากลัวการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือเปล่า
เมื่อได้ยินข่าวสารการแพ้วัคซีนโควิด-19 อย่างหนาหู ทำให้บางครั้งความกลัวและความกังวลต่อการฉีดวัคซีนโควิดอาจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีความจำเป็นต้องฉีดและเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยรักษาโควิด-19 ได้ หากยิ่งฉีดมาก ภูมิคุ้มกันหมู่ยิ่งมาก ยิ่งลดอัตราการแพร่เชื้อในประเทศได้
วันนี้ TrueID จะพามาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการกังวลใจก่อนฉีดวัคซีน พร้อมสำรวจตัวเองไปด้วยกันว่าเรามีอาการแบบนี้หรือเปล่า และจะแก้ไขได้อย่างไร
รู้จักอาการกลัวการฉีดวัคซีน
สาเหตุเนื่องจากความกังวลหรือความกลัวต่อการฉีดวัคซีน (Injection reactions) เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการกลัวเข็ม กลัวเจ็บ มีความวิตกกังวลต่าง ๆ และคิดไปก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยอาการที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะ ดังนี้
1.Fainting เป็นลม (Vasovagal syndrome) พบบ่อยที่สุดในกลุ่มอาการกลัวการฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะพบในเด็กโตอายุมากกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ ต้องระวังอันตรายจากการล้ม
2.Hyperventilation สภาวะเครียด หรือกังวลใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน อาจนำไปสู่อาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกตัวเบา มึน งง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม รู้สึกคันรอบๆ ปากและปลายมือ ชาตามแขนขาปลายมือปลายเท้า ในเด็กที่อายุน้อยอาจจะมีอาการอื่นๆ เช่น อาเจียน กลั้นหายใจ หรือร้องไห้เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน
3.Breath-holding การกลั้นหายใจ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่รู้สึกตัว หรือมีอาการเกร็ง หรือกระตุกระยะสั้นๆ ได้ โดยปกติก็ควรแนะนำให้ญาติหรือผู้ปกครองกอดไว้แน่นๆ สักพักก่อน จนมีอาการดีขึ้น
4.Mass hysteria อาจเกิดได้ในการให้วัคซีนแบบรณรงค์หรือวัคซีนโรงเรียน ถ้ามีการเห็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับคนที่ได้รับวัคซีนก่อน เช่น เป็นลม ชัก ก็จะเกิดอาการและอาการแสดงนั้นพร้อมกันหลายคน
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น หลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยมีจาก 2 บริษัท ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีไม่ต่างกัน แต่สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลังจากฉีดได้ โดยแบ่งอย่างสรุปง่ายๆเป็น 2 กรณี คือ
1.อาการที่สามารถคาดเดาได้ ได้แก่ อาการปวด บวม แดงร้อน บริเวณที่ฉีด ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ บางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยมีอาการไข้สูง ต้องนอนพัก 2-3 วัน แต่ไม่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เมื่อมีอาการ สามารถกินยาลดไข้ได้ตามปกติ
2.อาการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ คือ อาการแพ้วัคซีน มีทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง อย่างอาการแพ้รุนแรง มักพบได้ภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เช่น มีไข้สูง หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีผื่น ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนอาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง พบได้น้อยมากประมาณ 1-2 คนต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และสามารถรักษาได้
อย่างน้อยควรสังเกตอาการหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 30 นาที ในสถานพยาบาลที่รับการฉีด ซึ่งหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ก็สามารถทำการฉีดยาแก้แพ้ และให้การรักษาได้ทันที รวมทั้ง ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน หากเกิดอาการหลังได้รับวัคซีนมากกว่า 30 นาที อาการมักไม่รุนแรง แต่จำเป็นต้องบันทึกความผิดปกติทุกอย่างที่พบ หลังจากการฉีดวัคซีนลงในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม
เตรียมใจให้พร้อม ลดความกังวลก่อนฉีดวัคซีนโควิด
การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ จะช่วยลดผลข้างเคียงอาการที่ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
1.ต้องมั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 มีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ และจำเป็นที่ต้องฉีดเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ไม่เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโรคนี้ได้
2.ต้องยอมรับว่าผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กน้อยหรือรุนแรง แต่อาการข้างเคียงเหล่านั้นสามารถหายได้
3.ต้องมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจสำคัญ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ป่วย ถ้าสภาพร่างกายไม่พร้อมอย่าเพิ่งฉีด
4.รับข่าวสารที่ถูกต้อง รอบด้าน อย่าไปเชื่อข่าวลือหรือเฟคนิวส์ที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 หากไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์
5.ขณะรอสังเกตอาการควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงดื่มน้ำชา-กาแฟ
6.ผ่อนคลายตัวเองด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูคลิปวิดีโอแนะนำความรู้เกี่ยวกับวัคซีน หายใจเข้า-ออกยาวๆ สัก 5 ครั้ง หากมีความเครียด ต้องปรึกษาแพทย์ ให้ร่างกายและจิตใจพร้อมเสียก่อน ค่อยฉีดวัคซีนโควิด
ขณะเดียวกันสถานที่ในการฉีดวัคซีนก็เป็นส่วนสำคัญ หากสถานที่มีอากาศร้อนอบอ้าว แออัด อากาศไม่ถ่ายเท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายได้ เช่น เป็นลม หน้ามืด
สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19
1.วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี
2.ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
3.รอดูอาการในบริเวณที่ฉีดก่อนกลับบ้านประมาณ 30 นาที
4.งดออกกำลังกายหนักสองวันก่อนและหลังฉีดวัคซีน
5.ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ทนไม่ไหว สามารถทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ครั้งละหนึ่งเม็ด ทานซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง
6.ห้ามรับประทานยา Brufen , Arcoxia ,Celebrex เด็ดขาด
ข้อมูลจาก สถาบันวัคซีนแห่งชาติ , กรมสุขภาพจิต , siriraj channel
ภาพจาก Freepik
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปทุกปัญหา “การฉีดวัคซีนโควิด-19” ปลอดภัยไหม? ใครต้องควรระวัง?
- #ฉีดวัคซีนกันเถอะ ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 ที่รักษาได้
- หมอพร้อม คนไทยพร้อม เจาะโมเดลลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19