รีเซต

#ฉีดวัคซีนกันเถอะ ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 ที่รักษาได้

#ฉีดวัคซีนกันเถอะ ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 ที่รักษาได้
Ingonn
12 พฤษภาคม 2564 ( 12:09 )
538
#ฉีดวัคซีนกันเถอะ ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 ที่รักษาได้

กระแสการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดอาการแพ้ แขนชา ขาชาตามร่างกาย หรือที่เคยเกิดอาการอัมพาตจากวัคซีนโควิด-19 ทำให้หลายๆคนเริ่มไม่แน่ใจความปลอดภัยจนไม่กล้ารับการฉีด ล่าสุดมีประกาศจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุถึงความกังวลการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนชาวไทย

 

 

 

พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ลงนามในประกาศสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เรื่อง วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชน โดยระบุข้อความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดและอาการทางระบบประสาทที่พบในขณะนี้

 

1. โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรง สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

2. การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตอย่างชัดเจน

 

3. การฉีดวัคซีนทุกชนิด ไม่เฉพาะแต่โควิดวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคชีนป้องกันคอตีบ ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ชาเป็นหย่อม ๆ สามารถหายเองได้ 

 

4. สำหรับอาการชาบางส่วนของร่างกาย หรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หรือมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อยทำให้รู้สึกใช้งานได้ไม่เป็นปกติ ที่พบในผู้ที่ใด้รับวัคซีนโควิดในขณะนี้ พบว่าไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต) และตรวจไม่พบลิ่มเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง อาการดังกล่าวหายเองได้

 

5. อาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง พบได้น้อยมากประมาณ 1-2 คนต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และสามารถรักษาได้

 

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจึงมีประโยชน์อย่างมากและคุ้มค่ามากกว่าการปล่อยให้มีการติดเชื้อโควิด ซึ่งติดได้ง่ายและมีอันตรายมาก ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกทำนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวท่านเองและป้องกันคนในครอบครัวอันเป็นที่รักของท่าน

 

 

 

มั่นใจวัคซีนโควิด-19 ที่เข้าไทยปลอดภัย

 

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแล้วในขณะนี้มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZenaca) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ สร้างความกังวลและความกลัวต่อประชาชน ทำให้ไม่กล้าฉีดวัคซีน นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ มีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ โดยวัคซีนจากทั้ง 2 บริษัท ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. ผ่านการตรวจสอบคุณภาพในห้องปฏิบัติการ และรับรองรุ่นการผลิตแล้วทุกรุ่น ซึ่งที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันชีววัตถุ ได้มีการรับรองวัคซีนโคโรนาแวค จำนวน 7 รุ่นการผลิต และวัคซีนแอสตราเซนเนกา จำนวน 1 รุ่นการผลิต

 

 

เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ล่าสุดกรมอนามัย ได้เพิ่มเติมข้อแนะนำในการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไว้ดังนี้

 

 

ตรวจสอบร่างกาย

 

- ไม่อดนอน หลับให้เพียงพอ

- เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชา-กาแฟ

- ต้องไม่มีอาการไข้ หรืออาการเจ็บป่วย

- สองวันก่อนฉีด และหลัง งดออกกำลังกายหนัก

 

 

แจ้งแพทย์ก่อนฉีด
 

- โรคประจำตัว

- ประวัติการแพ้ยา หรือวัคซีน

- การตั้งครรภ์

- ข้อมูลอื่นๆ ที่แพทย์ควรทราบ

 

 

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียม

 

- ก่อนออกจากบ้านอย่าลืมบัตรประชาชน

- วัน เวลานัดการฉีด

- รักษามาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง พกเจลแอลกอฮอล์

 


 
สิ่งสำคัญเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีน

 

- วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี

- ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก

- หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที

 

 

ข้อควรระวังหากมีไข้ต้องทำอย่างไร

 

- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น แต่ให้ห่าง 6 ชั่วโมง


- ยาที่ห้ามรับประทาน Brufen , Arcoxia ,Celebrex เด็ดขาด

 

สรุป

อาการไม่พึงประสงค์หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "อาการแพ้" คืออาการที่พบได้หลังฉีดวัคซีนทุกชนิดส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายเองได้


อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป เป็นสัญญาณว่าระบบภูมิคุ้มกันกำลังเริ่มทำงานเพื่อซ้อมต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่หายเองใน 1-3 วัน


อาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ ถ้าเป็นแบบนี้ให้ระวังไข้สูงกว่า 39 เซลเซียส เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอเวียนหัว ชัก แขนขาชา อ่อนแรง มีลมพิษ ปากบวม หน้าบวม หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง แม้โอกาสเกิดน้อยแต่ถ้าเป็น ควรรีบไปหาหมอหรือโทร 1422,1669

 

 

 


ข้อมูลจาก สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย, ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , Hfocus

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง