รีเซต

เป็นหวัดหรือโควิด แนะวิธีสังเกตอาการตัวเองได้ง่ายๆ ป้องกันโควิด-19

เป็นหวัดหรือโควิด แนะวิธีสังเกตอาการตัวเองได้ง่ายๆ ป้องกันโควิด-19
Ingonn
10 พฤษภาคม 2564 ( 15:02 )
2.1K
เป็นหวัดหรือโควิด แนะวิธีสังเกตอาการตัวเองได้ง่ายๆ ป้องกันโควิด-19

ฮัดชิ่ววว! แต่ละทีก็มีแต่คนมอง เพราะคิดว่าเป็นโควิด-19 รึเปล่า หรือบางทีเราก็สังเกตตัวเองไม่ได้ว่าที่มีอาการปวดหัวเหมือนเป็นไข้ ตัวร้อนๆหนาวๆ เป็นผลมาจากไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโควิด-19กันแน่ หากเรามีวิธีสังเกตอาการที่ชัดเจน เราอาจแยกโรคได้ถูกต้องและรักษาอาการป่วยได้อย่างทันเวลา

 

 

วันนี้ True ID จะมาเสนอวิธีการสังเกต อาการป่วยที่ใกล้เคียงกับอาการโควิด-19 แต่เราไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 มาฝากกัน

 

 

สรุปนี่เราเป็นหวัดหรือเป็นโควิดกันแน่


อาการของโรคภูมิแพ้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 นั้น มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ ลักษณะอาการ เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จึงสามารถมีอาการแสดงคล้ายกันได้ ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง การทำความรู้จักอาการของทั้ง 3 โรค จะช่วยให้สามารถแยกอาการแตกต่างของโรคออกจากกันได้ เพื่อเฝ้าระวังโรคแบบเข้าใจและไม่กังวล

 

 

 

โรคภูมิแพ้


เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ 


อาการของโรคภูมิแพ้


ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันและความรุนแรงไม่เท่ากัน เพราะชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่างกัน อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะเกิดตามอวัยวะที่มีการอักเสบจากการกระตุ้นของสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ผื่นคัน คันจมูก จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ไปจนถึงไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง เป็นต้น อาการของโรคภูมิแพ้ประกอบด้วย จาม มีอาการน้ำตาไหล คันตา คัน/คัดจมูก อาจมีน้ำมูกไหล หรือเกิดผื่นแพ้ต่างๆ

 

วิธีการรักษา


ควรดูแลตัวเองหลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หรืออาจล้างจมูก พ่นยาจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ แต่หากเป็นภูมิแพ้และต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาความเสี่ยง

 

 


ไข้หวัด


เป็นโรคติดเชื้อที่ได้พบบ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่กระจายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา 

 

อาการของโรคหวัด 


คัดจมูก น้ำมูกไหลลักษณะใส ไอมีเสมหะ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ อาจมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย ในผู้ใหญ่อาการจะน้อยมากอาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางการหายใจ) อาการของโรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10-14 วัน ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือ จาม และการสัมผัสมือ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย

 

วิธีการรักษา


ดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการไข้หวัดจะค่อย ๆ หายไปเองใน 3-4 วัน

 

 

 

ไข้หวัดใหญ่


เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา(Influenza virus) แบ่งเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว อาการมักจะไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่างๆ 

 

อาการของไข้หวัดใหญ่


ทั่วไปอาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูงติดกันหลายวัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้งๆ จาม เจ็บคอบางครั้ง มีน้ำมูก ซึ่งอาการจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก แต่ที่แตกต่างคือมักจะไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างคือหายใจลำบาก แน่นหน้าอก 

เมื่ออาการมีความคล้ายคลึงกันในระยะเริ่มต้นของอาการป่วยลักษณะนี้ เวลาที่ไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไป

 

วิธีการรักษา


เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการที่ป่วย หรือหากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาได้ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่นยาลดไข้ ยาแก้หวัด เช็ดตัวลดไข้ และควรนอนหลับพักฟื้นให้เพียงพอ เพราะการป่วยไข้หวัดใหญ่จะทำให้ร่างกายอ่อนล้าและต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ

 

 

 

โควิด-19


การติดเชื้อโควิด-19 บางคนอาจมีอาการรุนแรงไม่มาก มีลักษณะเหมือนไข้หวัดทั่วไป ขณะที่บางคนมีอาการรุนแรงมากทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ทั้งนี้ โรคนี้สามารถหายได้เอง รูปแบบการรักษาเป็นไปตามอาการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จะช่วยให้ดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี

 

อาการโควิด-19


อาการทั่วไปมีดังนี้

  1. มีไข้
  2. ไอแห้ง
  3. อ่อนเพลีย

 

อาการที่พบไม่บ่อยนักมีดังนี้

  1. ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  2. เจ็บคอ
  3. ท้องเสีย
  4. ตาแดง
  5. ปวดศีรษะ
  6. สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส
  7. มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี

 

อาการรุนแรงมีดังนี้

  1. หายใจลำบากหรือหายใจถี่
  2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
  3. สูญเสียความสามารถในการพูดและเคลื่อนไหว

 

 

วิธีการรักษา


โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการป่วยใน 5-6 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจใช้เวลานานถึง 14 วันจึงจะแสดงอาการ
โปรดเข้ารับการรักษาทันทีหากมีอาการรุนแรง และติดต่อล่วงหน้าก่อนไปพบแพทย์หรือไปสถานพยาบาลเสมอ
ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ควรรักษาตัวอยู่ที่บ้าน

 

 


เป็นโรคเหล่านี้เสี่ยงติดโควิด-19 ง่ายไหม


ไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่หากดูแลป้องกันตัวเองไม่ดีพอก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เนื่องจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่ง แต่โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เวลาที่เชื้อเข้าไปในร่างกาย ในระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะลามเข้าไปสู่ปอด ส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ ได้มากกว่าไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัว เป็นต้น 

 

แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 โรค คือ การป้องกัน เช่นล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือไปสัมผัสหน้าตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในผู้สูงอายุ เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ1 ครั้งเพื่อความปลอดภัย ห่างไกลโรค

 

 


ข้อมูลจาก องค์กรอนามัยโลก WHO , กระทรวงสาธารณสุข

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง