รีเซต

เปิดเงื่อนไขการรักษาโควิด-19 ฟรี! ทุกรพ. รัฐจ่ายให้

เปิดเงื่อนไขการรักษาโควิด-19 ฟรี! ทุกรพ. รัฐจ่ายให้
Ingonn
7 พฤษภาคม 2564 ( 11:44 )
820

เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ได้มีการโพสต์เรื่องราวการเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงถึงล้านกว่าบาท ทำให้โลกโซเชียลต่างเกิดคำถามว่า ตกลงที่ว่ารักษาโควิด-19 ฟรี ฟรีจริงหรือไม่ เมื่อสำรวจแล้วยังพบว่ามีโรงพยาบาลที่ยังเก็บค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิดอีกจำนวน 44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวเข้าไปรักษาหลายคน ทั้งนี้ สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทุกรายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างในเดือน เม.ย. อยู่จำนวนหนึ่ง 

 

 

แต่เรื่องจริงก็คือ “ป่วยโควิด-19 ต้องรักษาฟรี ทุกโรงพยาบาลรัฐและเอกชน” ตามกฎหมาย และหากไม่ได้รับการรักษาฟรี สามารถร้องเรียนได้ด้วย วันนี้ True ID จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโควิด-19 มาไว้ที่นี่แล้ว

 

 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมแล้ว 3 ฉบับ ดังนี้


ฉบับที่ 1 ประกาศใช้วันที่ 31 มี.ค. 2563 เบิกจ่ายรายการยา ค่าห้อง ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบุคลากร ครอบคลุมความจำเป็นในการดูแล


ฉบับที่ 2 ประกาศใช้วันที่ 21 เม.ย. 2563 ปรับเพิ่มการเบิกจ่ายรายการยาให้ครอบคลุม 


ฉบับที่ 3 ประกาศใช้วันที่ 27 เม.ย. 2563 เพิ่มเติมการเบิกจ่ายครอบคลุมถึงรถรับส่งผู้ป่วย ค่าทำความสะอาดรถ และค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของสถานพยาบาลเอกชน ให้ดำเนินการเรียกเก็บจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามบัญชีและอัตราแนบท้ายประกาศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยและญาติที่จะเลือกรับบริการโดยชำระค่าใช้จ่ายเอง

 


ใครได้รักษาฟรีบ้าง


1.ผู้ป่วยโควิด-19

สามารถเข้ารับสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตนเอง หรือสถานพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน 


2.เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการเข้าข่ายที่จะติดเชื้อโควิด 19 

สามารถเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาลใดก็ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น 

 


หมายเหตุ ยกเว้น การขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติที่จะทำความยินยอมตกลงกับสถานพยาบาล

 

 

มีประกันสุขภาพใช้ได้ไหม


กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน

 

 

ขั้นตอนการเบิกจ่าย


สำหรับสถานพยาบาลเอกชนให้ดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สปสช.จะไปเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ 


1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 


2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม 


3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบ 


หลังจากนั้นกองทุนจะดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ 

 

 

เปิดเกณฑ์การจ่ายให้โรงพยาบาล


ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine

 

การจ่ายชดเชยโควิด-19 ให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลเพิ่มเติมจากระบบปกติ ครอบคลุมดังนี้

 

กรณีผู้ป่วยนอก (OP)


1.ค่าตรวจแล็บ + ค่าเก็บตัวอย่าง


2.ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย


3.ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน, ด่าน, SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+3,700บาท)

 

 

กรณีผู้ป่วยใน (IP)


1.ค่าตรวจแล็บ + ค่าเก็บตัวอย่าง


2.ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย


3.ค่าชุด PPE เหมาจ่าย 740 บาทต่อชุด หรือ ค่าอุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามอาการเล็กน้อย จ่ายตามจริงไม่เกิน 11,100 บาทต่อวัน หรือ อาการรุนแรงจ่ายตามจริงไม่เกิน 22,200 บาทต่อวัน    

 
4.ค่าห้อง 

  • ค่าห้องควบคุม หรือห้องดูแลการรักษาภายใน รพ. จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน

 

  • ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 คือ สถานที่อื่นของหน่วยบริการ ที่จัดให้เป็นหอผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยบริการนั้นๆ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือแนะนำ เช่น Cohort ward, Camp Isolation, รพ.สนาม, ฮอสปิ เทล เป็นต้น)


5.ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน, ด่าน, SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+ค่าอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด 3,700บาท)

 

 

 

สำหรับค่าตรวจแล็บ + ค่าเก็บตัวอย่าง หรือค่าตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่

 

1.การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท


2.การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น

  • การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

 

  • การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท

 

  • การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท

 

3.การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท


4.การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท

 

 


ปัจจุบันใช้จ่ายไปแล้วเท่าไหร่


สำหรับงบประมาณที่ สปสช.ได้เตรียมไว้ 1.1 หมื่นล้านบาท มีการจ่ายไปแล้ว 7 พันล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล


โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิด-19 เฉลี่ยต่อคนประมาณ 1 แสนบาท แต่บางรายที่อาการรุนแรงก็จะเบิกเยอะขึ้น และ สปสช.เคยจ่ายสูงสุด 1 ล้านบาท ซึ่งอัตราที่จ่ายเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด อีกทั้งผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว และสปสช.ก็ใช้ราคานี้ในการจ่าย ดังนั้นจึงขอให้ความมั่นใจประชาชนว่า ได้มีการเตรียมงบประมาณค่าตรวจรักษาไว้แล้วตามอัตราที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ไม่มีเหตุที่โรงพยาบาลต้องไปเก็บเพิ่มจากประชาชน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจฟรี และถ้าพบติดเชื้อโรงพยาบาลจะให้การดูแลตามความรุนแรงของอาการ

 


ปรับระบบเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปรับระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยบริการ จากเดิมที่จ่ายทุก 1 เดือน เป็นจ่ายทุกๆ 15 วัน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่หน่วยบริการรับมือโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป

 

ที่ผ่านมาอาจถูกโรงพยาบาลเอกชนวิจารณ์ว่าจ่ายเงินช้า ทำให้ต้องไปเรียกเก็บจากผู้รับบริการก่อน ขณะนี้ สปสช.ได้ปรับระบบให้จ่ายเงินเร็วขึ้นทุก 2 สัปดาห์ และยังมีสายด่วนให้โรงพยาบาลเอกชนโทรสอบถามหากมีข้อสงสัย จึงจะช่วยลดแรงกดดันของโรงพยาบาลที่กังวลว่าจะได้เงินช้าลงไปได้

 

 

มีความผิดหากสถานพยาบาลเรียกเก็บเงิน


หากสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้พี่น้องประชาชนไว้วางใจได้ว่าในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด 19 จะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลเอกชนได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม

 


ถูกเรียกเก็บเงินรีบแจ้ง


หากประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 และสายด่วน สบส. 1426

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , กระทรวงสาธารณสุข , Hfocus , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข , มติชน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง