เปิดเงื่อนไข ข้าราชการติดโควิด-19 เข้ารพ.สนามก็เบิกค่ารักษาได้!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้กระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทำให้ความต้องการเข้ารับการตรวจโควิด-19 มีมากขึ้น และบางสถานพยาบาลก็มีการเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจที่แพงและมีคนไปใช้บริการจำนวนมาก
แต่ล่าสุดกรมบัญชีกลางมีความห่วงใยต่อสุขภาพของข้าราชการที่เสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน
ใครได้รับสิทธิบ้าง
1.ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัด ผู้รับบำนาญ
2.บุคคลในครอบครัวผู้มีสิทธิ
ต้องมีอาการตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
1.มีไข้อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
2.มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ตาแดง หายใจลำบาก
3.มีปัจจัยเสี่ยงคือ 14 วัน ก่อนเริ่มป่วย มีประวัติ เช่น สัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือ ไปในสถานที่ ที่พบผู้ป่วยโควิด เป็นต้น
4.เดินทางไปยัง/มาจาก/หรืออยู่อาศัย ในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
5.ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค
6.แพทย์ผู้ตรวจรักษาวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19
เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนี้
1. สถานพยาบาลของทางราชการ
- กรณีผู้ป่วยนอกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเบิกค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time RT-PCR หรือเทคนิคอื่น ๆ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง
- กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และสถานพยาบาลรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยในแล้ว สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมได้ เช่น ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Real time RT-PCR หรือเทคนิคอื่น ๆ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,200 บาทต่อครั้ง ค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษา เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน ค่ายารักษาเฉพาะผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,200 บาท
- กรณีแพทย์ผู้รักษาเห็นว่า อาการดีขึ้นสามารถส่งตัวไปพักฟื้น ณ สถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดหาไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สถานพยาบาลสนาม หอผู้ป่วย COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน และในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคล
ในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,700 บาท ต่อครั้งที่มีการส่งต่อ
- สนับสนุนมาตรการ Social Distancing ของรัฐบาล โดยให้ผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลที่รับยาอย่างต่อเนื่องสามารถรับยาที่บ้านได้ ลดความเสี่ยงในการเดินทางมายังสถานพยาบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค
2. สถานพยาบาลเอกชน
- กรณีติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงสิ้นสุดการรักษา รวมถึงการส่งตัวผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งอื่นที่ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ปฏิเสธการย้ายไปยังสถานพยาบาลเอกชนที่ได้จัดเตรียมไว้ หรือประสงค์จะย้ายไปรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชนแห่งอื่น ค่ารักษาพยาบาลภายหลังจากนั้น จะไม่สามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้
- กรณีไม่ติดเชื้อโควิด-19 การเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมตั้งแต่สถานพยาบาลเอกชนรับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงผู้ป่วยได้รับแจ้งผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน หลังจากที่ได้รับการยืนยันว่า ไม่ติดเชื้อ ให้เบิกได้ตามหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลของเอกชน กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2560
สำหรับผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ที่มีประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 หากสิทธิที่ได้รับเงินตามประกันภัยต่ำกว่าค่ารักษาพยาบาลในคราวนั้น ผู้มีสิทธิ มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์นี้เฉพาะส่วนที่ขาดอยู่
3.โรงพยาบาลสนามเบิกได้
กรมบัญชีกลางได้พิจารณากำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองหรือบุคคลในครอบครัวของตน กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการได้ ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประเภทและอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งตามหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในสถานพยาบาลของทางราชการ
กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลของทางราชการหรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะกิจสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไว้ ประกอบกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เป็นอำนาจการบริหารจัดการของสถานพยาบาลของทางราชการ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2127-7000 ต่อ 6852 6854 4441 หรือ Call center กรมบัญชีกลาง 0-2270-6400 ในวัน เวลาราชการ
ข้อมูลข่าว กรมบัญชีกลาง