รีเซต

อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร "หมออดุลย์" มีคำตอบพร้อมวิธีแก้

อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร "หมออดุลย์" มีคำตอบพร้อมวิธีแก้
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2565 ( 18:25 )
77
อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร "หมออดุลย์" มีคำตอบพร้อมวิธีแก้

วันนี้( 5 ม.ค.65) ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่องโรคซึมเศร้า โดยระบุว่า 

"#ทำไมคนถึงซึมเศร้า

-ธรรมชาติของคน จะถูกโปรแกรมไว้ว่า ต้องมีชีวิตรอด ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ จะวางอยู่บนพื้นฐานนี้ ไม่ว่าเป็นการหาอาหาร พักเหนื่อย หลบภัย รักษาอาการบาดเจ็บ และ สืบพันธุ์ ทั้งหมด จะรับรู้ข้อมูลจากประสาทสัมผัส ถึงผลของการกระทำ เมื่อไหร่การกระทำนั้น ตอบโจทย์การอยู่รอด จะให้สารเคมีที่มีความสุข ถ้าไม่ตอบสนองจะ มีสารเคมีที่แสดงความไม่พอใจ และ เร่งให้หาหนทางใหม่ ให้ได้มาซึ่งสารเคมีที่มีความสุข ซึ่งทั้ง 2 สารเคมี ทำให้ ระบบการส่งต่อข้อมูลในสมองเร็วขึ้น 

แต่สารเคมีที่มีความสุข ทำให้การทำงานของระบบประสาทเร็วขึ้นโดยไม่มีสิ่งเร้าที่มีความเครียด หรือ ความไม่สบายปนมา ขณะที่สารเคมีที่แสดงความไม่พอใจ มีความเครียด ความไม่สบายปนอยู่ด้วย เมื่อสารเคมีทั้ง 2 ออกมา จะตามด้วยการทำงานของระบบประสาทที่เพิ่มขึ้นเกิดความเหนื่อยล้า ดังนั้นจึงต้องมีสารเคมีตัวที่ 3 เข้ามาชลอ การทำงานในสมองให้เกิดความสงบ ความนิ่ง เพราะผลของการกระทำ บางที ก็ไม่เห็นผลทันที จึงไม่ควรกระตุ้น หรือ เร้าตลอดเวลา เพราะเหนื่อยเปล่า 

สมองเราจะทำงาน ไปมา กลับไปกลับมาให้เกิดความสมดุลระหว่างสารเคมีทั้ง 3 ตัว ผลของสารเคมีทั้ง 3 นี้ เมื่อส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และ ส่งผลให้กระตุ้นสารเคมีอื่นๆในสมอง จึงเกิดเป็น “อารมณ์”

-สารเคมีทั้ง 3 Dopamine สารเคมีแห่งความสุข Norepinephrine สารเคมีแสดงความไม่พอใจ และ Serotonin สารเคมีชลอการทำงาน

-สารเคมีต่างๆ ไม่ได้อยู่ๆ ก็ถูกปล่อยออกมา เพราะการมีสารเคมีบางชนิดในเวลาที่ไม่เหมาะสม จะเป็นอันตราย เช่น เวลาเจอภัย ไฟไหม้ ต้องเป็นหน้าที่ของ สารเคมีแสดงความไม่พอใจ เพื่อเราจะได้หนี แต่ถ้ามีแต่ สาร serotonin เราก็อาจจะโดนไฟคลอก ดังนั้น สมองจึงสร้างวงจรการทำงานขึ้น เป็นเงื่อนไขว่าเจอเหตุการณ์อะไร ควรปล่อยสารเคมีอะไร และ วงจรเหล่านี้บางส่วนถูกระบุไว้ใน DNA เช่น วงจรที่ตอบสนองต่อ ความรู้สึกเจ็บ ต่อความหนาวเย็น ต่อเสียงดัง ต่อแสงจ้า แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง จากการเรียนรู้ และ ประสบการณ์ การรับรู้เรื่องราวต่างๆ ซ้ำๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะทำให้เราสร้างวงจรการทำงาน การคิด การตอบสนองที่เป็นแบบแผนมากขึ้นเรื่อยๆ และหากมากขึ้นไปอีก ก็กลายเป็นนิสัย เช่นนิสัยติดหวาน แสดงว่า เมื่อได้รับ รสหวาน สารเคมีแห่งความสุข จะออกมา ฯลฯ 

-พอเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะรู้แล้วละว่า เรารับรู้สิ่งต่างๆ ในชีวิต ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาตลอดเวลา และ ร่างกายเรา สมองเรา ก็มีปฏิกริยากับ สิ่งที่มากระทบเรา ตามวงจรการทำงาน ที่ถูกเขียนไว้ และ ปล่อยสารเคมีออกมา เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องการหรือ ไม่ต้องการก็ได้ แต่ สารเคมีเหล่านั้น ถูกปล่อยออกมา เพราะมีจุดปรสงค์ชัดเจน เพื่อการอยู่รอด ตามวงจรการทำงานที่ถูกเขียนไว้จากประสบการณ์

-คราวนี้ อาการซึมเศร้า เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะ หากวงจรการทำงานที่เราเขียนไว้ สั่งให้มีสารเคมีที่ไม่มีความสุข ร่วมกับ สารเคมีที่บอกให้ชลอ ออกมาคู่กัน ก็จะเข้าสู่สภาวะที่ ไม่มีความสุข แต่ ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะ อีกฝั่งหนึ่ง สั่งให้ชลอ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็บอกว่า ไม่ชอบ ไม่มีความสุข เมื่อไม่มีการกระทำที่ไปแก้ไข หรือ พยายามแก้ไข ภาวะไม่มีความสุขนั้น สิ่งกระตุ้นก็ยังอยู่ และ วนกลับมากระตุ้นซ้ำ อีกเรื่อยๆ ความรุนแรงของ สารเคมีก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับวงจรไฟฟ้า หรือ วงจรคอมพิวเตอร์ ก็เรียกว่าเกิด Loop หรือ การวนกลับมาที่เดิม ในระบบ network คอมพิวเตอร์ ถ้าเกิด Loop ขึ้นระบบจะไม่รับสัญญาณอื่นๆอีก เหมือน “หมายเลขปลายทางที่ท่านเรียก ไม่สามารถติดต่อได้” ประมาณนั้น

-เข้าใจแบบนี้แล้ว การแก้ไขปัญหาซึมเศร้า คือ ต้อง ถอดปลั๊ก ที่ทำให้เกิด Loop ขึ้น ไม่ให้เกิดการวนซ้ำ พาตัวเอง หรือ พาเพื่อนที่เริ่มซึมเศร้า ไปรับรู้สิ่งแวดล้อม สิ่งกระตุ้นใหม่ๆ ทำไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิด Loop และ ต้อง ค่อยๆ เปลี่ยน วงจรการทำงานในสมอง ให้ไม่แสดงผลลัพธ์ หรือ ชี้ทางกลับไปที่จุดเดิม (ไม่มีใครเปลี่ยนวงจรในสมองเราได้ นอกจากตัวเราเอง) การทำตรงนี้ ต้อง ให้สมองเรา เข้าใจ ตรรกะ เอง และ ให้เข้าใจธรรมชาติ ว่า สมอง มีทางเลือกมากมาย ที่เราสามารถเลือกได้ครับ

-กรณีที่เป็นมาก ถอดปลั๊ก ไม่ได้ และ สารเคมีในสมอง เกิดความไม่สมดุลอย่างมาก ยาช่วยได้ครับ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยได้ครับ  แต่วิธีให้หายระยะยาว เจ้าตัว ต้องเข้าใจ เรียนรู้ และสร้างวงจรการทำงานในสมองขึ้นใหม่ ไม่ให้วนกลับไปในมุมที่ ไม่สบายใจ แต่ชลอไม่ให้ทำอะไร การสร้างวงจรการทำงานใหม่ สมองเราทำได้ครับ การมีสิ่งกระตุ้น และ เห็นผลดีของสิ่งกระตุ้น ซ้ำๆ จะทำให้สมอง ได้เรียน และ จดจำ ผลลัพธ์ที่ดี และ เลือกทางเดินที่ดีแทนทางเดินเก่าครับ

-ซึมเศร้า เปลี่ยนได้ครับ ต้องมีคนช่วยถอดปลั๊ก และ ส่งสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ เข้ามาให้สมองได้เรียนรู้ครับ กินยาอย่างเดียวไม่หายครับ"





ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง