พบวัตถุลึกลับ ! ปล่อยความร้อนจากด้านไกลของดวงจันทร์
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ (Planetary Science Institute) นำโดยแมตต์ ซีกเลอร์ (Matt Siegler) ค้นพบการแผ่คลื่นความร้อนลึกลับจากด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากภารกิจฉางเอ๋อ 1 (Chang'E 1) และภารกิจฉางเอ๋อ 2 (Chang'E 2) ของประเทศจีน นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากยานอวกาศลูนาร์ โปรสเปคเตอร์ (Lunar Prospector) และยานอวกาศลูนาร์ เรคอนไนส์แซนส์ (Lunar Reconnaissance Orbiter) ของนาซา (NASA)
คลื่นความร้อนปริศนา
โดยพวกเขาพบว่าพื้นที่บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร 12.4 ไมล์ หรือ 20 กิโลเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 กิโลเมตร มีอุณหภูมิประมาณ 18 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 10 องศาเซลเซียส ซึ่งอุ่นกว่าบริเวณโดยรอบที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย -243 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ -153 องศาเซลเซียส
ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าคลื่นความร้อนนี้อาจมาจากหินแกรนิตจำนวนมากใต้พื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งหินแกรนิตเหล่านี้น่าจะการปะทุของภูเขาไฟเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน
“การค้นพบนี้เป็นหินบาโทลิธที่มีความกว้าง 50 กิโลเมตร บาโทลิธเป็นหินภูเขาไฟประเภทหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นเมื่อลาวาพุ่งขึ้นสู่เปลือกโลก แต่ไม่ปะทุขึ้นสู่พื้นผิว” - หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวในแถลงการณ์
ดวงจันทร์อาจมีน้ำและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
โดยการค้นพบนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา บนวารสารด้านวิทยาศาสตร์ชื่อเนเชอร์ (Nature) และมีการเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมในงานประชุมโกลด์ชมิดท์เกี่ยวกับธรณีเคมี (Goldschmidt Conference on geochemistry) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา ณ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม การก่อตัวของหินแกรนิตต้องอาศัยน้ำและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกเป็นปัจจัยร่วม จึงชี้ให้เห็นว่าบนดวงจันทร์มีน้ำและมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ยากในดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกโลก
ข้อมูลและภาพจาก Nature