"มูลเพนกวิน" สร้างเมฆบังแดด ช่วยชะลอโลกร้อนที่แอนตาร์กติกา

ภูมิอากาศที่แอนตาร์กติกากำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อน แต่มีการค้นพบใหม่ที่ชี้ว่าเพนกวินอาจมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดอุณหภูมิ ด้วยการสร้างเมฆบังแสงแดดผ่านสารที่ปล่อยออกมาจากมูลของพวกมัน เพราะมีงานวิจัยเผยว่า แอมโมเนียที่ลอยออกมาจากมูลนกเพนกวินช่วยสร้างเมฆเพิ่มเติมเหนือชายฝั่งแอนตาร์กติกา ซึ่งคาดว่าจะช่วยบังแสงอาทิตย์และลดอุณหภูมิในพื้นที่ได้ แอนตาร์กติกา กำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์เป็นสาเหตุ แต่การศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่ามูลนกเพนกวินอาจช่วยรักษาความเย็นของทวีปนี้
นักวิจัยนำโดย แมทธิว บอยเออร์ นักบรรยากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ อธิบายว่าการทดลองในห้องแล็บแสดงให้เห็นว่าแก๊สแอมโมเนียสามารถช่วยก่อตัวเป็นเมฆได้ แต่ยังไม่มีใครเคยวัดผลกระทบนี้ในแอนตาร์กติกามาก่อน
เพนกวินและนกทะเลอื่นๆ ปล่อยแอมโมเนียจำนวนมากผ่านมูล ซึ่งเมื่อผสมกับแก๊สที่มาจากแพลงก์ตอนพืชในทะเล จะช่วยเพิ่มการก่อตัวของละอองฝอยเล็กๆ ที่พัฒนาเป็นเมฆ ซึ่งทีมวิจัยติดตั้งเครื่องมือที่ฐานมารัมบิโอ บนเกาะซีมูร์ เพื่อวัดปริมาณแอมโมเนียและละอองฝอยในช่วงฤดูร้อนที่มีการทำงานอย่างเข้มข้นของเพนกวินและแพลงก์ตอน พบว่าเมื่อมีลมพัดมาจากอาณานิคมเพนกวินอเดลลีที่มีประชากรประมาณ 60,000 ตัว ระดับแอมโมเนียในอากาศพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติถึงพันเท่า และละอองฝอยก็เพิ่มขึ้นจนบางครั้งทำให้เกิดหมอกหนา
บอยเออร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กระบวนการร่วมมือ” ระหว่างเพนกวินและแพลงก์ตอนพืช ที่ช่วยเพิ่มการสร้างละอองฝอยและเมฆในภูมิภาคนี้ โดยชี้ว่าหากประชากรเพนกวินลดลง อาจทำให้เกิดผลย้อนกลับที่เพิ่มความร้อนในชั้นบรรยากาศของแอนตาร์กติกาในช่วงฤดูร้อน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของเมฆขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เมฆก่อตัวและเคลื่อนตัว เพราะหากเมฆอยู่เหนือแผ่นน้ำแข็งหรือธารน้ำแข็งซึ่งสะท้อนแสงแดดสูง เมฆอาจดักจับความร้อนจากรังสีอินฟราเรดแทน
งานวิจัยนี้เน้นย้ำความเชื่อมโยงลึกซึ้งระหว่างสิ่งมีชีวิตและกระบวนการในชั้นบรรยากาศ ตั้งแต่เหตุการณ์การเพิ่มออกซิเจนครั้งใหญ่ในอดีตไกลลิบ ไปจนถึงบทบาทของเพนกวินในการสร้างเมฆในวันนี้ บอยเออร์กล่าวว่า นี่คือเหตุผลที่เราควรใส่ใจและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง