รีเซต

NER โตสนั่นมี S-Curve โบรกเชื่อตามรอย STA

NER โตสนั่นมี S-Curve โบรกเชื่อตามรอย STA
ทันหุ้น
12 ตุลาคม 2563 ( 08:00 )
178

ทันหุ้น-สู้โควิด- NER ขึ้นแท่นหุ้นเด่น-อนาคตไกล โบรกประเมินธุรกิจยางขาขึ้นยาว เหตุอุปสงค์เข้าเพียบจากยอดรถยนต์ในจีน ขณะอุปทานหดตัว ดันราคายาง ขณะที่ NER เด่นมาร์จิ้นสูงกว่ากลุ่ม แถมกำลังการผลิตเพิ่ม 56% ปีนี้กำไรสนั่น 112% ปีหน้าโตอีก44% มองอนาคตตามรอย STA หลังรุก แผ่นยางรองนอนดันมาร์จิ้น ชี้พีอีสุดต่ำเทียบการโต เคาะเป้า 5 บาท

 

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำเข้าสะสมหุ้น บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER โดยประเมินธุรกิจยางจะเติบแรงระหว่างปี 2563-2564 และมีโอกาสที่จะเห็น Success Story ของ NER คล้ายๆกับ STA ที่เกิดขึ้นในปีนี้ จากการต่อยอดธุรกิจยางด้วยการเพิ่มธุรกิจปลายน้ำจากยางพาราที่ให้มาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจเดิม 2 เท่าตัวเข้าไปในปี 2565

 

สำหรับยางที่เร่งตัวขึ้นอย่างรุนแรงจาก 2 ประเด็นคือ 1. อุปสงค์ในถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากโควิด ดึงดูดให้ผลผลิตยางพาราวิ่งเข้าไปสู่ถุงมือยางเป็นลำดับแรกแทนที่อุตสาหกรรมยางรถยนต์ 2.พฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นของชาวจีน จากความกังวลในการใช้ชีวิตบนระบบขนส่งมวลชนทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีน โดยเฉพาะรถยนต์ eco-car เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นส่งผลให้ ความต้องการยางสำหรับการผลิตยางล้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือนกรกฎาคมยอดขายรถยนต์ในจีนขยายตัวถึง +16.4% YoY สู่ 2.1 ล้านคัน ส่วนยอดสะสมขยายตัว +11.8% YoY ที่ 12.3 ล้านคน

 

ขณะที่อุปทานแนวโน้มออกมาน้อยกว่าคาด โดยองค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตยางในปี 2563 ของโลกจะหดตัวลง -5.2% YoY โดยประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 33% ของโลก คาดผลิตลดลงถึง -11% YoY  รวมถึงภาวะฝนตกชุกเป็นอุปสรรค์ต่อการกรีดยาง ขณะที่ในระยะยาวพื้นที่ปลูกยางพาราสุทธิของโลก กำลังทยอยลดลงปีละ 6.8% ไปจนถึงปี 2572 ดังนั้นด้วยเหตุการณ์ระยะสั้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้านี้ เราเชื่อว่า ราคายางพารามีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้น จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ขณะที่อุปทานคาดจะยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด  ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีของ NER ในการกำหนดราคาขาย เพื่อให้ได้อัตรากำไรที่สูงขึ้นในรอบส่งมอบไตรมาส 2 ปีหน้า

 

@กำไรโตสนั่น112%

 

ทั้งนี้ NER จะมีกำไรสุทธิปีนี้ในระดับ 959 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 112% ขณะที่ปี 2564 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 44% ตามกำลังการผลิตใหม่จากโรงงานใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีก 59% เข้ามาเมื่อ มิถุนายน 2563 ผนวกแนวโน้มมาร์จิ้นที่เริ่มขยับขึ้นหลังอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดย NERมีจุดเด่นด้านการจับชนปริมาณ (volume) ซื้อและขาย ที่อิงกับราคาในตลาดสิงคโปร์ (SICOM) เดียวกัน แล้วกำหนดราคาแบบ Cost plus ที่ต้องการ ทำให้ NER คุมอัตรากำไรได้ดี เราพบว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยตั้งแต่เข้าตลาดฯอยู่ที่ 4.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีของ STA (1.2%) และ TRUBB (-0.9%) ซึ่งแม้ NER ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงกับโมเดลแบบนี้ จนทำให้ D/E สูง 1.6 เท่าตลอดเวลา แต่ทว่า NER ก็ยังไม่เคยขาดทุนเลย นับแต่จดทะเบียนในตลาดหุ้น

 

@ ยางปูนอน S-CURVE ใหม่

 

ระหว่างกำไรกำลังเข้าต่อเนื่องในปี 2564  NER จะลงทุน 220 ล้านบาท เพื่อทำโรงงานแปรรูปยางเป็น ยางแผ่นรองนอน ที่ใช้ในวงการปศุสัตว์ประเทศเมืองหนาว ซึ่งครอบครัวผู้บริหารมีประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน โดยตั้งเป้าขาย 1 ล้านแผ่นในปี 2565 ซึ่งหากทำได้ จะมีขนาด 10% ของรายได้ในปี 2562 แต่ให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 25% เทียบกับ 12-13% ในธุรกิจปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เราวางสมมติฐานไว้ที่ 3.8 แสนแผ่นในปีแรก (25% ของกำลังการผลิตรวม) โดยข้อดีของธุรกิจนี้ คือ การขยายอัตรากำไรเพิ่ม การลดแรงกดดันของ D/E และ กระแสเงินสดที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

@ มองราคาหุ้นNERสุดต่ำ

 

ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่พีอีเทียบกับการเติบโต (PEG) ต่ำเพียง 0.11-0.15 เท่า ยังไม่ได้สะท้อนการเติบของกำไร โดยพีอีปี 2563 นั้นต่ำเพียง 6.2 เท่า แนะนำทยอยสะสม ซื้อ ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 5.00 บาท/ หุ้น อิง P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 7.0 เท่า คูณกับ EPS คาดการณ์ปี 2564 ที่ 0.72 บาท/ หุ้น ซึ่งได้รวม dilution effect ของ NER-W1 ไปแล้ว 3 ใน 4 ส่วน (แปลงครั้งสุดท้าย พ.ค. 2565)

 

โดยมองว่า P/E อ้างอิงนี้ อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะเป็น P/E เฉลี่ยในอดีตของ NER อีกทั้งยังมีส่วนลดจาก P/E20F ของ STA อยู่ราว 10% จากขนาดของรายได้ที่เล็กกว่า 4-5 เท่าตัว แต่ในแง่อัตรากำไรจากธุรกิจยาง NER ทำได้สูงกว่า STA โดย NER มี อัตรากำไรสุทธิปี 2562 ที่ 4.1% เทียบกับ STA ที่ 2.6% ในปี 2561ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีผลของกำไรของ STGT เข้ามาสนับสนุนเหมือนปี 2563 ซึ่งในปีนั้น STA ซื้อขายที่ P/E สูงถึง 9.0 เท่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง