รีเซต

อินฟราฟัน : รถไฟเร่งสปีดระบบราง

อินฟราฟัน : รถไฟเร่งสปีดระบบราง
มติชน
15 กรกฎาคม 2563 ( 12:14 )
275
อินฟราฟัน : รถไฟเร่งสปีดระบบราง

อินฟราฟัน : รถไฟเร่งสปีดระบบราง

นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ฤกษ์ประกาศเดินหน้าระบบรางอย่างเป็นทางการแล้ว หลังนั่งเก้าอี้ผู้ว่ารถไฟป้ายแดงมา 2 เดือนกว่า

โดยเรื่องที่จะเร่งดำเนินการในส่วนของแผนเพิ่มรายได้องค์กร คือ เพิ่มลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟสายชานเมืองสายสีแดง และส่วนต่อขยาย

เบื้องต้นอยู่ระหว่างผลักดันให้ประกวดราคารถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ เส้นทางช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และเส้นทางช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้

ปัจจุบันช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอพิจารณาสัญญาการประมูลโครงการ แบ่งเป็น 3 สัญญา ตามมติ ครม.เดิม เนื่องจากก่อนหน้านี้ซุปเปอร์บอร์ดได้มีความเห็นเรื่องการแบ่งสัญญา ทำให้ รฟท.ต้องนำกลับมาทบทวน แต่พบว่า 3 สัญญาเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว โดย รฟท.ได้นำเสนอผลการศึกษาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรียบร้อย

ขณะที่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคาหรือทีโออาร์แล้ว

นอกจากนี้ จะผลักดันการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวม 7 เส้นทาง โดยจะเร่งรัดในส่วนของเส้นทางที่ปัจจุบันยังเป็นทางเดี่ยวฟันหลออยู่ก่อน เช่น เส้นทางช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย และขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น

สำหรับรถไฟความเร็วสูง ล่าสุด รฟท.ได้เปิดระดมความเห็นเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตรแล้ว โดยเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็วและความปลอดภัยของประชาชน

มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย โดยออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่ง ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯถึงหนองคาย 3 ชั่วโมง 15 นาที

เมื่อเดินหน้าได้ตามแผนงานที่กำหนดจริง การนั่งไฮสปีดเทรนไปเที่ยวลาวและจีนคงไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง