รีเซต

อินฟราฟัน : ลุยไฮสปีด‘อีอีซี’เฟส2

อินฟราฟัน : ลุยไฮสปีด‘อีอีซี’เฟส2
มติชน
29 กรกฎาคม 2563 ( 12:14 )
69

อินฟราฟัน : ลุยไฮสปีด‘อีอีซี’เฟส2

สัปดาห์ก่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน หรือมาร์เก็ต ซาวดิ้ง โครงการวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมการเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเป็นการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนไปแล้ว

สำหรับไฮสปีดเทรนช่วงนี้ระยะทาง 190 กม. วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กม. จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กม.

วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กม.

มี 4 สถานี คือ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด ใช้ระยะเวลาเดินรถรวม 64 นาที อัตราค่าโดยสารแรกเข้า 95 บาท และบวกเพิ่มอีก กม.ละ 2.1 บาท คาดว่าจะมีผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการประมาณ 7,429 คนต่อวัน ประเมินผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ หรือ EIRR 5.39%

เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบบพีพีพี เน็ต คอสต์ โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือ แบบที่ 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน แบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และการดำเนินงานและซ่อมบำรุงรักษา โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา และแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะการดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบและขบวนรถ

คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการอีอีซี และ ครม.อนุมัติโครงการปี 2564 เริ่มกระบวนการพีพีพี ช่วงปี 2565 หาผู้ลงทุนและออกแบบการก่อสร้างปี 2567 ทดสอบรถและให้บริการปี 2571

เดินหน้าได้ตามแผนจริง จะไปไหนมาไหนคงสะดวกขึ้นเยอะ!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง