รีเซต

อินฟราฟัน : กางแผนสนามบินภูมิภาค

อินฟราฟัน : กางแผนสนามบินภูมิภาค
มติชน
22 กรกฎาคม 2563 ( 12:13 )
587

อินฟราฟัน : กางแผนสนามบินภูมิภาค

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม นอกจากจะมีเรื่องถนนหนทาง และระบบรางที่หลายคนให้ความสนใจแล้ว การเดินหน้าเพิ่มศักยภาพสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของการจราจรทางอากาศก็มีความสำคัญไม่แพ้กันโดยเฉพาะเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว

สำหรับผู้ที่ให้บริการสนามบินหลักของไทย นอกจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แล้ว ยังมี กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ผู้ให้บริการสนามในภูมิภาค โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการตามแผน 10 ปี คือระหว่าง 2558-2567 ภายใต้วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ ในปี 2562-2563 ทย.ได้ใช้งบประมาณกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่และเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน 29 แห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

นอกจากนี้ ปี 2564 ทย.ยังรับจัดสรรงบประมาณ 5.8 พันล้านบาท เพื่อพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เช่น ท่าอากาศยานกระบี่ ใช้งบผูกพันระหว่างปี 2562- 2564 ประมาณ 6 พันล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ หลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารหลังที่ 1และ 2 รวมทั้งสร้างลานจอดเครื่องบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าอย่างมาก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ทย.ได้เดินหน้าก่อสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งใหม่ ในจังหวัดที่ยังไม่มีท่าอากาศยานในพื้นที่ เพื่อใช้เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานหลักอย่างสุวรรณภูมิ และดอนเมืองได้

โดยขณะนี้มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ 7 แห่ง ประกอบไปด้วย พัทลุง, สตูล, บึงกาฬ, มุกดาหาร, พะเยา, กาฬสินธุ์ และนครปฐม

สำหรับท่าอากาศยานนครปฐม ปัจจุบันได้ศึกษาความเป็นไปได้เสร็จเรียบร้อย อยู่ระหว่างพิจารณาการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากผ่านการเห็นชอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปลายปีนี้

ท่าอากาศยานมุกดาหาร ปัจจุบัน ทย.ได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ โดยกำหนดพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานที่ ตำบลคำป่าหลาย ห่างจากอำเภอเมืองมุกดาหาร ประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท ปัจจุบัน ทย.อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม

ส่วนท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่จังหวัดพัทลุง, สตูล, บึงกาฬ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ขณะที่ท่าอากาศยานพะเยา และกาฬสินธุ์ ทย.อยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2564 เพื่อเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ

หากเดินหน้าได้ทุกแห่งจริง คงช่วยให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้นแน่นอน!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง