รีเซต

อินฟราฟัน วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : เลื่อนเปิดหวูดสีแดง

อินฟราฟัน วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : เลื่อนเปิดหวูดสีแดง
มติชน
6 พฤษภาคม 2563 ( 12:00 )
140

อินฟราฟัน วันที่ 6 พฤษภาคม 2563 : เลื่อนเปิดหวูดสีแดง

เป็นรถไฟสายมาราธอนของแท้ เมื่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ออกมายอมรับว่ารถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร จะเปิดไม่ทันเดือนมกราคม 2564 ตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจจะขยับไปกลางปีหรือปลายปี 2564 โน่นเลย

สาเหตุหลัก มาจากสัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ที่มีกิจการร่วมค้ามิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม เป็นคู่สัญญา ได้ยื่นขอขยายเวลาออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้

พร้อมให้เหตุผลว่า ที่สัญญา 3 ล่าช้า ก็มาจากงานสัญญา 1 การก่อสร้างงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากติดปัญหารื้อย้ายสาธารณูปโภค ขับไล่ผู้บุกรุกนั่นแหล่ะ ทำให้การก่อสร้างห้องควบคุมระบบไม่เป็นไปตามแผน รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่สามารถขนส่งจากญี่ปุ่นมาไทยได้ด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารถไฟสายสีแดงได้เลื่อนกำหนดเปิดให้บริการมาหลายรอบ ตั้งแต่เริ่มลงมือตอกเสาเข็มเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 ได้ตั้งเป้าหมายเปิดเดินรถในปี 2562 แต่ผ่านไปสักระยะการดำเนินงานไม่ตรงตามแผน จนคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2562 จึงเลื่อนเปิดบริการไปปี 2563

เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ก็มีเป้าหมายใหม่เกิดขึ้นอีกเป็นเดือนมกราคม 2564 แม้ล่าสุดจะยังไม่เลื่อนปี แต่ก็ยังกำหนดเดือนที่ชัดเจนไม่ได้ว่าจะเป็นเดือนไหน

หากเปรียบเทียบรถไฟฟ้าสายนี้กับฝั่งที่เดินหน้าโดยบริษัทเอกชน ก็ถือว่าทิ้งช่วงห่างไปหลายขุม โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญาสัมปทาน ซึ่งกดปุ่มเทปูนอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปมากกว่า 50% มีกำหนดเปิดบริการตุลาคม 2564

เมื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้ากับระยะเวลาก่อสร้างระหว่าง รฟท.กับเอกชน ดูแล็วก็ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน บางคนอาจจะแย้งว่าเพราะเป็นระบบโมโนเรล จึงสร้างได้เร็วกว่า

แต่ในทางกลับกันถ้าให้ รฟท.มาก่อสร้างจะได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันจริงหรือไม่

หรืออาจจะเป็นเหมือนที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดให้ฟังว่า เพราะรัฐวิสาหกิจไม่มีเจ้าของเป็นตัวเป็นตนจึงไม่ต้องกังวลเรื่องกำไร-ขาดทุน แตกต่างจากเอกชนที่เปิดได้เร็วเท่าไร ก็ได้เงินเร็วเท่านั้น!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง