รีเซต

มหาศึกชิงดวงจันทร์ "จีน" ยกทัพใหญ่เผยโฉมจรวดลำใหม่

มหาศึกชิงดวงจันทร์ "จีน" ยกทัพใหญ่เผยโฉมจรวดลำใหม่
TNN ช่อง16
26 กรกฎาคม 2566 ( 17:41 )
78
มหาศึกชิงดวงจันทร์ "จีน" ยกทัพใหญ่เผยโฉมจรวดลำใหม่

ภาพแบบจำลองการพัฒนาจรวดขนส่งลองมาร์ช-10 รุ่นใหม่ขององค์การอวกาศจีน (CMSA) ที่กำลังเดินหน้าเพื่อโครงการสำรวจดวงจันทร์ ในปี 2573 โดยกำลังพัฒนาจรวดลองมาร์ช คู่ไปกับจรวดขนส่ง Long March-2F เป็นทั้งจรวด ยานอวกาศ และยานลงจอดบนดวงจันทร์ 



โดยจรวดจะใช้เชื้อเพลิงขับดันที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ คือ ไฮโดรเจนเหลว ออกซิเจนเหลว และน้ำมันก๊าดเป็นตัวขับเคลื่อน มีความยาวประมาณ 92 เมตร น้ำหนักบินขึ้นประมาณ 2,187 ตัน แรงขับประมาณ 2,678 ตัน และความสามารถในการบรรทุกไม่น้อยกว่า 27 ตัน


Long March-10 คาดว่าจะทดสอบบินในปี 2570 ตามแผน ซึ่งจะส่งจรวดขนส่งสองลำขึ้นบิน จรวดลำแรกจะนำยานขนส่งลงจอดบนดวงจันทร์ก่อน จากนั้นยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมจะเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ ก่อนจะนัดเทียบท่า เพื่อให้นักบินอวกาศเข้าสู่ยานลงจอด เพื่อทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ แล้วเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย


ก่อนหน้านี้ CMSA เผยภาพส่วนหนึ่งของแผนโครงการที่เตรียมเพื่อการสำรวจอวกาศในห้วงลึก ซึ่งยานอวกาศรุ่นใหม่จะสามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้สามคน สามารถเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้ และอีกรุ่นหนึ่งจะเป็นแบบวงโคจรต่ำ จะสามารถขนส่งนักบินอวกาศได้ 4-7 คน เพื่อไปประจำการที่สถานีอวกาศเทียนกงที่เพิ่งสร้างเสร็จของจีน



ขณะนี้ จีนเริ่มการทดลองทางฟิสิกส์ในห้วงอวกาศ ณ สถานีอวกาศเทียนกงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปฏิบัติภารกิจนอกตัวยาน ซึ่ง วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ลูกเรือเสินโจว-16 ประกอบด้วย นักบินอวกาศ จิ่งไห่เผิง (Jing Haipeng) และจูหยางจู้ (Zhu Yangzhu) พร้อมด้วย กุ้ยไห่เฉา (Gui Haichao) ที่สนับสนุนเพื่อนร่วมทีมของเขาจากภายในสถานีอวกาศ ได้ร่วมกันปฎิบัติงานเพื่อบรรลุภารกิจทั้งหมดที่กำหนดไว้ 


โดยจิ่งไห่เผิง และจูหยางจู้ กลับเข้าโมดูลแล็บ “เวิ่นเทียน” อย่างปลอดภัย หลังจากทำกิจกรรมนอกยานอวกาศโดยใช้เวลาประมาณแปดชั่วโมง


ระหว่างการทำภารกิจนอกตัวยานนั้น พวกเขาเสร็จสิ้นภารกิจหลายอย่าง รวมทั้งการติดตั้งและการยกโครงรองรับการทำงานของกล้องพาโนรามา นอกโมดูลหลัก “เทียนเหอ” และการปลดล็อกและยกกล้องพาโนรามาสองตัวนอกโมดูลห้องปฏิบัติการเมิ่งเทียน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ



นับเป็นครั้งแรกสำหรับจิ่งไห่เผิง ซึ่งเดินทางมายังสถานีอวกาศแห่งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ได้ปฏิบัติภารกิจนอกตัวยาน ส่วนจูหยางจู้ เป็นวิศวกรการบินคนแรกของจีนที่เข้าร่วมกิจกรรมนอกตัวยาน 


ตามที่วางแผนไว้ ลูกเรือเสินโจว-16 จะดำเนินการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจำนวนมาก และดำเนินการติดตั้งแอปพลิเคชันโหลดนอกตัวยานหลายรายการในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจเหยียบดวงจันทร์ของจีน 



รองหัวหน้าโครงการสำรวจดวงจันทร์ เผยว่า เที่ยวบินแรกจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2570-2571 เพื่อนำไปสู่การเปิดตัวยานจริงที่จะส่งนักบินอวกาศ 2 คน ไปบนดวงจันทร์ภายในปี 2573 โดยจีนออกแบบให้ยานอวกาศสามารถนำมาใช้ซ้ำได้บางส่วน ขณะที่จรวดลำใหม่กำหนดให้เป็น Long March 10 ที่กำลังพัฒนาเพื่อปล่อยตัวยานอวกาศในเร็วๆ นี้



แปลและเรียบเรียงโดย นนท์สมร ศานติวงศ์สกุล รองบก.ข่าวเย็น TNN ช่อง 16

ภาพจาก CCTV และ CMSA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง