รีเซต

[รีวิว] Canon EOS R6 Mark II อัปเกรดเหนือขึ้นไปอีกขั้น! ถูกใจทั้งสายภาพนิ่งและวิดีโอ

[รีวิว] Canon EOS R6 Mark II อัปเกรดเหนือขึ้นไปอีกขั้น! ถูกใจทั้งสายภาพนิ่งและวิดีโอ
แบไต๋
6 มกราคม 2566 ( 20:39 )
67
[รีวิว] Canon EOS R6 Mark II อัปเกรดเหนือขึ้นไปอีกขั้น! ถูกใจทั้งสายภาพนิ่งและวิดีโอ

ก็เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วครับ หลังจากที่ทาง Canon ได้เปิดตัว EOS R6 ตัวแรกออกมา ซึ่งในตอนนั้นคือเป็นอะไรที่ฮือฮามาก ยัดสเปกเซนเซอร์ฟูลเฟรม 20.1 ล้านพิกเซล ตัวเดียวกับกล้อง DSLR ระดับเรือธงอย่าง EOS-1D X Mark III ใส่มาในร่างกล้องมิเรอร์เลส โฟกัสทั้งฉลาดทั้งไว กันสั่น 5 แกน 8 สต็อปสุดโหด ใครได้จับได้ลองก็ต้องมึนยาไปตาม ๆ กัน (ซึ่งผู้เขียนก็ด้วย…)

ครั้งนี้แบไต๋เราได้มีโอกาสจับของแรงกับเขาบ้าง เป็นการต้อนรับปี 2566 อย่างร้อนแรง กับ ‘Canon EOS R6 Mark II’ กล้องฟูลเฟรมมิเรอร์เลสสาย hybrid ที่ดีงามทั้งงานภาพนิ่ง และวิดีโอ อะไรที่แฟน ๆ อยากให้มีก็ปรับปรุงอัปเกรดใส่มาให้แล้วในรุ่นนี้ แม้สเปกในหน้ากระดาษจะดูเหมือนเพิ่มเติมมาไม่มากแต่จริง ๆ เขายัดฟีเจอร์มาแน่นเลยทีเดียว เอาล่ะก่อนจะเข้าสู่เนื้อหารีวิว เรามาดูสเปกพื้นฐานของเจ้า EOS R6 Mark II กันก่อนเลย!

กราบขอบคุณ Canon ที่ส่ง EOS R6 Mark II มาพร้อมกับเลนส์ชุดใหญ่ ทั้ง RF 50mm F1.2L USM, RF 85mm F1.2L USM DS, RF 35mm F1.8 IS STM และ RF 24-105mm F4-7.1 IS STM มาให้ใช้กันแบบจุใจด้วยนะครับ 🥺

📸 สเปก Canon EOS R6 Mark II

  • เซนเซอร์ฟูลเฟรม FSI 24.2 ล้านพิกเซล
  • ชิปประมวลผล DIGIC X
  • 12fps mechanical shutter / 40fps electronic shutter
  • กันสั่น 5 แกน 8 สต็อป
  • Dual Pixel CMOS AF II
  • โฟกัสคน, สัตว์, รถ, มอเตอร์ไซค์, เครื่องบิน, รถไฟ, ม้า
  • โฟกัสที่แสงน้อย -5 EV
  • ISO 100-102,400 (ขยาย 50-204,801)
  • 4K/60p 10-bit oversampled จาก 6K ไม่ครอป
  • 6K ProRes เมื่อต่อกับ Atomos
  • Full HD 180p
  • C-Log 3, HDR PQ
  • Raw burst mode
  • Moving subject HDR mode
  • ชัตเตอร์สปีดสูงสุด 1/8000s
  • Flash Sync 1/250s
  • ช่องมอง EVF 3.68 ล้านจุด 120fps
  • จอ LCD พับได้รอบทิศ 1.62 ล้านจุด ขนาด 3 นิ้ว
  • Dual UHS-II SD card slots
  • Wi-Fi, Bluetooth
  • ช่องเสียบไมค์, หูฟัง, Micro HDMI. USB-C
  • เสียบ USB-C เป็น webcam ได้ทันทีไม่ต้องลงโปรแกรมเพิ่ม
  • ซีลกันละอองน้ำละอองฝุ่น
  • แบตเตอรี่ LP-E6NH
  • เมาท์ Canon RF
  • ขนาด 138.4 x 98.4 x 88.4mm
  • น้ำหนัก 670 กรัม

สำหรับการรีวิวในครั้งนี้นอกจากจะแนะนำฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของ EOS R6 Mark II แล้ว เราจะมาพูดในมุมช่างภาพ Sony หลังมาลองใช้กล้อง Canon ว่ารู้สึกยังไงกันดูบ้าง และจะเน้นหนักไปในการใช้ด้านภาพนิ่งเป็นหลักนะครับ 🙏

Body และการจับถือ

สัมผัสแรกที่สัมผัสได้ถึงความต่างจากตัวเดิมคือ Canon EOS R6 Mark II ได้มีการปรับเปลี่ยนการวางสวิตช์เปิด/ปิดใหม่ครับ จากเดิมที่อยู่ด้านซ้ายบนก็ถูกย้ายไปที่ฝั่งกริปด้านขวาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้เราสามารถ operate ด้วยมือเดียวได้สะดวกขึ้น ส่วนด้านซ้ายมือจะแยกเป็นสวิชต์สำหรับภาพนิ่ง/วิดีโอแทน ต้องยอมรับเลยเรื่อง ergonomic เลยว่า Canon จับถนัดเข้ามือดีมาก ๆ

สำหรับจอ LCD ในรุ่นนี้เป็นแบบสัมผัสปรับหมุนได้รอบทิศ ความละเอียด 1.62 ล้านจุด มองแล้วสีสวยคมชัด แต่ที่ชอบของค่ายนี้คือความสามารถ touch screen ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งในส่วนเมนู หรือเปลี่ยนค่าต่าง ๆ ได้เลยนี่ล่ะครับ จะปรับสปีด, ISO หรือค่ารูรับแสงก็จิ้มจอได้เลย เพราะบางครั้งเอากล้องไปติดกิมบอลการปรับค่าต่าง ๆ ให้มาหมุนไดอัลอาจไม่สวก จิ้มจอก็พอช่วยแก้ปัญหาได้

ช่องมองภาพรุ่นนี้เป็นแบบ EVF ความละเอียด 3.68 ล้านจุด 120fps นอกจากลื่นสบายตาแล้วยังกว้างขวาง ซึ่งปกติผู้เขียนมักจะมีปัญหากับการใช้ EVF เพราะติดแว่น (สั้น -4.0 กว่า ๆ) แต่ตัวนี้มองได้เต็มเฟรมภาพไม่มีปัญหาเลยครับ แน่นอนว่าก็ยังมี joystick ที่เหล่าช่างภาพชื่นชอบมาให้ด้วยเช่นเดิม

ส่วนด้านพอร์ตเชื่อมต่อก็มีมาให้แบบครบ ๆ ทั้งช่องเสียบไมค์, หูฟัง, USB-C, พอร์ต muiti และ Micro HDMI (แต่จริง ๆ ถ้าได้ HDMI แบบ full size จะเยี่ยมเลย) โดยรองรับ SD card UHS-II ความเร็วสูงอีก 2 ช่องด้วยกันไว้ใช้งานในงานที่ต้องการความเป็นมืออาชีพ การ์ดพังก็ยังมี backup สำรองให้อุ่นใจ

Multi-function accessory shoe พร้อมหน้าสัมผัสไฟฟ้าไว้ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริมรุ่นใหม่ ๆ

แต่ที่เด่นคือส่วน hotshoe ก็ถูกเปลี่ยนใหม่เป็น multi-function accessory shoe ที่รองรับอุปกรณ์เสริมอย่างแฟลชรุ่นใหม่ ๆ สำหรับใครที่ซื้อไปใช้ก็แนะนำให้ปิด hot shoe cover เอาไว้ครับ กันน้ำหรือฝุ่นละอองไปสัมผัสขั้วไฟฟ้าเวลาที่เราไม่ได้ใช้งาน

ส่วนใครที่คิดจะใช้งานลุย ๆ ตัว EOS R6 Mark II เขาทำจากวัสดุ ‘แมกนีเซียมอัลลอยด์’ แข็งแรงทนทาน มีซีลกันละอองน้ำละอองฝุ่นมาให้พร้อมครับ ใช้งานอย่างมั่นใจได้เลย (แต่ไม่ใช่เอาไปจุ่มน้ำนะครับ แบบนั้นไม่ได้!)

โดยที่น้ำหนักบอดี้จะอยู่ที่ 670 กรัม ตามมาตรฐานกล้องฟูลเฟรมทั่ว ๆ ไป พอติดกับเลนส์หนัก ๆ อย่าง RF 85mm F1.2L USM DS ที่หนักเกือบตัวละ 1.2 กิโลกรัมก็ยังใช้งานได้ทั้งวัน ไม่ปวดข้อมืออย่างที่คิด บาลานซ์ดีทีเดียวครับ

อัปเกรดเซนเซอร์เป็น 24.2 ล้านพิกเซล ตามคำเรียกร้อง พร้อมความสามารถถ่ายรัว 40fps!

หัวใจหลักในรุ่นนี้เปลี่ยนมาใช้เซนเซอร์ฟูลเฟรม CMOS 24.2 ล้านพิกเซล ลบคำครหาเดิมที่ว่าความละเอียดน้อยไปในรุ่นแรก (20.1 ล้านพิกเซล) แม้จะเพิ่มมาไม่มากเท่าไรแต่ระดับนี้ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปแล้วครับ ครอปได้อย่างสบายใจมากขึ้น ขับเคลื่อนด้วยชิปประมวลผล DIGIC X ที่สามารถถ่ายรัวได้เป็นปืนกลสูงสุด 40fps (electronic shutter) และ 12fps (สำหรับ mechanical shutter)

เซนเซอร์ฟูลเฟรมตัวใหม่ 24.2 ล้านพิกเซล

จากที่เอาไปใช้งานรัวได้ขนาดนี้บัฟเฟอร์ขณะถ่าย RAW 40fps จะได้ประมาณ 70 ภาพ +- ครับก่อนบัฟเฟอร์จะหมด ซึ่งถ้าถ่ายเป็น CRAW ก็จะได้เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อยเป็น 99 ภาพ กดชัตเตอร์ 2-3 วิคือหมดแล้ว แต่ต้องเข้าใจก่อนว่านี่คือ 40fps นะครับ กดวิเดียวได้ 40 ภาพ ไม่ใช่น้อย ๆ

ในราคาใกล้กันก็มี a7IV แต่ตัวนั้นถึงแม้จะใส่ CFexpress Type A แล้วรัวได้ไม่จำกัด (การ์ดตัวหนึ่งไม่ใช่ถูก ๆ) ก็ยังรัวได้แค่ 10fps เท่าเดิม แต่ EOS R6 Mark II ดันได้สุดกว่าที่ 40fps อย่างกับกล้องเริอธงสายกีฬา แต่การรัว 40fps ก็จะทำให้จากไฟล์ 14-bit ลดลงเหลือ 12-bit ด้วยนะครับ แต่ส่วนตัวเอามาแต่งก็ยังไม่ค่อยเห็นความต่างสักเท่าไร

รัว 40fps มันส์​ ๆ กับ RF 85mm F1.2L USM ไปเลย 😎

และอีกฟีเจอร์เด็ดที่มีเช่นเดียวกับ EOS R7 ที่เราเคยรีวิวไปแล้ว คือรุ่นนี้ยังมี ‘Raw burst mode’ ที่จะช่วยให้เราไม่พลาดทุกช็อตสำคัญด้วยการบันทึกภาพก่อนกดชัตเตอร์ 0.5 วิ เป็นจำนวน 15 ภาพ และหลังกดชัตเตอร์อีก 15 ภาพ รวมเป็น 30 ภาพ ซึ่งมีประโยชน์มากครับสำหรับงานที่พลาดไม่ได้หรือกลัวกดชัตเตอร์ไม่ทัน (โหมดของฝั่งวิดีโอก็มีนะ ในชื่อ Pre-recording อัดให้ก่อน 3-5 วินาที ก่อนกดบันทึก) อีกทั้งยังสามารถถ่าย HDR กับภาพเคลื่อนไหวในโหมด HDR Moving subject ได้ด้วย

ข้อสังเกต: เมื่อถ่าย 40fps ไฟล์จะลดเหลือ 12-bit จากปกติ 14-bit

เอกลักษณ์ Skintone หวาน สไตล์ Canon

เรื่องที่ต้องยอมรับ และเป็นจุดเด่นที่หลายคนตัดสินใจใช้กล้องค่ายนี้คือสี skintone เวลาถ่ายภาพบุคคลนี่ล่ะครับ ที่ทำออกมาได้สวยดูเป็นธรรมชาติ มีความไล่โทนที่ดูนุ่มนวล แบบแต่งนิดเดียวก็สวยแล้ว แต่ยังเก็บดีเทลของภาพไว้ได้ครบ และ Canon EOS R6 Mark II ก็ยังคงทำได้ดีในจุดนี้ครับ

ซึ่งจากมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งใช้กล้อง Sony เป็นหลัก ค่าย EOS R6 Mark II ทำผิวหรือแต่งไฟล์แนว portrait ออกมาได้ง่ายกว่าครับ มันจะมีความละมุนนุ่มนวลของมันอยู่ ในขณะที่ฝั่ง Sony ก็จะอยู่กลาง ๆ ให้ความสมจริงเหมือนที่ตาของเรามองเห็นมากกว่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลด้วยนะครับว่าชอบแบบไหน

EOS R6 Mark II + RF 85mm F1.2L USM DS

ระบบโฟกัส Dual Pixel CMOS AF II ฉลาดขึ้นอีก เลือก Auto Subject ได้ด้วย ไม่ต้องสลับโหมดเอง

เช่นเดียวกับกล้องรุ่นใหม่ ๆ อย่าง EOS R7 ที่เราได้เคยรีวิวไปแล้ว เจ้า EOS R6 Mark II ยังได้รับอานิสงส์ระบบโฟกัสมาจากรุ่นเรือธง EOS R3 ตัวละ 200,000 ด้วยครับ โฟกัสได้ฉลาด และแม่นยำจากการคำนวนของระบบ AI แต่ที่พิเศษคือสมัยก่อนเราจะต้องเลือกเองใช่ไหมครับ ระหว่างโหมด One Shot กับ Servo ในรุ่นนี้มี ‘AI Focus AF’ ที่กล้องจะเลือกระบบโฟกัสให้เราเองตามความเหมาะสมของสถานการณ์

โหมดใหม่ AI Focus กล้องเลือกให้เองจะ One Shot หรือ Servo

นอกจากโฟกัสใบหน้า ดวงตา ศีรษะมนุษย์, ยานพาหนะ, เครื่องบิน, สัตว์ ได้แล้ว รุ่นนี้ยังสามารถ tracking ม้าได้ด้วยนะครับ ม้าลงม้าลายได้หมดถูกใจสายสัตว์ป่าหรือจะเอาไปท่องเที่ยวสวนสัตว์

ซึ่งถ้าเป็นค่ายอื่น ๆ เราอาจจะต้องสลับโหมดโฟกัส subject เองระหว่าง คน, สัตว์ หรือยานพาหนะที่บางครั้งอาจทำให้เราพลาดช็อตสำคัญ แต่รุ่นนี้ไม่ต้องครับมีโหมด auto ให้เราใช้ด้วย AI จัดการให้เสร็จสรรพ หรือใครอยากจะสลับ subject เองเพื่อความแม่นยำมากขึ้นก็ทำได้ครับ

ยกกล้องขึ้นมาตัวระบบรู้ได้ทันทีว่ากำลังถ่ายเครื่องบิน tracking ส่วนหัวเครื่องให้เองแบบอัตโนมัติเลย!

เหตุการณ์แบบนี้ปกติผู้เขียนก็จะชื่นชอบการถ่าย portrait กับแมวเป็นหลัก พอออกไปถ่ายคนทีนึงก็มักจะเกิดอาการลืมสลับ subject ทำให้โฟกัสหน้าคนไม่ค่อยติดบ้าง มารู้ตัวอีกทีคือใกล้ถ่ายเสร็จแล้ว พอได้ EOS R6 Mark II มาใช้คือหมดปัญหาเลยครับ โคตรดี ทาสแมวต้องชอบ

อีกสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเราสามารถเลือกข้างดวงตาก่อนถ่ายเองได้แล้ว จะซ้ายหรือขวาก็กำหนดได้ อันนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแต่ Canon เขาก็ใส่มาให้แล้วครับใน EOS R6 Mark II ส่วนเรื่องความเร็วโฟกัสนี่บอกเลยหายห่วง รุ่นก่อนว่าไว ว่าแม่นแล้ว รุ่นนี้อย่างกับติดจรวด ใช้งานง่าย เข้าเป้าเป๊ะแม้ใช้เลนส์ที่ DOF บางมาก ๆ อย่าง RF 85mm F1.2L USM

เรียกว่ามันเลยจุดที่ต้องถามว่าค่ายไหนโฟกัสดีกว่าแล้วอะครับ จะติดนิดเดียวคือเวลาถ่าย portrait แล้วมีบางจังหวะที่ตัวแบบยกมือขึ้นมากล้องจะเลิกจับตาไปจับมือแทน อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเฟิร์มแวร์ 1.0 รึเปล่านะครับ

กันสั่น 5 แกน 8 สต็อป เมื่อก่อนดียังไง ตอนนี้ก็ดีเหมือนเดิม

ภายในบอดี้ของ EOS R6 Mark II ยังติดตั้งชุดกันสั่น 5 แกน ที่สามารถชดเชยชัตเตอร์สปีดได้สูงสุดถึง 8 สต็อปมาให้เช่นเดิมครับ รุ่นก่อนทำได้ยังไง ตอนนี้ก็ทำได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งถ้าเทียบกับค่าย Sony ที่ใช้ประจำแล้ว กันสั่น Canon เขาดูมีภาษีมากกว่า อาจจะเพราะด้วยเมาท์เลนส์ที่ใหญ่กว่าหรือมีพื้นที่ชุดกันสั่นมากกว่า แต่ถ้าต้องการกล้องกันสั่นดี ๆ บอกเลยว่าตัวนี้ไม่ผิดหวังครับ

มีเรื่องชมแล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดาย คือรุ่นนี้ไม่มีระบบ Auto level ที่เคยใส่ให้รุ่นน้อง EOS R7 สำหรับปรับตั้งองศาเซนเซอร์ให้ภาพตั้งตรงตลอดเวลามาด้วยครับ แต่ก็เข้าใจว่าพื้นที่ภายในคงไม่พอสำหรับใช้ระบบนี้กับเซนเซอร์ฟูลเฟรม อันนี้ก็ยอมรับได้เนอะ

EOS R6 Mark II + RF 50mm F1.2L USM @1/5s ISO 100
ขยายให้ดูกันชัด ๆ สปีดต่ำภาพก็ยังคม

วิดีโอ 4K/60p ไม่ครอป ถ่ายได้นานกว่าเดิม

มาถึงด้านวิดีโอกันบ้าง แม้ว่า EOS R6 ตัวก่อนบันทึกวิดีโอได้ 4K/60p แต่มีครอปเล็กน้อย รอบนี้ไม่มีครอปแล้วนะครับ 4K/60p เต็มเซนเซอร์ได้เลย แถม oversampled มาจาก 6K ได้คุณภาพแบบเต็ม ๆ แถมถ่ายได้ยาวนานสูงสุด 40 นาที ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็น APS-C Mode จะลากยาวได้มากขึ้นเป็น 50 นาที

ส่วนใครที่อยากถ่ายยาว ๆ ไม่ต้องการเฟรมเรตสูง ๆ ที่ 4K/30p และ 4K/24p สามารถบันทึกได้แบบไม่จำกัดเวลาครับ ด้าน FHD ทำได้สูงสุด 180p สำหรับเอาไปทำ slow-motion (รุ่นก่อนได้แค่ FHD 120p) และแน่นอนว่ามีโพรไฟล์สี HDR PQ และ C-LOG 3 10-bit สำหรับใครที่จะเอาไปเกรดสีต่อมาให้ด้วยครับ อีกทั้งยังรองรับการบันทึก ProRes RAW ได้สูงสุดถึง 6K ผ่าน external recorder อย่าง Atomos

ฟีเจอร์ด้านวิดีโอยังไม่หมดเท่านั้น แต่เขายังเพิ่มมาให้แบบจุก ๆ ทั้ง Zebra, False Color สำหรับเช็กแสงอย่างละเอียดในเฟรมภาพ และ Focus breathing correction แต่ฟีเจอร์นี้จะมีการครอปภาพเพิ่มเพื่อแก้อาการ focus breathing และยังรองรับแค่เลนส์บางรุ่นเท่านั้นครับ ปัจจุบันได้แก่

  • RF 24mm F1.8 MACRO IS STM
  • RF 15-30mm F4.5-6.3 IS STM
  • RF 14-35mm F4L IS USM
  • RF 15-35mm F2.8L IS USM
  • RF 24-70mm F2.8L IS USM
  • RF 70-200mm F4L IS USM
  • RF 70-200mm F2.8L IS USM

ข้อสังเกต: 1. Focus breathing correction จำเป็นต้องอัปเดตเฟิร์มแวร์เลนส์เพื่อให้รองรับกับฟีเจอร์นี้ด้วยนะครับ
2. วิดีโอไม่มี All-i บันทึกได้แบบ IPB เท่านั้น

แบตเตอรี่กับการใช้งานใน 1 วัน

แบตเตอรี่ในรุ่นนี้ยังคงเป็นรหัส LP-E6NH ที่ให้ความจุมาสูงถึง 2,130mAh เช่นเดียวกับรุ่น  EOS R5EOS R6 รองรับการชาร์จไฟผ่านพอร์ต USB-C จากที่ใช้งานภาพนิ่งคือถ่ายได้หลัก 800 ภาพ++ แบตลดไปแค่ 2 ขีดเท่านั้นครับ จากชาร์จเต็ม 4 ขีด

ก็ถือว่าใช้งานใน 1 วันได้แบบสบาย ๆ (ผู้เขียนอุตส่าห์ไปหาแบตมาเพิ่มอีกก้อนแต่ไม่เคยได้ใช้เลย) หรือถ้าถ่ายวิดีโอด้วยก็อาจจะมีแบตสำรองเพิ่มอีกสักก้อน 2 ก้อนเพื่อความอุ่นใจ ส่วนใครที่คิดว่าจะเสียบชาร์จผ่าน Type-C พวก power bank ก็ต้องรองรับ PD (Power Delivery) ด้วยนะครับ ไม่งั้นชาร์จไม่เข้านะ

Digital Tele Converter สูงสุด 4 เท่า ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์!

ฟีเจอร์ที่ทำให้คนฮือฮา และไม่พูดถึงไม่ได้คงต้องนี่เลยครับ Digital Tele Converter ที่ซูมภาพให้ได้ตั้งแต่ 2.0x – 4.0x โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ แถมได้ความละเอียดเท่าเดิมที่ 24 ล้านพิกเซล ซึ่งจะใช้งานโหมดนี้ได้ก็ต่อเมื่อถ่ายเป็น JPEG เท่านั้นครับ ใช้งานได้สะดวกมาก ๆ ถ้าแสงดีนี่คือโอเคเลยนะ เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานขึ้นเยอะเลย

จากภาพ Gif ข้างล่างติดกับเลนส์ระยะ 85mm พอใช้ฟีเจอร์นี้ก็จะได้ระยะออกมา 340mm พกเลนส์ตัวเดียวก็เปรี้ยวได้ กลายเป็นกล้องซูมโหดไปในทันที ลองดูจากดีเทลได้เลยครับว่าน่าประทับใจแค่ไหน

ภาพผลงาน

แน่นอนว่ามีเลนส์ระดับ F1.2 อยู่กันครบถึง 2 ตัว RF 50mm F1.2L USM, RF 85mm F1.2L USM ก็ต้องเอาไปถ่าย Portrait ใช่ไหมล่ะครับถึงจะคุ้ม เพราะฉนั้นรีวิวครั้งนี้ขออนุญาตเน้นหนักไปที่ภาพบุคคลเป็นหลักนะครับ โทนสี skintone ค่ายนี้เขาแจ่มจริง ๆ ติดใจเลย

EOS R6 Mark II + RF 50mm F1.2L USM
EOS R6 Mark II + RF 85mm F1.2L USM DS
EOS R6 Mark II + RF 85mm F1.2L USM DS
EOS R6 Mark II + RF 50mm F1.2L USM
EOS R6 Mark II + RF 50mm F1.2L USM

ปิดด้วยภาพนางแบบคนสุดท้าย ‘น้องไมโล’ ที่ดัน ISO ไปถึง 3200-5000 แต่ก็ยังให้ภาพที่เก็บดีเทลได้ดี มีความใสอยู่เช่นเดิม แม้อาจจะทำได้ด้อยกว่า R6 ตัวเดิม (นิดเดียว นิดเดียวจริง ๆ) จากเหตุผลจำนวนพิกเซลมากขึ้น ขนาดพิกเซลก็ต้องเล็กลง แต่ขนาดนี้ก็ยังน่าประทับใจเช่นเดิมครับ

EOS R6 Mark II + RF 50mm F1.2L USM @ISO 5000
ขยาย ISO 5000 ให้ดูกันชัด ๆ

สรุป

จากที่ผู้เขียนได้ใช้งาน Canon EOS R6 Mark II อย่างหนักหน่วงถึง 7 วันเต็ม ๆ ต้องบอกว่ายังคงประทับใจจนไม่อยากส่งกล้องคืนเลยครับ (ฮา) ด้วยเซนเซอร์ใหม่ที่ละเอียดมากขึ้น โฟกัสอันชาญฉลาด ยิงรัวได้ถึง 40fps ไหนจะฟีเจอร์วิดีโอที่ใส่เพิ่มเข้ามาใหม่ แถม 4K/60p ไม่ครอปอีก เรียกว่าทำได้หมดทั้งสายภาพนิ่ง และวิดีโอ

ซึ่งข้อดีของ Canon สำหรับผู้เขียนคงเป็นเนื้อไฟล์ที่ถ่ายคนสวยนี่ล่ะครับ ทำโทนง่าย สาว ๆ ชอบ ประกอบร่างกับเลนส์ F1.2 กลายเป็นอาวุธทำลายล้างที่ยิ่งใช้ยิ่งมีความสุข

เอาล่ะครับเรามาพูดถึงเรื่องราคา Canon EOS R6 Mark II มีราคาค่าตัวเฉพาะบอดี้อยู่ที่ 96,990 บาท ซึ่งถ้าถามว่าเหมาะกับใครก็คงเป็นเหล่า Hybrid Shooter ที่อยากได้กล้องฟูลเฟรมมิเรอร์เลสที่ครบ ๆ สักตัวหนึ่ง

ก่อนจะจากกันไป ต้องขอขอบคุณทาง Canon Thailand ที่ส่งกล้อง EOS R6 Mark II มาให้เรารีวิวในครั้งนี้ด้วยครับ 🙏

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง