รีวิว KEF Mu7 หูฟังครอบศีรษะไร้สายรุ่นแรกจากแบรนด์อังกฤษ
ถ้าพูดถึง KEF สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือลำโพงนะครับ เพราะแบรนด์เก่าแก่จากอังกฤษนี้ทำลำโพงมานานกว่า 60 ปีแล้ว มีเทคโนโลยีเจ๋ง ๆ เกี่ยวกับลำโพงมากมาย อย่าง Uni-Q หรือ Uni-Core ซึ่งเมื่อ KEF กระโดดมาสู่ตลาดหูฟังไร้สายบ้างจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยผลิตภัณฑ์ชุดแรกคือ KEF Mu3 หูฟังไร้สายขนาดเล็กแบบ TWS และ KEF Mu7 หูฟังครอบศีรษะรุ่นแรกที่เราจะรีวิวเจาะลึกกันครับ
รีวิวนี้มีอะไรบ้าง
ดีไซน์ของ KEF Mu7
หูฟังรุ่นนี้ออกแบบโดย Ross Lovegrove นักออกแบบอุตสาหกรรมชื่อดังชาวอังกฤษ ซึ่งเคยร่วมงานกับ KEF ในการออกแบบลำโพงพกพารุ่น MUO และลำโพงชุดใหญ่ระดับ Audiophile อย่าง KEF MUON มาแล้ว ซึ่งอัตลักษณ์ในงานออกแบบของ Lovegrove คือเส้นสายโค้งเว้า ให้ความรู้สึกนุ่มลื่นไหล ดูออร์แกนิค ซึ่งใน KEF Mu7 ก็ได้เอกลักษณ์เหล่านี้มาเช่นกัน โดยเฉพาะความ “บุ๋ม” ของพื้นผิวบริเวณแป้นครอบหูทั้ง 2 ข้าง รวมถึงเคสแข็งที่มาในชุดก็มีลักษณะการออกแบบที่ “บุ๋ม” ลงไปตรงจุดกลางเช่นกัน ทำให้เกิดเส้นสายที่อ่อนไหว เป็นหูฟังดูมน ๆ แปลกตา
วัสดุหลักของหูฟังรุ่นนี้เป็นพลาสติกนะครับ มีตัวก้านด้านในตรงที่คาดศีรษะที่เป็นโลหะเพื่อให้ยืดหยุ่นเกาะหัวได้ ส่วนแป้นหูฟังนั้นทำจาก Memory Form หุ้มด้วยหนัง ซึ่งไม่มีข้อมูลระบุว่าเป็นหนังชนิดใด ก็คาดว่าจะเป็นหนังสังเคราะห์ (ซึ่งในหน้าเว็บของ KEF ก็มีอะไหล่แป้นหูฟังตัวนี้ขายด้วยครับ) นอกจากนี้บริเวณก้านคาดด้านบนก็เป็นหนังแบบเดียวกันครับ
ส่วนเคสแข็งของ KEF Mu7 ที่มาพร้อมกันนั้นก็ให้ความรู้สึกแข็งแรงใช้ได้เลย เชื่อได้ว่าใส่ในกระเป๋าแน่นก็ยังช่วยปกป้องหูฟังของเราได้ ภายในเคสก็จะมีช่องเก็บของที่อยู่ด้านหลังลายเซ็นของ Lovegrove ซึ่งประกอบไปด้วย
- สายชาร์จแบบ USB-A ไป USB-C
- สาย AUX 3.5 mm สำหรับการใช้งานแบบมีสาย
- อแดปเดอร์ 3.5 mm 2 ขั้วสำหรับใช้งานบนเครื่องบิน
โดย KEF Mu7 มี 2 สีให้เลือกคือ Silver Grey ที่เรารีวิวเป็นหลักในครั้งนี้ กับสีที่เข้มขึ้นอย่าง Charcoal Grey
การสวมใส่
KEF Mu7 ออกแบบเรื่องการสวมใส่ได้ดีครับ แป้นหูฟังกว้างใหญ่ครอบทั้งใบหูโดยไม่มีส่วนใดกดทับใบหู น้ำหนักในการกดทับใบหูก็กำลังดี ไม่รู้สึกอึดอัด น้ำหนักของตัวหูฟังก็ไม่มาก ตามสเปกคือ 309 กรัม ทำให้สวมใส่ได้นานโดยไม่ร้อนหูเท่าใดนัก (คือหูฟังแบบ Closed Back แบบนี้เวลาใส่จะร้อนหูอยู่บ้างเป็นเรื่องปกติครับ เพราะเป็นหูฟังแบบปิด)
โดยหูฟังรุ่นนี้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ยาว 40 ชั่วโมง ซึ่งเราก็ใช้งานต่อเนื่องหลายวันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จแต่อย่างใด แล้วสามารถชาร์จด่วน 15 นาทีก็ใช้งานได้ 8 ชั่วโมง
การเชื่อมต่อและการควบคุม
พอร์ตเชื่อมต่อทั้งหมด และการควบคุมทุกอย่างของ KEF Mu7 จะอยู่ที่หูฟังด้านขวา เราสามารถเสียบสาย USB-C ชาร์จได้ แต่ระหว่างชาร์จจะไม่สามารถใช้หูฟังได้ แล้วก็เสียบสาย AUX 3.5 mm เพื่อใช้งานแบบมีสายได้ ใช้ได้ต่อเนื่องได้แม้ว่าแบตเตอรี่ของหูฟังจะหมด แต่สาย 3.5 mm นั้นเป็นแบบที่ใช้ฟังอย่างเดียวครับ ไม่มีการส่งสัญญาณไมโครโฟนกลับไปยังอุปกรณ์นะครับ แล้วเมื่อเสียบสาย 3.5 mm เข้าหูฟังตอนที่เปิดหูฟังอยู่ จะไม่สามารถกดปิดหูฟังได้นะครับ แต่สามารถกด ANC เพื่อเปลี่ยนโหมดการตัดเสียงได้ แล้วเมื่อถอดสาย หูฟังก็จะปิดเอง
ส่วนการควบคุมจะเริ่มตั้งแต่แป้นสัมผัสตรงบริเวณที่บุ๋ม ๆ ของหูฟังด้านขวา
ระหว่างฟังเพลง | ระหว่างคุยสาย | |
---|---|---|
แตะ 1 ครั้ง | เล่นเพลง/หยุดเพลง | รับสาย/จบสาย |
ปัดขึ้น/ปัดขึ้นแล้วแตะค้าง | เร่งเสียง | เร่งเสียง |
ปัดลง/ปัดลงแล้วแตะค้าง | ลดเสียง | ลดเสียง |
ปัดไปข้างหน้า | เปลี่ยนเพลง | ปฏิเสธสาย |
ปัดไปข้างหลัง | เล่นเพลงเดิม | ปฏิเสธสาย |
แตะค้าง | เรียกผู้ช่วยอัจฉริยะจากสมาร์ตโฟน | ปิดเสียง/เปิดเสียง |
นอกจากนั้นยังมีปุ่มให้กดอีก 3 ปุ่มดังนี้
- ปุ่ม Power กดค้างเพื่อเปิด-ปิดหูฟัง
- ปุ่ม Bluetooth กดค้างจนไฟ LED ขึ้นเป็นสีน้ำเงินกระพริบเพื่อเชื่อมอุปกรณ์ โดยสามารถเชื่อมต่อได้ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน
- ปุ่ม ANC กดเพื่อเปลี่ยนโหมดตัดเสียงรบกวนภายนอก โดยเลือกได้ 3 โหมดคือ
- ANC On เปิดใช้การตัดเสียงรบกวนเต็มที่
- Smart ANC โหมดตัดเสียงรบกวนจะปรับระดับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ
- ANC Off ปิดการใช้โหมดตัดเสียง
KEF Mu7 นั้นไม่มีความสามารถในการหยุดเพลง-เล่นเพลงอัตโนมัติเมื่อถอดหรือใส่หูฟังกลับมาที่หูนะครับ นอกจากนี้ KEF Mu7 ยังไม่มีแอปมาสนับสนุนการทำงาน ทำให้การควบคุมทั้งหมดต้องทำผ่านหูฟัง ไม่สามารถกดจากในสมาร์ตโฟนได้ ปรับ EQ ไม่ได้ ปรับลักษณะเสียงตามตำแหน่งการใช้งานไม่ได้ และเท่าที่รู้ตอนนี้คือยังไม่มีการอัปเดต Firmware หูฟังด้วยตัวเองครับ
แต่สิ่งที่ชอบคือหูฟังตัวนี้มีการรายงานสถานะการทำงานด้วยเสียงที่ชัดเจน และเป็นเสียงที่น่าฟังด้วย เช่นเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์แรกหูฟังจะพูดว่า “Device 1 is connected” หรือเปลี่ยนโหมด ANC จะพูดว่า ANC, Smart ANC, ANC Off หรือเวลาแบตอ่อนจะพูดว่า “Power low, please charge” ทั้งหมดนี้เป็นเสียงผู้หญิงสำเนียงอังกฤษที่ฟังแล้วรู้สึกไฮคลาสครับ
เสียงของ KEF Mu7
สเปกด้านเสียงของ KEF Mu7 นั้นน่าสนใจครับ ตัวหูฟังแต่ละข้างนั้นมีไดร์เวอร์ขนาด 40 mm ตอบสนองความถี่ 20-20,000 Hz รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.1 พร้อมรองรับ Codec เสียง SBC, AAC, aptX, aptX HD แต่สังเกตว่ายังไม่รองรับ aptX Adaptive รูปแบบการส่งสัญญาณเสียงตัวล่าสุดของค่าย Qualcomm นะครับ ซึ่งเวลาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์แอปเปิ้ลก็จะใช้ได้สูงสุดที่ AAC ส่วนถ้าต่อกับ Android ก็จะใช้ได้สูงสุดเป็น aptX HD ครับ
แล้วเสียงของ KEF Mu7 เป็นยังไง ก็ไม่เสียชื่อชั้นของผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอนด์มายาวนานครับ
- เสียงเบส: หนักแน่น มีรายละเอียด ไม่หนาเกินไป ไม่บวมจนล้น เป็นเบสที่ผู้ฟังจะรักได้ไม่ยาก
- เสียงกลาง-สูง: ให้เสียงร้องได้ใสเคลียร์ เสียงแหลมมีประกาย ให้อิมเมจชัดเจน แต่ไม่ได้แหลมจนเสียดหู
- เวทีเสียง: มิติเสียงกว้างขวาง ฟังยาว ๆ แล้วเพลิน ไม่อึดอัด
เราอาจจำกัดความเสียงของ KEF Mu7 ที่แตกต่างจากหูฟังทั่วไปคือเป็นเสียงแบบอุ่น ๆ ให้เสียงหวานแบบเครื่องเสียงแอนะล็อก ทั้งที่หูฟังทั้งระบบเป็นดิจิทัลครับ ก็ถ้าใครชอบเสียงลักษณะนี้ก็คุ้มค่าที่จะลงทุนแล้ว
การตัดเสียงรบกวน
KEF Mu7 สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีเลย ถือว่าตัดเสียงรบกวนได้เงียบกว่า AirPods Max และ Sennheiser MOMENTUM 4 อยู่นิดหน่อย โดยเฉพาะเสียงหึ่มจากมอเตอร์ที่ลดลงได้เยอะกว่าเพื่อน เพียงแต่ว่า Mu7 เป็นรุ่นเดียวที่ไม่สามารถเปิดเสียงภายนอกเข้ามาได้ หรือไม่มีโหมด Transparency ซึ่งเราอาจใช้โหมด ANC Off เพื่อให้ได้ยินเสียงภายนอกเพิ่มได้ แต่ก็ไม่เยอะครับ ถ้าต้องการฟังเสียงภายนอกชัด ๆ ก็ควรถอดหูฟังออกจากหูเลย
คุณภาพไมโครโฟน
เราเชื่อมต่อหูฟัง 3 ตัวคือ KEF Mu7, Sennheiser MOMENTUM 4 และ Apple AirPods Max เข้ากับไอโฟนเครื่องเดียวกัน และเปิดเสียงรบกวนคลิปเดียวกันจาก Youtube เป็นเสียงพื้นหลัง และบันทึกเสียงผ่านแอป Voice Memo มาให้ฟังกันครับ
ซึ่งลองฟังด้วยหูตัวเองได้ครับ ว่าไมค์จากหูฟังแต่ละรุ่นนั้นให้เสียงต่างกันอย่างไรบ้าง
เทียบกับหูฟังรุ่นอื่น ๆ
KEF Mu7 vs Sennheiser MOMENTUM 4
ต้องเข้าใจว่า Mu7 เป็นหูฟังไร้สายรุ่นแรกของ KEF ที่โฟกัสพัฒนาด้านคุณภาพเสียงก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องความฉลาดของหูฟังจึงเทียบกับ MOMENTUM 4 ได้ยาก คือถ้าเทียบกับฝั่ง Sennheiser แล้ว KEF จะด้อยกว่าในเรื่องแอป ทำให้ไม่สามารถจูนเสียงหรือปรับ EQ ให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนได้ ไม่สามารถปรับเสียงตามตำแหน่งการใช้งานได้ รวมถึงยังไม่สามารถเปิดเสียงภายนอกเข้ามาในหูฟังได้ และไม่รองรับ aptX Adaptive นอกจากนี้ MOMENTUM 4 ยังรองรับการเชื่อมอุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัวแบบที่ Mu7 ทำได้เช่นกันครับ
ส่วนเรื่องเสียง เนื่องจากเป็นหูฟังไร้สายตัวท็อปทั้งคู่ จึงให้คุณภาพเสียงที่ดีทั้งคู่ แต่เป็นเสียงคนละสไตล์ครับ หลัก ๆ คือ KEF Mu7 ให้เสียงที่อบอุ่น ฟังสบายหู เบสกำลังสวย เข้ากันได้กับเพลงทุกแนว ส่วน MOMENTUM 4 ในค่ามาตรฐาน เสียง Flat จะให้เสียงเบสที่เยอะกว่า ทำให้เสียงหนากว่า บางเพลงก็ทำให้ได้ยินไลน์เบสชัดเจน ฟังสนุก แต่บางเพลงก็ทำให้อึดอัดนิดหน่อย ซึ่งถ้าไม่ชอบ Sennheiser ก็มีระบบปรับแต่งเสียงที่จูนให้ถูกใจได้ในแอปครับ
ซึ่งราคาของ Sennheiser MOMENTUM 4 อยู่ที่ 12,990 บาทครับ (อ่านรีวิวละเอียดที่นี่)
KEF Mu7 vs Apple AirPods Max
เราคงไม่ต้องพูดถึงการควบคุมของ AirPods Max ที่เวลาใช้ร่วมกับระบบของแอปเปิ้ลจะเหมือนโกงคนอื่น เพราะสามารถสลับอุปกรณ์ไปมาได้เอง ตามอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ใช้อยู่ (แต่ตรงนี้ Mu7 ก็สามารถเชื่อมอุปกรณ์ได้พร้อมกัน 2 ตัว ทำให้การสลับใช้ไม่ลำบากนะ) แถมปรับระบบการตัดเสียงหรือดึงเสียงภายนอกได้จากระบบโดยไม่ต้องลงแอปเสริม และยังสามารถให้เสียงรอบทิศทางเหมือนเวลาดูหนังโรงได้ด้วย ซึ่งเป็นหูฟังไม่กี่รุ่นที่มีความสามารถแบบนี้
ส่วนเสียงของ AirPods Max นั้นเป็นเสียงที่ Flat ยิ่งกว่า MOMENTUM 4 ไปอีกครับ เป็นเสียงเรียบ ๆ แบน ๆ ความโปร่งของเสียงจึงสู้ Mu7 ไม่ได้ พูดอีกแบบคือ KEF Mu7 ให้เสียงที่มีไดนามิกและน่าจะทำให้ผู้ฟังเพลิดเพลินกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเสียงของหูฟังทั้ง 2 ตัวนี้ดีทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ฟังแล้ว
ซี่งราคาของ Apple AirPods Max อยู่ที่ 19,900 บาท
สรุปและราคาของ KEF Mu7
KEF Mu7 นั้นเปิดตัวในไทยด้วยราคา 17,900 บาท ก็เป็นราคาของหูฟังไร้สายในกลุ่มพรีเมี่ยมเลย แล้วราคานี้คุ้มไหม ก็อาจพูดได้ 2 แง่ คือถ้าคุณเป็นคนรักเสียงเพลง แล้วชอบแนวเสียงของ KEF Mu7 ที่เป็นเอกลักษณ์ มันก็คุ้มครับ ซื้อมาฟังเพลงให้มีความสุข เงินซื้อความสุขได้ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้หูฟังแบบอเนกประสงค์ ต้องการใส่หูฟังเดินทางในเมือง ซึ่งการดึงเสียงภายนอกเป็นเรื่องสำคัญ หรือต้องการหูฟังที่ปรับแต่งเสียงได้ อาจจะต้องลองตัวจริงอีกทีว่าโอเคกับข้อจำกัดเหล่านี้หรือไม่ครับ