รีวิว Sennheiser MOMENTUM 4 หูฟังแบบครอบที่ลงตัว พร้อมรีวิว BTD 600 จุ๊บบลูทูธคุณภาพสูง
Sennheiser MOMENTUM 4 Wireless เป็นหูฟังแบบครอบหูไร้สายตัวท็อปสุด รุ่นล่าสุดจากค่ายเยอรมัน (ที่ตอนนี้เจ้าของใหม่คือ Sonova เป็นสวิตเซอร์แลนด์แล้ว) ที่เราคิดว่าทำออกมาได้ลงตัวที่สุดรุ่นหนึ่ง ทั้งเรื่องดีไซน์ วัสดุ คุณภาพเสียง ฟีเจอร์พิเศษ และระยะเวลาการใช้งาน เพราะเมื่อคุณใช้ MOMENTUM 4 คุณจะลืมไปเลยว่าชาร์จเมื่อไหร่ เพราะอายุแบตเตอรี่ 60 ชั่วโมงมันยาวนานมาก จนลืมไปเลยว่ามันเปิด-ปิดยังไง เพราะเอาออกจากเคสมันก็พร้อมใช้ แล้วเก็บเข้าเคสมันก็พักตัวเองอัตโนมัติแล้ว!
แต่บทความนี้เราไม่ได้รีวิวหูฟังอย่างเดียว เรารีวิวตัว Sennheiser BTD 600 อุปกรณ์เสริมที่ทำให้เสียงผ่าน Bluetooth จากอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปที่หูฟังดีขึ้น เพราะใช้ Codec เป็น aptX Adaptive ครับ
เรารีวิวอะไรบ้าง
ดีไซน์ของ Sennheiser MOMENTUM 4
ดีไซน์ของรุ่น 4 นี้ปรับปรุงจาก MOMENTUM 3 ที่เราเคยรีวิว ไปหลายจุดนะครับ จุดที่เราชอบที่สุดคือการใช้วัสดุแบบผ้ามาหุ้มก้านของหูฟังเอาไว้ ซึ่งเป็นลักษณะแบบเดียวกับเคสของหูฟัง MOMENTUM True Wireless 3 ที่เราเคยรีวิว ก็ทำให้มีเอกลักษณ์ของหูฟังไลน์ MOMENTUM ที่นับเป็นตระกูลหูฟังไร้สายตัวท็อปของ Sennheiser ชัดเจนขึ้น แล้วดีไซน์นี้ยังทำให้ดูเป็นหูฟังที่เรียบหรูดูดี มีเอกลักษณ์ต่างจากหูฟังแบรนด์อื่น ๆ ด้วยครับ
ส่วนตัวแป้นหูฟังนั้นไม่ระบุวัสดุ เราคิดว่าน่าจะเป็นหนังสังเคราะห์แล้วด้านในเป็น Memory Foam ซึ่งให้สัมผัสการใส่ที่นุ่มสบายมาก สามารถฟังเพลงต่อเนื่องได้ยาวนานหลายชั่วโมงโดยไม่เจ็บหู และมีขนาดใหญ่พอที่จะครอบไปทั้งหู ไม่ได้กดทับบนใบหู และแป้นหูฟังนี้สามารถซื้ออะไหล่จาก Sennheiser มาเปลี่ยนได้ถ้ามีปัญหาครับ
โดย Sennheiser MOMENTUM 4 นั้นมีให้เลือกซื้อกัน 2 สีคือ สีดำ หล่อเข้ม และ สีขาว ซึ่งมีแป้นหูฟังและที่คาดหัวสีเทา ๆ ซึ่งสวยงามดูดีทั้ง 2 สี
ส่วนอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่องก็จัดเต็มมากครับ คือมีสายชาร์จ USB-A to USB-C มาให้ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ด้วย แล้วก็มีสายสัญญาณ 3.5 mm ที่ปลายอีกข้างเป็น 2.5 mm สำหรับเสียบกับหูฟังโดยเฉพาะมาให้ (ใช้สาย 3.5 mm ทั่วไปไม่ได้) แล้วก็มีหัวแปลงแจ็ค 2 หัวที่ใช้บนเครื่องบินให้ใช้กับหูฟังได้ นอกจากนี้ตัวเคสก็เป็นเคสแข็งที่ป้องกันทุกอย่างได้ มั่นใจได้ว่าหูฟังอยู่ในนี้จะไม่พังครับ
หูฟังรุ่นนี้เต็มไปด้วยส่วนประกอบเพื่อฟังก์ชันระดับสูงนะครับ ที่ตัวหูฟังมีไมโครโฟน 4 ตัวสำหรับรับเสียงพูด และอีก 2 ตัวสำหรับตัดเสียงรบกวน ภายในแป้นหูฟังด้านขวายังมีเซนเซอร์ตรวจสอบการสวมใส่เพื่อเล่นหรือหยุดเพลงเอง แล้วมีไฟ LED 5 ดวงเพื่อบอกสถานะการทำงานและแบตเตอรี่ด้วย
การเชื่อมต่อ
Sennheiser MOMENTUM 4 เป็นหูฟังที่รองรับการเชื่อมต่อได้ครอบจักรวาลมากครับ ถือกล่องหูฟังไปชุดเดียวจบเลย เริ่มจากการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth 5.2 รองรับ Codec มาตรฐานคือ SBC ทุกอุปกรณ์ทั้งโลกรองรับ พร้อมรองรับ AAC สำหรับอุปกรณ์แอปเปิ้ล ที่สำคัญคือรองรับ aptX และ aptX Adaptive สำหรับอุปกรณ์ Android ซึ่ง aptX Adaptive คือโค้ดเสียงตัวล่าสุดจากฝั่ง Qualcomm ตอนนี้ที่สามารถให้เสียงในระดับ Hi-Res ได้ และมีการสเกลอัตราการส่งข้อมูลอัตโนมัติ ทำให้เมื่อมีสัญญาณรบกวนเสียงก็ไม่กระตุก (ยกเว้นว่าเยอะมากจริง ๆ จนเอาไม่อยู่)
แต่ปัญหาของ aptX Adaptive คืออุปกรณ์รองรับยังไม่เยอะครับ มือถือ Android ส่วนใหญ่ใช้ได้แค่ aptX เท่านั้น (ส่วน iPhone เลิกพูด มันรองรับแค่ SBC/AAC เท่านั้น) แต่ถ้าคุณซื้อเจ้า BTD 600 หรือได้แถมมาด้วยตอนซื้อหูฟังมันก็จะเปลี่ยนอุปกรณ์แทบทุกตัวที่ต่อ USB ได้ ให้รองรับ aptX Adaptive ทำให้ได้เสียงไร้สายคุณภาพสูงสุดที่ MOMENTUM 4 จะให้ได้ครับ
นอกจากนี้หูฟังรุ่นนี้ยังรองรับ Multipoint คือสามารถเชื่อมต่อไร้สายกับอุปกรณ์ได้ 2 ตัว เช่นเชื่อมต่อมือถือไปพร้อมกับคอมพิวเตอร์ เวลาฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ แล้วสลับไปรับโทรศัพท์ก็จะทำได้ทันทีโดยไม่ต้องตัดการเชื่อมต่อใหม่ ซึ่งหูฟังสามารถจดจำอุปกรณ์ที่เคยเชื่อมต่อได้ 6 ตัวเพื่อสลับการเชื่อมต่อไปมา และสามารถลบอุปกรณ์ที่ไม่เชื่อมต่อแล้วผ่านแอป Smart Control ในมือถือได้
ส่วนการเชื่อมต่อด้วยสาย AUX 3.5 mm สำหรับการต่ออุปกรณ์ทั่วไป สามารถใช้งานได้แม้ตอนไม่ได้เปิดหูฟัง หรือแบตหมด เพียงแต่ว่าเสียงจะแย่ลงมากครับ แนะนำว่าถึงจะต่อสาย 3.5 mm ก็ควรเปิดหูฟังไปด้วยอยู่ดี
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อด้วยสาย USB เพื่อส่งข้อมูลดิจิทัลเข้าสู่หูฟังโดยตรงได้เลย ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ให้เสียงดีตามต้นฉบับ และสามารถชาร์จหูฟังไปพร้อมการฟังเพลงได้ด้วย
การควบคุมหูฟัง
การควบคุม Sennheiser MOMENTUM 4 นั้นค่อนข้างซับซ้อนเพราะฟังก์ชันในหูฟังเยอะครับ ที่ตัวหูฟังมีปุ่มเพียงปุ่มเดียวเท่านั้นที่กดได้จริง ๆ คือ Multi-function button ที่อยู่ที่หูฟังด้านขวาครับ
- กดค้าง 3 วินาที เพื่อเปิด-ปิดหูฟังด้วยตัวเอง
- กดค้าง 5 วินาที เพื่อเชื่อมต่อ Bluetooth กับอุปกรณ์ใหม่
- กดค้าง 20 วินาที เพื่อรีเซ็ตหูฟัง
- กด 1 ครั้ง เรียกผู้ช่วยอัจฉริยะจากมือถือ
- กด 1 ครั้งระหว่างโทร ปิด-เปิดไมค์ (Mute)
- กด 2 ครั้ง เพื่อดูแบตเตอรี่เหลือที่ไฟของหูฟัง และหูฟังจะพูดบอกเราด้วยว่าเหลือแบตเท่าไหร่
- กด 5 ครั้ง เพื่อปิด-เปิด Bluetooth (Flight Mode)
ซึ่งคนที่ใช้หูฟังรุ่นนี้จะไม่ค่อยได้กดปิดหูฟังกันหรอกครับ เพราะเมื่อเอาหูฟังเก็บลงเคส มันก็จะปิดเอง แล้วเอาออกจากเคสมันก็จะเปิดพร้อมใช้งานทันที ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่สะดวกมาก แถมแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้ยาวนาน 60 ชั่วโมง ใช้กันจนลืมว่าชาร์จหูฟังเมื่อไหร่
ส่วนการทำงานอื่น ๆ จะสั่งงานผ่านการแตะไปมาที่แป้นหูฟังด้านขวาครับ
เวลาฟังเพลง | เวลาคุยโทรศัพท์ | |
---|---|---|
แตะ 1 ครั้ง | เล่นเพลง / หยุดเพลง | – |
แตะ 2 ครั้ง | ตัดเสียงรบกวน / เปิดเสียงภายนอก | Hold สาย / สลับสาย |
แตะแล้วลากไปข้างหน้า | เปลี่ยนเพลง | รับสายเรียกเข้า |
แตะแล้วลากไปข้างหลัง | ย้อนเพลง | วางสาย |
แตะแล้วดันขึ้น | เร่งเสียง | เร่งเสียง |
แตะแล้วดันลง | ลดเสียง | ลดเสียง |
แตะค้างไว้ 2 วินาที | – | ปฏิเสธสาย |
แตะแล้วจีบ 2 นิ้วเข้าหา | เพิ่มระดับการตัดเสียงภายนอก | – |
แตะแล้วถ่าง 2 นิ้วออก | ลดระดับตัดเสียง เพิ่มการดึงเสียงภายนอก |
การแตะ 2 ครั้งเพื่อเข้าสู่โหมด Transparency เพื่อดึงเสียงภายนอก ค่ามาตรฐานจะหยุดเพลงด้วย เพื่อให้เราฟังเสียงได้ชัด แต่ก็สามารถปรับได้ในแอป Smart Control เพื่อให้เพลงยังเล่นต่อได้
ส่วนการจีบ 2 นิ้วเพื่อปรับระดับ ANC และการถ่าง 2 นิ้วเพื่อปรับระดับ Transparency นั้นจะไม่ทำงานถ้าเราเปิดโหมด ANC ในแอป Smart Control เป็น Adaptive ที่หูฟังจะปรับระดับอัตโนมัติครับ ซึ่งปกติเราก็ใช้โหมด Adaptive นี่แหละ จะได้ไม่ต้องวุ่นวายกับการจูนระบบ แล้วถ้าต้องการได้ยินเสียงภายนอกก็ใช้การแตะ 2 ครั้งไปเลย
การควบคุมผ่านแอป Smart Control
เรายังสามารถควบคุมหูฟังผ่านแอป Sennheiser Smart Control ได้อีกเพียบครับ ที่เล่าไปแล้วก็สามารถจัดการรายชื่ออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ หรือปรับแต่งโหมด ANC / Transparency ผ่านแอปได้ รวมถึงสามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังสามารถปรับ EQ ได้อีก 3 Band กดเพิ่ม Bass หรือปรับโหมดพิเศษสำหรับฟัง Podcast โดยเฉพาะก็ได้ พร้อมฟีเจอร์ Sound Check ที่ให้เราเล่นเพลงที่เราชอบไปเรื่อย ๆ แล้วเลือกแบบเสียงที่เราชอบไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายจะได้ EQ แบบที่เราชอบ แล้วถ้าอัปเกรดหูฟังเป็นเฟิร์มแวร์ 2.13.18 ขึ้นไป จะสามารถปรับ EQ ได้เป็น 5 Band และสามารถปรับเสียงให้ละเอียดตรงใจมากขึ้น แถมยังมีโหมด High Resolution ให้เสียงมีความละเอียดมากขึ้น แถมสามารถยกเลิกการสั่งงานด้วยการสัมผัสที่ตัวหูฟังก็ได้
ส่วนใครที่ใส่หูฟังกันตลอดเวลาก็สามารถปรับพื้นที่การทำงานของหูฟังได้ในหมวด Sound Zone ที่จะใช้ GPS ของโทรศัพท์ในการระบุว่าเรากำลังใช้หูฟังอยู่ที่ไหน เช่นฟังที่ทำงานจะตัดเสียงรอบข้างเต็มที่ เพื่อมีสมาธิทำงาน หรืออยู่บ้านจะต้องเปิดเสียงภายนอกเพื่อให้ได้ยินเสียงคนในบ้าน ก็ตั้งให้หูฟังทำงานอัตโนมัติได้
แล้วยังตั้งค่า Side-Tone หรือเวลาสนทนาให้หูฟังดูดเสียงของเรามาให้ได้ยินนิดหน่อย เพื่อให้รู้สึกเหมือนการพูดปกติเวลาไม่ใส่หูฟัง (ซึ่งมันดีมาก หูฟังที่ไม่มีฟังก์ชันนี้ เวลาพูดจะเหมือนพูดในอวกาศ พูดแล้วหายไป ไม่ได้ยินเสียงตัวเอง) แล้วยังมีตัวเลือก Comfort Call ปรับเสียงให้เหมาะสำหรับการคุยสนทนาด้วย แล้วยังตั้งค่าให้หูฟังหยุดเล่นเพลงเองเมื่อถอดหูฟัง หรือตั้งเวลาดับหูฟังเองก็ได้
เสียงของ Sennheiser MOMENTUM 4
หูฟังรุ่นนี้ใช้ไดรเวอร์ขนาด 42 mm นะครับ ซึ่งก็ให้เสียงได้สะอาดเรียบร้อย เสียงไม่อึดอัด ฟังได้ยาวนานไม่เหนื่อยล้าหู
- เสียงเบส: ไม่ได้เป็นหูฟังที่เน้นเบสจนล้นออกมา เสียงเบสกำลังดี กำลังเติมเพลงให้หนักแน่นแต่ไม่ทำให้อึดอัด เก็บทรงดี ไม่กวนเสียงกลาง
- เสียงกลาง-แหลม: สดใส ถ่ายทอดเสียงร้องได้หวาน เสียงแหลมให้รายละเอียดดี
- เวทีเสียง: โปร่งระดับหนึ่ง รับรู้ตำแหน่งเครื่องดนตรีได้ดี
เสียงมาตรฐานจะให้เสียงค่อนข้าง Flat เสียงธรรมดา ๆ ไม่ได้ติด Color เลย ถ้าต้องการฟังให้สนุกขึ้นก็สามารถปรับ EQ ช่วยได้ครับ
การตัดเสียงรบกวน
ส่วนเรื่องการตัดเสียงรบกวนก็ทำได้ในระดับน่าพอใจ เราทดลองนั่งอยู่ในห้างแล้วเปิดโหมดตัดเสียงรบกวนสูงสุด ก็ลบเสียงบรรยากาศห้างออกไปได้เยอะ ก็จะเหลือแต่เสียงพูดที่ยังลอดเข้ามาได้บ้าง ซึ่งเมื่อเปิดเพลงก็จะเงียบพอที่จะฟังเพลงได้เพลิน ๆ ครับ
ส่วนการดึงเสียงภายนอกก็ทำได้ดี ให้ลักษณะเสียงแยกทิศทางได้คล้ายเวลาไม่ได้ใส่หูฟัง เพียงแต่จะได้ยินเสียงคล้าย ๆ เสียงลมวน ๆ อยู่ในหูบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของหูฟังแบบครอบหู
เทียบกับ Sony WH-1000XM5
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราขอเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกันอย่าง Sony WH-1000XM5 (อ่านรีวิว) โดยเสียงของโซนี่จะหนากว่าชัดเจน สำหรับเพลงที่ไม่ได้เน้นเบส มันก็จะมีเบสเพิ่มขึ้นมาให้ฟังสนุก แต่ถ้าเพลงมีเบสอยู่แล้ว มันจะล้น ๆ มากวนเสียงกลางอยู่บ้าง ส่วนเสียงกลางของโซนี่ ก็ให้เสียงร้องสวย ให้รายละเอียดได้ดี ถ้าเพลงนั้นเบสไม่ได้ขึ้นมากวน
เมื่อเทียบกับ Sennheiser MOMENTUM 4 เลยเป็นเสียงคนละแนวกันเลย เสียง Sennheiser โปร่งกว่า เบสลงแม่น เก็บตัวให้กระแทกลึกและไม่ย้วย ไม่ขึ้นไปรบกวนเสียงกลาง จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้ที่แตกต่างกัน
ส่วนเรื่องการตัดเสียงรบกวน โซนี่ทำได้ดีมาก ระหว่างฟังเพลงแทบไม่ได้ยินอะไรเลย ดีกว่า MOMENTUM 4 ที่ยังได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัวชัดกว่า
ในแง่การสวมใส่นั้น ใส่สบายพอ ๆ กันครับ เพราะเป็นหูฟังเกรดพรีเมี่ยมด้วยกันทั้งคู่ ครอบลงไปได้ทั้งใบหูทั้งคู่ เลยใส่สบายยาวนาน
และความสามารถด้านเทคนิคนั้นจะต่างกันอยู่บ้าง โดยหูฟังโซนี่จะรองรับ Bluetooth Codec เป็น SBC, AAC และ LDAC ของตัวเอง (ซึ่งแพร่หลายใน Android แล้ว) พร้อมเทคโนโลยี DSEE Extreme ช่วยอัปสเกลเสียง ส่วน MOMENTUM 4 รองรับ Codec SBC, AAC และ aptX Adaptive ซึ่งยังไม่ได้แพร่หลายเท่า LDAC ครับ แต่เรื่องแบตเตอรี่ MOMENTUM 4 ที่ใช้งานได้ 60 ชั่วโมงนั้นชนะโซนี่ที่ใช้ได้ 30 ชั่วโมงไปแบบขาดลอยครับ
คุณภาพไมโครโฟน
เราบันทึกเสียงจาก Sennheiser MOMENTUM 4 ผ่าน iPhone มาให้ฟังกันครับ จะเห็นว่าเสียงที่บันทึกออกมาดีใช้ได้เลย ซึ่งเป็นระดับที่สามารถใช้คุยสาย หรือใช้ประชุมงานได้สบาย ๆ
และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจึงบันทึกเสียงจาก Sony WH-1000XM5 ที่อัดในสถานที่เดียวกัน อัดด้วย iPhone เหมือนกันมาให้ฟังด้วย จะเห็นว่าเสียงจากโซนี่ก็ชัดเจนไม่แพ้กัน แต่โทนเสียงที่บันทึกได้จะต่างกัน ซึ่งแล้วก็แต่ชอบแล้วว่าจะชอบโทนไหน
รีวิว Sennheiser BTD 600
อย่างที่เราได้เกริ่นไปว่า aptX Adaptive แม้ว่าจะให้เสียงดี แต่ยังหาอุปกรณ์รองรับไม่ง่ายนักในปัจจุบัน Sennheiser จึงออก Adapter ระดับ Bluetooth 5.2 ตัวใหม่อย่าง BTD 600 ที่เสียบได้ทั้ง USB-C และ USB-A ซึ่งทำให้อุปกรณ์แทบทุกชนิดสามารถส่งเสียงบลูทูธในระดับ aptX Adaptive ได้ ซึ่ง MOMENTUM 4 ก็รองรับเป็นอย่างดี เราจึงมักเห็น MOMENTUM 4 จัดโปรแถมเจ้า BTD 600 อยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าอุปกรณ์ปลายทางไม่รองรับ aptX Adaptive ก็สามารถส่งเสียงในรูปแบบ SBC, aptX หรือ aptX Low Latency ได้ด้วย
รายการอุปกรณ์ที่ BTD 600 รองรับ
แล้ว Sennheiser BTD 600 รองรับอุปกรณ์อะไรบ้าง เท่าที่เราได้ทดสอบจริงคือ
- สมาร์ตโฟน Android น่าจะรองรับทุกรุ่น เสียบ USB-C แล้วใช้ได้เลย ถ้าใช้ไม่ได้ให้ไปดูตัวเลือกประมาณ OTG ในสมาร์ตโฟน เพื่อเปิดใช้งาน
- Windows เสียบแล้วใช้งานได้เลย เลือกอุปกรณ์ที่เสียงออกเป็น BTD 600 ได้เลย
- macOS ก็เสียบแล้วใช้ได้เลยเหมือนกัน เลือกอุปกรณ์ได้เหมือน Windows
- iPad ที่ใช้ USB-C เสียบแล้วใช้ได้ทันที
ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้คือ
- Nintendo Switch เสียบผ่าน USB-C แล้วก็ยังไม่ติด ในขณะที่ Genki Audio ยังทำงานได้ปกติ
- iPhone เราซื้อหัวแปลงจาก Lightning เป็น USB-C มาใช้แล้ว ก็ไม่สามารถทำงานได้ โดย iPhone แจ้งว่า BTD 600 กินไฟมากเกินไป ในขณะที่เราสามารถเสียบ USB-C DAC ให้ทำงานกับหัวแปลงตัวนี้ได้
การใช้งาน BTD 600
ที่ตัวของ BTD 600 จะมีแค่ไฟแสดงสถานะ 2 ดวงกับปุ่มกดเพียงปุ่มเดียวด้านบนเพื่อสั่งงานครับ ซึ่งจะใช้งานควบคู่กัน
- ถ้าต้องการเชื่อมต่อ BTD 600 กับหูฟังคู่ใหม่ ให้ตัดการเชื่อมต่อกับหูฟังเดิมก่อน (เช่นปิดหูฟังเดิมก่อน) แล้วกดปุ่มที่ BTD 600 ค้างไว้ 3 วินาทีจนไฟเปลี่ยนเป็นสีแดง-ขาว-แดง จึงจับหูฟังคู่ใหม่เข้าโหมด Pairing ก็จะเชื่อมกันได้
- ถ้าไม่ได้ใช้งานสักพักหนึ่งเจ้า BTD 600 จะดับเอง ก็แตะที่ปุ่มเพื่อใช้งานใหม่
- ถ้ากดปุ่มของ BTD 600 ระหว่างเล่นเพลง จะเป็นการสลับโหมดการส่งระหว่าง aptX Adaptive กับ SBC ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานสุด ๆ ก็ลองฟังได้ครับว่าเสียงแตกต่างกันขนาดไหน
- โดยถ้าการส่งเป็น aptX Adaptive ไฟที่ BTD 600 จะเป็นสีม่วงอ่อน
- แต่ถ้าเป็น SBC ไฟจะเป็นสีขาว
- นอกจากนี้ยังมีไฟสีม่วงสำหรับบอกสถานะการทำงานร่วมกับ Microsoft Team ด้วย
โดย Sennheiser BTD 600 สามารถจำการเชื่อมต่อได้กับอุปกรณ์แค่ตัวเดียวนะครับ ถ้าสลับไปเชื่อมกับหูฟังตัวใหม่ หูฟังตัวเก่าก็จะเชื่อมอัตโนมัติกับ BTD 600 ไม่ได้แล้ว ก็ต้องจับคู่กันหมด
และ BTD 600 สามารถอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้โดยใช้โปรแกรม Sennheiser Transmitter Updater อัปเดตให้จากคอมพิวเตอร์ครับ
เสียงของ MOMENTUM 4 ผ่าน BTD 600
เราทดสอบโดยเชื่อมต่อ MOMENTUM 4 กับ BTD 600 เป็นการเชื่อมต่อที่ 1 และการเชื่อมต่อที่ 2 ต่อกับ MacBook ตรง ๆ (ใช้ความสามารถ Multipoint เชื่อม 2 อุปกรณ์กับหูฟังตัวเดียว) เพื่อฟังเสียงจากต้นทางแหล่งเดียวกัน แต่สลับตัวกลางส่งข้อมูลไปมา บนหูฟังตัวเดียวกัน โดยแอป Smart Control รายงานว่า การเชื่อมต่อกับ BTD 600 จะใช้ aptX Adaptive ส่วนถ้าเชื่อมต่อตรง ๆ กับ MacBook จะใช้ AAC ตามมาตรฐานแอปเปิ้ลครับ
ผลคือเสียงจากทั้ง 2 ตัวกลางไม่แตกต่างกันมากนัก ถ้าไม่ได้เอามาฟังเปรียบเทียบต่อเนื่องกันแบบนี้น่าจะแยกยาก แต่มันก็มีความต่างอยู่ครับ โดยเสียงที่ผ่าน BTD 600 นั้นจะมีความหนักแน่นมากกว่า เบสมาเต็มกว่า ซึ่งจะรู้สึกได้ชัดเจนกับเพลงที่เบสมีรายละเอียด ทำให้มีบางเพลงก็ฟังแล้วรู้สึกต่างเลย แต่ก็มีบางเพลงที่ฟังไม่ค่อยออกเช่นกัน
สรุปก็คือถ้าอยากให้ MOMENTUM 4 แสดงความสามารถไร้สายออกมาได้ดีที่สุด ให้หาทางเชื่อมต่อแบบ aptX Adaptive ครับ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ การเชื่อมต่อผ่าน AAC ก็ให้เสียงที่โอเค
สรุป Sennheiser MOMENTUM 4 ราชันค่ายเยอรมัน
Sennheiser พัฒนาหูฟังรุ่นนี้ออกมาได้สมบูรณ์มากครับ ทั้งเรื่องเสียงที่ได้มาตรฐาน ให้ผู้ฟังเอาไปปรับแต่งต่อตามใจชอบ ฟีเจอร์สนับสนุนการทำงานที่หลากหลาย และแอปชั้นดีช่วยให้การปรับแต่งทำได้ง่ายขึ้น ซึ่ง Sennheiser MOMENTUM 4 Wireless มีราคา 12,990 บาท ก็ถือเป็นราคาที่แข่งกับหูฟังในกลุ่มพรีเมี่ยมค่ายอื่น ๆ ได้สบาย ๆ เลย