[รีวิว] Nothing Ear (2) – หูฟังรุ่นอัปเกรดจากรุ่นเปิดแบรนด์ ที่ไม่ได้มีดีแค่เท่ (แต่ต้องดูก่อนนะ !)
ทุกคนจำจุดกำเนิดของแบรนด์ ‘Nothing’ (นอตติง) ได้ไหมครับ ? ถ้าใครยังจำกันได้ ก่อนที่ Nothing แบรนด์สมาร์ตโฟนสัญชาติอังกฤษโดยอดีตผู้ก่อตั้ง OnePlus จะได้เปิดตัว และวางขายสมาร์ตโฟน Nothing Phone (1) ของตัวเอง Nothing เคยได้เปิดตัวและวางขายหูฟังของตัวเองที่ทั้งชื่อ และหน้าตาที่แปลกตาว่า Nothing Ear (1) มาก่อน และในที่สุด หูฟังรุ่นนั้นก็ได้เดินทางมาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว กับ Nothing Ear (2) แล้วหูฟังไร้สายรุ่นที่อัปเกรดจากรุ่นบุกเบิกแบรนด์นี้ จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนะ ?
แกะกล่องมาแล้วมีอะไรบ้าง
- หูฟัง Nothing Ear(2) พร้อมเคสชาร์จ Nothing Ear(Case)
- จุกหูฟัง 3 ขนาด (ใส่ขนาดกลางมาให้ในตัวหูฟังแล้ว ดูขนาดได้ใต้ยาง)
- สายชาร์จ USB-C to USB-C แบบถัก
- คู่มือและข้อมูลการรับประกัน
ที่น่าเสียดายก็คือกล่องของหูัฟัง Nothing Ear(2) แกะได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น พอแกะเสร็จก็เก็บกลับมาให้เหมือนเดิมไม่ได้อีก เพราะจะใช้การฉีกกล่องออกไปเลย ถึงแบไต๋เราจะใช้การเอาคัตเตอร์เจาะกล่องแทนเพื่อความสวยงามก็ตาม (ฮา)
ดีไซน์
สิ่งที่ Carl Pei (คาร์ล เป่ย) CEO ของ Nothing ชอบพูดอยู่ตลอดก็คือ แบรนด์ Nothing เป็นแบรนด์ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ชอบในเทคโนโลยี และชอบในดีไซน์ของสินค้าที่ออกมาแต่ละชิ้น ซึ่งนั่นแปลว่า ดีไซน์ของหูฟัง Nothing Ear(2) นั้นถือว่าผ่านการคิดมาอย่างดีอีกชิ้นหนึ่งเลย มีทั้งเคสตัวเครื่องที่มีดีไซน์แบบโปร่งใส เน้นโชว์วงจรภายใน, ด้านในฝาเคสที่มีสลักคำว่า Ear(Case), ไฟแสดงสถานะด้านในที่เห็นได้แม้จะปิดฝาอยู่ (เพราะฝาใส) กับตัวหูฟังที่มีชื่อรุ่น Nothing Ear(2) สลักที่ตัวหูฟัง และดีไซน์หูฟังที่โปร่งใส มีจุดสีขาวหลังไดร์เวอร์ที่แสดงว่านี่คือหูฟังข้างซ้าย และจุดสีแดงที่แสดงว่าเป็นข้างขวา พร้อมช่องใส่หูฟังแต่ละข้างที่มีจุดสีกำกับไว้ให้ แถมยังวางหูฟังในแบบที่แตกต่างกับหลาย ๆ หูฟัง TWS ที่เราเคยเห็นมาอีกต่างหาก
แต่เดี๋ยวนะ หูฟังนี่มันดีไซน์เหมือนกับใน Nothing Ear(1) เลยนี่ !
ถ้าอ่านแค่ย่อหน้าก่อนหน้านั้น ดีไซน์ของ Nothing Ear(2) คงเหมือนกับใน Nothing Ear(1) นั่นแหละ แต่ถ้าเรามองให้ลึกขึ้นจะเห็นความแตกต่างอยู่ เริ่มต้นจากบริเวณตรงกลางของด้านในเคส จากที่เป็นพื้นแบบมีลาย (Texture) เล็กน้อย ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบเรียบแล้ว รวมถึงน้ำหนักตัวหูฟังเองก็ลดลงไปจาก 4.7 กรัม เหลือ 4.5 กรัม และได้ปรับตำแหน่งช่องระบายเสียงต่าง ๆ ออกมาเล็กน้อย รวมถึงขนาดของตัวหูฟังทั้งหมด (รวมเคส) ที่ลดลงด้วย
ซึ่งถ้าใครได้ฟังในคลิปวิดีโอเปิดตัว Nothing Ear(2) แล้วก็จะเห็นเลยว่าที่ Nothing ตัดสินใจทำดีไซน์ Noting Ear(2) ออกมาคล้ายกับรุ่นที่แล้วมาก ก็เพราะอยากให้ตัวหูฟังโดดเด่นมากพอที่แม้จะเห็นแต่เคส ก็จะรู้ได้ว่านี่คือหูฟังของ Nothing โดยไม่ต้องแปะโลโก้แบรนด์ด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าได้ผล เพราะตัวหูฟังไม่ได้มีโลโก้ Nothing ติดอยู่ที่เคสเลย มีแค่โลโก้เล็ก ๆ ไม่โดดเด่นที่ตัวหูฟัง (จุดแดงบอกข้างยังเด่นกว่า) และชื่อบริษัทเล็ก ๆ ใต้เคสหูฟังเท่านั้นเอง
ตัวหูฟังเมื่อสวมใส่แล้ว ก็ใส่สบายอยู่เลยนะ อาจจะด้วยน้ำหนักของหูฟังที่ถือว่าเบาเลย ซึ่งพูดถึงเดี๋ยวนี้ก็แทบจะเป็นมาตรฐานของหูฟังไร้สายแบบ TWS ในระดับราคานี้ที่จะต้องมีน้ำหนักเบาแล้ว รวมถึงด้วยดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร เวลาใส่ Nothing Ear(2) ไปที่ไหน ใครที่พอรู้จักหูฟังรุ่นนี้ก็จะรู้ทันทีเลยว่านี่แหละ หูฟัง Nothing ! (ตามความต้องการของ CEO ล่ะนะ)
นอกจากเรื่องของดีไซน์ที่แม้จะคล้ายเดิมแล้ว ทาง Carl Pei เองก็ได้บอกในคลิปเปิดตัวว่า หูฟังรุ่นนี้ได้เปลี่ยนผู้ผลิตไปใช้อีกเจ้า ด้วยการติดต่อกับทางผู้ผลิตโดยตรงให้เขาผลิตหูฟังให้อีกด้วย ทำให้ไดรฟ์เวอร์ของหูฟังรุ่นนี้เป็นแบบที่ทาง Nothing ออกแบบเองด้วย ดดังนั้นคุณภาพของงานประกอบใน Nothing Ear(2) นั้นทำได้ค่อนข้างดีมาก จนเหมือนกับหูฟังรุ่นอื่น ๆ ในเรตราคาเดียวกันนี้
แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตัวเคสของ Noithing Ear(2) นั้นยังเป็นพลาสติกใส นั่นหมายความว่าเคสของหูฟังรุ่นนี้ก็ยังเป็นรอยได้ค่อนข้างง่ายเหมือนเดิม ดังนั้นใครที่ซื้อ Nothing Ear(2) มาใช้ แนะนำว่าให้หาเคสมาใส่ด้วยเลยจะดีกว่า
การใช้งาน
ถ้าใครได้ผ่านการใช้งานหูฟัง Nothing Ear(1) มา ก็ถือว่าปรับตัวง่ายเลยครับ ด้วยความที่หูฟัง nothing Ear(2) รองรับการเชื่อมต่อแบบ Google Fast Pair และ Microsoft Swift Pair และชี้เป้าให้ดาวน์โหลดแอปฯ สำหรับตั้งค่าหูฟัง ‘Nothing X’ จากตอนตั้งค่าครั้งแรกเลย ถือว่าสะดวกมาก รวมถึงเหมาะกับคนที่อยากเล่นหูฟัง Nothing โดยไม่ต้องใช้สมาร์ตโฟนของ Nothing แต่ก็ได้ฟีเจอร์มาครบถ้วนด้วย ยกเว้นฟีเจอร์ความหน่วงต่ำ อันนั้นต้องต่อกับ Nothing Phone(1) เท่านั้นนะ !
การควบคุมหูฟัง Nothing Ear(2) นั้นจริง ๆ จะคล้าย ๆ กับใน Nothing Ear(1) ด้วยการบีบที่ก้านของหูฟังแต่ละข้าง โดยไม่ต้องต่อแอปฯใด ๆ ก็ได้ แต่ก็ตั้งค่าเปลี่ยนได้เองได้ในแอปฯ Nothing X ได้เลย ซึ่งการตั้งค่าพื้นฐานเลยจะประกอบไปด้วย
- บีบหูฟังเร็ว ๆ 1 ครั้ง : เล่นต่อ / หยุดเล่นเนื้อหาที่เล่นอยู่ (เปลี่ยนไม่ได้)
- บีบหูฟังเร็ว ๆ 2 ครั้ง : ข้ามเพลงที่เล่นอยู่ และปฏิเสธสายที่โทรเข้ามา
- บีบหูฟังเร็ว ๆ 3 ครั้ง : ย้อนกลับไปเพลงก่อนหน้า
- บีบค้างไว้ : ตั้งค่าการตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation)
- บีบเร็ว ๆ 1 ครั้ง และบีบค้างไว้อีก 1 ครั้ง : ไม่ได้ตั้งค่าอะไรไว้
- บีบและเลื่อนขึ้น : เพิ่มเสียง
- บีบและเลื่อนลง : ลดเสียง
ซึ่งในแอปฯ Nothing X ก็ตั้งค่าเปลี่ยนไปได้หลายอย่างเลย จะเปลี่ยนเป็นตั้งค่าการตัดเสียงรบกวน, เพิ่ม-ลดเสียง, เปิด Voice Assistant (ตามที่เราตั้งค่าพื้นฐานไว้) หรือจะปิดไม่ให้ทำอะไรเลยก็ได้นะ ซึ่งปกติผู้เขียนจะชอบให้เป็นไปตามที่ตั้งค่าพื้นฐานไว้ แต่ใครอยากเปลี่ยนก็สามารถเปลี่ยนได้เลย
สเปก
เรียกว่าเป็นอะไรที่เปลี่ยนจากในรุ่นที่แล้วมากที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยสเปกของหูฟัง Nothing Ear(2) นั้นจะประกอบไปด้วย
- Driver: 11.6mm Dynamic Driver
- Frequency Response: 20 Hz – 20,000 Hz
- Bluetooth: 5.3
- Resistance: IP54 สำหรับหูฟัง / IP55 สำหรับเคส
- Battery: 6 Hours / 36 Hours With Case
- Wireless Charging : Yes, with 2.5W Qi
- Codec : SBC, AAC, LHDC 5.0 มาพร้อม HI-RES 24BIT
เสียง
ก่อนหน้านี้ที่ทางผู้เขียนยังไม่ได้ลองใช้ Nothing Ear(2) นั้นก็พบว่า หูฟังรุ่นใหม่นี้ไม่ได้มีการจูนโดย Teenage Engineering อีกแล้ว แต่เป็นทาง Nothing เองที่จูนเสียง Nothing Ear(2) รุ่นนี้ให้ ทำให้ผู้เขียนเองก็สงสัยเหมือนกันว่าเสียงมันจะดีได้หรือเปล่า แต่ว่ารุ่นใหม่นี้ ทาง Nothing เองก็เคลมมาเลยว่าได้เน้นเรื่องเสียงมาก ๆ พอ ๆ กับดีไซน์เลยนะ ! ด้วยการรองรับ Codec LHDC 5.0 เพื่อให้ส่งเสียงได้คมชัดมากยิ่งขึ้น และคุณภาพสูงขึ้นได้ ถึงขั้นขับเสียง HI-RES 24BIT ได้เลยทีเดียว !
พออ่านสเปกแล้ว ผู้เขียนก็ไม่รอช้า เชื่อมต่อ Nothing Ear(2) เข้ากับ Samsung Galaxy S22 Ultra เครื่องส่วนตัวของผู้เขียนซะเลย แล้วก็พบว่าเสียงที่ทำได้นั้นออกไปทางหยาบและแบน โดยมีย่านใสที่ค่อนข้างแรง แต่เบสนั้นขับมาค่อนข้างเบา และรู้สึกถึงรายละเอียดของเสียงที่หายไปซะอย่างนั้น ! อ่านมาถึงตรงนี้บางคนคงต้องพอรู้แล้วแน่ ๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะ Samsung Galaxy S22 Ultra นั้นไม่รองรับ Codec LHDC น่ะสิ ! ผู้เขียนเองบอกตรง ๆ ว่าไม่เคยเห็นหูฟังที่ได้ยินความต่างด้านเสียงเมื่อต่าง Codec ที่มากขนาดนี้มาก่อนเลย
ดังนั้น เพื่อให้การทดสอบครั้งนี้แฟร์มากที่สุด รวมถึงได้ใช้ Codec LHDC ที่รองรับการส่งทั้งภาคส่ง (สมาร์ตโฟน) และภาครับ (Nothing Ear(2)) เลยขอเปลี่ยนสมาร์ตโฟนที่ใช้ทดสอบเป็น OPPO Find N2 Flip ที่รองรับ Codec มาครบ รวมถึง LHDC นี้ด้วย นอกจากนั้น ผู้เขียนก็ได้ไปตั้งค่าเปิดใช้งาน High-Quality Audio เพื่อเปิดใช้งาน Codec LHDC ผ่านการตั้งค่าหูฟังในแอปฯ Nothing X (กดรูปเฟืองในหน้าหลักหลังจากเชื่อมต่อหูฟังแล้ว) เท่านี้ก็พร้อมแล้ว !
เสียงของ Nothing Ear(2) เมื่อเล่นผ่าน Codec LHDC ถือว่าน่าประทับใจอย่างมาก ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเปลี่ยนมาใช้ Codec นี้ ผู้เขียนที่ค่อนข้างชอบเพลงที่เน้นย่านเบสก็พบว่าหูฟังขับเบสออกมาได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อเล่นผ่าน Codec LHDC แล้วถือว่าเสียงออกมาได้เต็มทุกย่าน เบสที่ไม่หนักแน่นมากจนบวม ย่านกลางที่ชัดเจนจนได้ยินเครื่องดนตรีรองในเพลง (แบบเสียงพิณอีสานในธาตุทองซาวด์) และย่านแหลมที่ชัดเจน แต่ไม่บาดหูอีกด้วย ! แต่ย่านเบสจะมากกว่าย่านอื่นเล็กน้อย เสียงร้องของนักร้องก็ออกมาได้ชัดเจนดี ถือเป็นหูฟังอีกรุ่นที่น่าจับตามองมาก ๆ เลยถ้าเน้นในด้านเสียงในหูฟังที่รองรับ Codec LHDC นี้
และถ้าใครยังรู้สึกว่าเสียงยังออกมาได้ไม่ดีพอ ก็สามารถไปตั้ง Equaliser ในแอปฯ Nothing X ได้เอง โดยมี Preset หรือการตั้งค่าจากโรงงานมาให้แล้ว 4 แบบ
- Balanced : เสียงที่จะจัดย่านเสียงให้เสมอกันในทุกด้านอย่างพอดี ๆ ซึ่งไม่ได้เท่ากันเป๊ะนะ (ตั้งค่ามาจากโรงงานแล้ว)
- More Bass : เพิ่มเบสให้มากกว่าปกติ ซึ่งมากจนบางเพลงเริ่มรู้สึกบวมเลย แต่ถือว่าทำได้ดีนะ !
- More Treble : เพิ่มย่านเสียงแหลมให้มากขึ้นกว่าปกติ
- Voice : เน้นเสียงร้องมากกว่าเสียงดนตรี
- Custom : ถ้าทั้ง 4 โหมดนี้ยังจุใจไม่พอ ก็ไปตั้งเองซะเลย ! ปรับได้ทั้งย่านเบส กลาง แหลมเลย
หรือถ้าอยากให้เสียงตรงใจเรามากกว่าเดิม แนะนำให้ไปตั้งค่าโปรไฟล์เสียงส่วนตัว (Personal Sound Profile) ที่อยู่ในการตั้งค่า ถัดจากปุ่มเปิด High-Quality Audio เลย เพื่อตั้งค่าหูฟังให้เล่นเสียงในย่านความถี่ที่ชัดเจน รับกับหูของเรามากขึ้น ผ่านการทดสอบในแอปฯ เลย ใช้เวลาไม่นาน แนะนำให้ทำตั้งแต่แรก ก่อนที่เราจะเริ่มใช้งานหูฟังจริงนะ จะทำให้เสียงเพลงที่เราฟังตรงใจเรามากขึ้นด้วย (เพราะได้ยินหลาย ๆ อย่างชัดขึ้นไปด้วย)
การตัดเสียงรบกวน
อีกฟีเจอร์ที่ในรุ่นใหม่นี้ได้เพิ่มเข้ามากจากรุ่นที่แล้วก็คือการตัดเสียงรบกวนแบบแอคทีฟ (Active Noise Cancellation) ที่ไม่ได้ตัดได้ 40db เท่านั้น แต่ยังมีการตัดเสียงรบกวนแบบตั้งค่าให้เป็นไปตามที่เราต้องการ (Personalised ANC) ได้ด้วย แต่ถ้าไม่ได้ตั้งค่าเอาไว้ โหมดการตัดเสียงรบกวนพื้นฐานจะมี 3 โหมด คือ Noise Cancellation (ปรับได้เป็น High, Mid, Low, Adaptive), Transparency (เปิดเสียงเข้า) และ Off (ปิดทุกอย่าง)
แต่ถ้าอยากให้ตัดเสียงรบกวนได้ดี ๆ ก็แนะนำให้ทดสอบการตัดเสียงรบกวนตามกับที่หูเรารับเสียงได้นะ จะทำให้หูฟังเราตัดเสียงรบกวนได้ดีขึ้นด้วย แถมการทดสอบใช้เวลาไม่นานเลย
โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่ใช่คนที่เน้นใช้งานการตัดเสียงรบกวนเท่าไหร่ แต่เท่าที่ลองใช้มา โหมดนี้จะเหมาะมากเวลาที่เราเดินทางไปสถานที่ที่มีเสียงค่อนข้างดัง เช่นบนเครื่องบิน หรือบนรถเมล์ประเทศไทยเป็นต้น (ฮา) และจากที่ลองมาในสถานการณ์เหล่านั้น ก็พบว่าตัดเสียงรบกวนได้ค่อนข้างดีตามความรู้สึกของเรา ซึ่งโดยส่วนตัวจะอยากให้เปิดโหมด Adaptive ไว้ จะได้ไม่รู้สึกอื้อในหูมากเกินความจำเป็นนะ
ไมค์โครโฟน
ตัวไมค์โครโฟนของ Nothing Ear(2) นั้นถือว่าเป็นไมค์โครโฟนที่ทำได้เสมอ ๆ กันกับคุณภาพของไมค์โครโฟนในหูฟังแนว TWS กล่าวคือได้เสียงที่ออกมาค่อนข้างชัดเจน เหมาะกับการคุยโทรศัพท์ ในขณะที่เสียงอาจจะยังไม่เหมาะเพื่อการอัดไปใช้ในงานจริงจังมากนัก แต่ก็ยังทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีอยู่นะ
แบตเตอรี่
บนหน้าเว็บไซต์ของ Nothing ระบุถึงการใช้งานแบตเตอรี่ที่ชัดเจนเลยว่า หูฟัง Nothing Ear(2) สามารถฟังได้นานสูงสุด 6 ชม. ด้วยการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ว่าจากประสบการณ์ พบว่าสามารถใช้งานต่อเนื่องได้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้เมีการเก็บหูฟังเข้าเคสชาร์จเลย (ใช้งานโดยไม่ได้เปิดการตัดเสียงรบกวนใด ๆ) และสามารถใช้งานได้ สูงสุด 36 ชม. ถ้ารวมการชาร์จในเคสชาร์จด้วยแล้ว แต่จากประสบการณ์การใช้งานของผู้เขียนเองนั้น ก็ยังไม่เคยใช้งานจนแบตเตอรี่เคสชาร์จหมดเลยแม้แต่ครั้งเดียว นึกขึ้นได้ว่าลืมชาร์จและเสียบชาร์จก่อนตลอด ดังนั้นโดยรวม ๆ แล้ว Nothing Ear(2) ถือเป็นหูฟังที่ใช้งานได้ในแต่ละวันจนหมดวันได้สบาย ๆ และอาจจะได้ถึง 2 วันเลยด้วย ดังนั้นเรื่องแบตเตอรี่หายห่วงได้เลย
แถมที่ดีงามมาก ๆ คือนอกจากหูฟังจะรองรับการชาร์จด้วยสาย ต่อผ่านพอร์ต USB-C แล้ว Nothing Ear(2) ยังผ่านการรับรองมาตรฐานการชาร์จไร้สาย Qi สูงสุด 2.5W อีกด้วย แปลว่าสมาร์ตโฟนรุ่นไหนที่แชร์ไฟให้อุปกรณ์อื่นผ่านการชาร์จได้สายได้ ก็สามารถจ่ายไฟให้ Nothing Ear(Case) นี้ได้แบบสบาย ๆ
สรุปส่งท้ายและราคา
ถ้าให้สรุปจริง ๆ แล้ว Nothing Ear(2) เป็นหูฟังที่ดีมาก ๆ ในระดับราคาของมันที่ 5,490 บาท ถือว่าทำได้ดีเลย ชนหูฟังราคา 6,000+ ได้แบบสบาย ๆ แต่มีข้อแม้เล็กน้อยว่า อุปกรณ์ที่เรานำไปเชื่อมต่อด้วยต้องรองรับ Codec Bluetooth LHDC เท่านั้น สมาร์ตโฟนบางรุ่นที่รองรับ Codec แค่ LDAC หรือ iPhone ที่รองรับแค่ AAC อาจจะทำให้ประสบการณ์การฟังหูฟังรุ่นนี้ต่างออกไปได้
เพราะงั้นหูฟังรุ่นนี้จึงเหมาะกับคนที่สนใจด้านเทคโนโลยี (แหม่ ตามความตั้งใจพี่คาร์ลเลยนะ !) และทราบสเปกต่าง ๆ ของอุปกรณ์ที่เราจะเชื่อมต่อแต่แรกแล้วว่ารองรับ LHDC ไหม ถ้ามั่นใจว่ารองรับแล้วล่ะก็ Nothing Ear(2) คือหูฟังในงบ 5,000 ที่อยากจะแนะนำมากที่สุดในนาทีนี้เลย !