รีเซต

"โดมใต้น้ำ" บนดาวอังคาร เรียบหรู อยู่สบาย บุกเบิกถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์ !

"โดมใต้น้ำ" บนดาวอังคาร เรียบหรู อยู่สบาย บุกเบิกถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์ !
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2568 ( 17:32 )
10

ในอนาคตอันใกล้ แนวคิดบ้านบนดาวอังคารอาจจะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป อย่างเช่นแนวคิด โครงการมาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) เมืองใต้น้ำที่ยั่งยืนบนดาวอังคาร แนวคิดพลิกโฉมวงการโดยออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรมคลาว์ด อาคีเทคเชอร์ ออฟฟิส (Clouds Architecture Office) ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมากในในงานเวนิส อาคีเทคเชอร์ เบียนนาเล่ (Venice Architecture Biennale) ครั้งที่ 19 งานนิทรรศการสถาปัตยกรรมระดับโลกที่จะจัดขึ้นทุกสองปีในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

แนวคิดของมาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของเมืองที่มีประชากร 10,000 คน ที่จะดำรงอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน โดยใช้ประโยชน์จาก "น้ำ" ซึ่งเป็นทรัพยากรที่พบได้มากบนดาวอังคาร และยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงความฝัน แต่เป็นการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมสำหรับคำถามที่ว่า "เมื่อมนุษย์ย้ายถิ่นฐานไปยังดาวอังคาร จะอยู่อย่างไร และตรงไหน?"

การออกแบบเมืองใต้น้ำ ที่เป็นโล่ป้องกันและศูนย์กลางชีวิต

มาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) จึงเป็นอาคารและพื้นที่เมือง ที่ถูกออกแบบให้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในปากหลุมน้ำแข็งบนดาวอังคาร โดยโครงสร้างหลักประกอบด้วยโดมพองตัวแบบรับแรงดึงที่ทำจากฟิล์มโปร่งใสและสายเคเบิลใยแก้วเสริมด้วยองค์ประกอบโครงสร้างที่ผลิตจากการพิมพ์ 3 มิติ จากวัสดุเรโกลิธ (Regolith) ซึ่งเป็นดินในท้องถิ่นของดาวอังคาร 

สถาปนิกจาก คลาว์ด อาคีเทคเชอร์ ออฟฟิส (Clouds Architecture Office) อธิบายว่า การเลือกใช้ปากหลุมน้ำแข็งเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพียงความบังเอิญ แต่เกิดจากการประเมินว่ามีน้ำแข็งใต้พื้นผิวจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตและการก่อสร้าง ที่สำคัญ ตำแหน่งนี้ยังเหมาะสำหรับการเป็นจุดส่งยานอวกาศที่จะนำผู้อยู่อาศัยใหม่มายังเมืองแห่งนี้ด้วย

โครงสร้างของเมืองใต้น้ำ

โดมแต่ละอันของมาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) มีขนาดใหญ่ถึง 400 เมตร ซึ่งเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก แต่ก็ถูกออกแบบมาให้มีความสูงเพียง 25 เมตร เท่านั้น รูปทรงพิเศษนี้คำนวณมาอย่างดีจากหลักฟิสิกส์ของการรักษาสมดุลใต้น้ำ

และภายในโดมมีวงแหวนตรงกลางที่พองลมได้ ทำหน้าที่เป็นแกนหลักที่ช่วยให้โครงสร้างมั่นคงและแข็งแรง ส่วนฐานของเมืองจะถูกยึดติดกับพื้นผิวของดาวอังคารด้วย  ส่วนท้ายของจรวดขนส่งเก่า ๆ มาดัดแปลงและใช้เป็น เสาหรือฐานยึดปักลงไปในพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อตรึงตัวเมืองที่ลอยอยู่ใต้น้ำเอาไว้ โดยมีหน้าที่ไม่ได้แค่ยึดเมืองไว้เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นทั้ง ทางเดินขึ้นลง และ ท่อส่งระบบสาธารณูปโภค ต่าง ๆ ด้วย

น้ำที่เป็นหัวใจหลักของเมืองนี้

แนวคิดหลักของมาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) คือการใช้ประโยชน์จากน้ำในหลากหลายมิติ ไม่เพียงแค่เป็นแหล่งดำรงชีวิต แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเมือง น้ำที่ล้อมรอบเมืองที่ลอยอยู่ห่างจากพื้นผิวเพียง 5 เมตร จะทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อน ป้องกันรังสีคอสมิก ภายในโดมที่ได้รับการควบคุมความดันให้มีบรรยากาศเหมือนโลก โดยจะสร้างพื้นที่ปิดที่เปรียบเสมือน "ฟองอากาศ" ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เพื่อเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรมร่วมกัน และเพื่อช่วยปกป้องเมืองจากอันตรายภายนอกด้วย

นอกจากนี้ น้ำที่ล้อมรอบเมืองยังทำหน้าที่เปรียบเสมือน ท้องฟ้าที่เป็นของเหลว โปร่งใสและกว้างใหญ่ ซึ่งจะช่วย กระจายแสงแดดให้ส่องเข้ามาภายในโดม ได้อย่างนุ่มนวล อีกทั้งช่วยรักษาวงจรการนอนหลับของมนุษย์ได้ด้วย

มาร์สไฮโดสเฟีย (Mars Hydrosphere) ไม่ได้เป็นแค่แผนเอาชีวิตรอดบนดาวอังคารเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวคิดสถาปัตยกรรมที่ให้ "น้ำ" เป็นฐานะหัวใจหลักในการออกแบบ ที่เปลี่ยนมุมมองเรื่องทรัพยากร ให้กลายเป็นวัสดุที่มีชีวิตชีวาในการสร้างเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของ ระบบนิเวศแบบปิดที่ยั่งยืน ซึ่งทำให้เมืองสามารถพึ่งพาตนเองได้ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายของดาวอังคาร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง