รีเซต

"โรคเครียดสะสม" คืออะไร แนะสังเกตตัวเอง "คุณ" มีอาการต่อไปนี้หรือไม่?

"โรคเครียดสะสม" คืออะไร แนะสังเกตตัวเอง "คุณ" มีอาการต่อไปนี้หรือไม่?
TNN ช่อง16
5 ตุลาคม 2565 ( 12:54 )
217

"โรคเครียดสะสม" คืออะไร? ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย แนะสังเกตตัวเองตอนนี้ "คุณ" กำลังเผชิญโรคนี้อยู่หรือไม่?

ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Thai Health Watch The Series 2022 สร้างภูมิคุ้มใจให้แข็งแรง เรียนรู้ วิธีจัดการกับกลุ่มอาการสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเกิดกับตัวเองหรือคนที่คุณรัก หัวข้อ “เรื่องใจเรื่องใหญ่ ชวนเสริมภูมิคุ้มใจในภาวะเศรษฐกิจถดถอย” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยน เกี่ยวกับ "โรคเครียดสะสม" 

เครียดสะสม คืออะไร? ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความเครียดสะสม ทำไมถึงเป็นภัยเงียบอันดับต้นๆ ในสังคมไทย เพราะหากมีความเครียดสะสม ไม่รู้ทางออก ไม่สามารถสื่อสาร หรือยกภูเขาออกจากอกไม่ได้ ไม่มีความหวัง ซึ่งสิ่งนี้จะกลายเป็นโรคทางใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมกำลังอยู่ในภาวะเครียด

ความเครียดสะสม เป็นภาวะที่ส่งผลให้คนเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง ผลการทำสำรวจปี 2561 พบว่า ค่าครองชีพและเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เข้ามากระทบกับสุขภาพใจคนไทยมากที่สุด และคนกรุงเทพฯ ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและค่าครองชีพที่สูงกว่าต่างจังหวัด มีความสุขน้อยต่ำกว่าปกติถึง 2 เท่า หากเทียบกับผลสำรวจความสุขทั้งประเทศ

กรมสุขภาพจิต ได้เผยว่า ภาวะโควิด-19 ที่ผ่านมาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ มิติ ทำให้คนไทยเครียดสะสม นำพาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าและอาการอื่นๆ ที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้นจากปกติถึง 10 เท่า

ทั้งนี้ หากรู้สึกเครียดเรื้อรัง ไม่ควรละเลย เพราะอาจพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพจิต ต้องดูแลใจตัวเอง เข้ารับคำปรึกษาอย่างถูกวิธี

ขณะที่กูรูสุขภาพใจ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งเพจ Here to heal ได้เปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า ความเครียดหากอยู่กับเรานานๆ ไม่หาย เกิดขึ้นซ้ำๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ส่งผลกับอารมณ์เป็นระยะๆ จะกลายเป็น "ความเครียดสะสม" 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราเป็น "โรคเครียดสะสม" โดยให้สังเกตว่ามีอาการต่อไปนี้หรือไม่

- หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูง

- ประสิทธิภาพในการทำงานและการใช้ชีวิตลดลง

- ไม่อยากเข้าสังคม วิตกกังวลความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว

- กลัว เครียด กังวล อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

- เบื่อ เฉยชา รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า

- พฤติกรรมการกินผิดปกติ

- ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น หรือ สูบบุหรี่

- สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ

- ท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.


3 จุดสังเกต ชวนเช็กง่ายๆ ดูว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิตอยู่หรือเปล่า?

1. ความคิด 

เกิดความคิดเชิงลบในชีวิตประจำวัน หรือ ความคิดว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วหรือเปล่า จากปกติที่ไม่เคยคิดมาก่อน หรืออยู่ดีๆ เกิดความกลัวสายตาคนอื่น หรือ ความคิดของคนอื่นขึ้นมาว่าเขาอาจทำร้ายเรา

2. พฤติกรรม 

พฤติกรรมนับรวมหมด ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมการทำงาน หรือแม้กระทั่งการนอน ดูว่าเรามีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ หรือ เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างจากพฤติกรรมปกติ เช่น นอนไม่หลับไม่ทราบสาเหตุ หรือ จากที่เคยมีนิสัยคิดถี่ถ้วนก่อนใช้เงิน กลายเป็นฟุ่มเฟือยขึ้นมากะทันหัน และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่แปลกไปของตัวเองได้

3. อารมณ์และความรู้สึก 

อารมณ์แปรปรวนง่ายๆ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือ มีความแตกต่างจากไปจากเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุไม่สามารถควบคุมความเศร้าที่มากเกินไป หรือความโกรธที่มากเกินไปของตัวเองได้

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.


เรายังสามารถรู้ทันความเครียดได้ ด้วยการทำแบบประเมินสุขภาพจิตจากเว็บไซต์ Mental Health Check-in จากความร่วมมือของกรมสุขภาพจิต และเครือข่าย โดยจะมีอยู่เกณฑ์อยู่ 4 ระดับ เขียว เหลือง ส้ม แดง 

แล้วรู้ได้อย่างไร? อาการเครียดสะสม หรือ เริ่มมีภาวะทางสุขภาพจิต

4 ระดับของความเครียด/ซึมเศร้า

สีเขียว เครียด แต่ "เอาอยู่"

ผลข้างเคียง : แม้ทุกคนมีความเครียดแต่ยังพอรับมือได้ด้วยตัวเอง

การช่วยเหลือ : แก้ปัญหาเชิงบวกเช่น ออกกำลังกาย ใช้เวลากับคบที่ตัวเองรัก

สีเหลือง เครียดจัดยังพอ "ประคองไปได้"

ผลข้างเคียง :  อยู่ระหว่างป่วยกับปกติเครียดสูง แต่ยังประคองตัวได้เป็นฟางเส้นสุดท้าย

การช่วยเหลือ : ปรับวิธีแก้ปัญหาหาคนรอบข้างรับฟังอย่างเข้าใจ

สีส้ม ซึมเศร้า กระทบกับงาน และการใช้ชีวิต

ผลข้างเคียง : ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีปัญหาปฏิสัมพันธ์ กับผู้อื่น

การช่วยเหลือ : พบแพทย์ หาคนรอบข้างที่รับฟังอย่างเข้าใจ

สีแดง ซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย

ผลข้างเคียง :  เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น สิ่งของ และฆ่าตัวตาย

การช่วยเหลือ : ไม่ควรให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว คนรอบข้าง ต้องเปิดใจรับฟัง

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.


รู้สึกไม่ไหว ปรึกษาใครดี? 

ปรึกษาทางโทรศัพท์

สายด่วนสุขภาพจิต 

1323 ตลอด 24 ชม.

Depress We Care

โรงพยาบาลตำรวจ

081-932-0000

ตลอด 24 ชม.

สายด่วนสุขภาพจิต

1323

08.00-16.00 น.

สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย

02-713-6793

12.00-22.00 น.

ปรึกษาช่องทางออนไลน์

CHATBOT 1323

น้องสายด่วนสุขภาพจิต

แชทบอทประเมินความเครียด

ประเมินความเครียด

ประเมินความเครียดในเบื้องต้น

ให้คำแนะนำ

ให้คำแนะนำในการจัดการ ความเครียดในเบื้องต้น

ติดตาม ส่งต่อ

ให้ข้อมูลและส่งต่อสถานพยาบาลด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง

LINE ID @147nzgad

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.


ด้านครูมะขวัญ วิภาดา แหวนเพชร ผู้สอนวิชาแห่งความสุข สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ได้แชร์เคล็ดลับการสร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน โดยระบุว่า

สร้างพลังใจด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน 

1. ออกกำลังกาย วันละ 15 นาที ทำทุกวัน / impact สูง

2. พูดขอบคุณในสิ่งดีๆ ของผู้อื่น พูดต่อหน้า ส่งโปสการ์ด ส่งข้อความ

3. เขียนขอบคุณอะไรก็ได้ 3 สิ่งก่อนนอน ทำทุกวัน / ห้ามเขียนซ้ำกัน

4. คิดถึงสิ่งที่มีความสุข วันละ 3 สิ่ง ทำทุกวัน / ห้ามเขียนซ้ำกัน

5. ทำสมาธิวันละ 2 นาที ด้วยวิธีการดูลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติ

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส.





ข้อมูลจาก เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Thai Health Watch The Series 2022

ภาพจาก Youtube ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสสส. / AFP


ข่าวที่เกี่ยวข้อง