LVSS ระบบต่อต้านโดรนเคลื่อนที่ ใช้ AI ต่อสู้กับโดรนนับร้อยได้ในครั้งเดียว
TNN ช่อง16
3 มิถุนายน 2565 ( 12:17 )
102
- บริษัท เทเลไดน์ เฟรีย ดีเฟนส์ (Teledyne FLIR Defense) เปิดตัวระบบต่อต้านภัยคุกคามบนยานพาหนะน้ำหนักเบา (Lightweight Vehicle Surveillance System) หรือ LVSS ที่พ่วงมาด้วยระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับขั้นสูง ติดตั้งบนโครงรถมาตรฐานของรถยนต์ฟอร์ด (Ford) รุ่น F-250 ที่สามารถตอบโต้ฝูงโดรนโจมตีนับร้อยได้ด้วยการใช้งานภายในเวลาไม่ถึงนาที
- ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดรนขนาดเล็ก อากาศยานสี่ใบพัดตัวเล็ก ๆ ที่ถ่ายวิดีโอและภาพทางอากาศได้ ถูกพัฒนาและยกระดับความสามารถ นับตั้งนักขับโดรนมือสมัครเล่นไปสร้างความวุ่นวายที่สนามบินพาณิชย์อยู่บ่อยครั้ง และความวุ่นวายก็ยกระดับไปสู่การใช้โดรนติดอาวุธมุ่งเป้าโจมตีสถานที่สำคัญในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ล่าสุดยังมีรายงานเกี่ยวกับการใช้โดรนพลีชีพกับกองกำลังรัสเซียในยูเครน เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้กระทรวงกลาโหมของหลาย ๆ ชาติ กำหนดให้โดรนคือภัยคุกคามใหม่ต่อกองกำลังทหาร
- สำหรับวิธีการต่อสู้กับโดรนขนาดเล็กที่มีขนาดและประสิทธิภาพแตกต่างกัน ต้องใช้วิธีการอย่างหลากหลาย การใช้ปืนลูกซองก็เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยม แต่มีวิธีแก้ปัญหาที่ใช้งานได้จริงมากกว่านั้น เช่น เฮลิคอปเตอร์สี่ใบพัดติดตาข่าย, ปืนยิงตาข่าย, เครื่องส่งสัญญาณรบกวนทางวิทยุที่เล็งได้ซึ่งดูเหมือนปืนในหนังไซไฟ, โดรนพลีชีพเพื่อโจมตีผู้บุกรุก, เลเซอร์พลังงานสูง หรือแม้กระทั่งนกอินทรี
- แต่ระบบ LVSS ถือว่าเป็นระบบจัดการโดรนขั้นสุดยอดที่เหนือกว่าสิ่งที่กล่าวมาในเบื้องต้น LVSS มีความสามารถทัดเทียมกับเลเซอร์ความเข้มข้นสูงที่ติดตั้งบนรถบรรทุกหรือเรือรบ ทั้งยังไม่แค่เพียงจัดการกับโดรน 1-2 ลำ แต่มันสามารถจัดการฝูงโดรนมากสูงสุดถึง 500 ลำพร้อมกันในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยใช้คลื่นวิทยุรบกวนความเข้มข้นสูง
- ระบบ LVSS โดยพื้นฐานแล้ว ถูกออกแบบมาเพื่อการปรับใช้อย่างรวดเร็ว โดยเสาของระบบ สามารถยกเสาสัญญาณให้สูงขึ้นไปบนอากาศได้ถึง 5 เมตร พร้อมกับทำงานเต็มระบบไปด้วย และสุดท้าย LVSS ยังสามารถเก็บเสาสัญญาณได้ภายใน 30 วินาที ขณะเคลื่อนที่ ทำให้ผู้ใช้งานระบบ สามารถย้ายที่อยู่ หรือหลบหนีการโจมตีได้ภายในเวลาไม่ถึงนาที ทั้งนี้ LVSS ยังไม่ได้จำกัดเป้าหมายว่าเป็นโดรนติดอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโดรนลาดตระเวนหรือโดรนลักลอบขนของอีกด้วย
- LVSS ยังสามารถแบ่งระบบการทำงานแบบหลากหลาย โดยทำงานได้ในพื้นที่กว้าง พื้นที่เดี่ยว หรือพื้นที่แบบแยกย่อย หรือการทำงานแบบครอบคลุมระยะพื้นที่ 3 กิโลเมตร เพดานบินทำงานสูงสุดอยู่ที่ความสูง 457 เมตร
- ระบบต่อต้านโดรนนี้ ยังเพียบพร้อมไปด้วยระบบติดตามเป้าหมาย กับเรดาร์ระยะไกลและเลเซอร์ที่สามารถติดตามเป้าหมายได้ถึง 500 เป้าหมายพร้อมกันในมุมมอง 3 มิติ ขณะที่กล้อง TacFLIR-380HD กับโดรน ยังสามารถสแกนพื้นที่ในรูปแบบอินฟราเรด ที่มาด้วยความสามารถยืนยันเป้าหมายโดรนที่เป็นศัตรู และเครื่องบินที่อาจเป็นภัยคุกคามได้ โดยใช้ระบบ AI ที่คิดค้นมาเพื่อการนี้
- บริษัทเทเลไดน์กล่าวว่า ระบบ LVSS ที่ตั้งอยู่บนที่มั่น หรือที่อยู่บนรถที่กำลังเคลื่อนที่ สามารถต่อต้านโดรนศัตรูได้ในระยะ 1.5 กิโลเมตร โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุกำลัง 30 วัตต์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยเพิ่มเติมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับระบบตอบโต้ แต่เป็นไปได้ว่า ระบบจะเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณรบกวนการควบคุมความยาวคลื่น การส่งสัญญาณควบคุมแบบลวง การปลอมแปลงระบบนำทาง เซ็นเซอร์ หรือการขยายกำลังไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อปิดการใช้งานโดรนโจมตี
- ด้านดร.จื้อเฟิน เล่ย (JihFen Lei) รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปของเทเลไดน์ กล่าวถึงระบบ LVSS ว่า
- "การปกป้องพรมแดนที่กว้างใหญ่ ชายฝั่ง และฐานปฏิบัติการ เป็นงานที่ยากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการมาถึงของโดรนโจมตี… ขณะที่ระบบ LVSS C-UAS ได้ผสมผสานเทคโนโลยีตอบโต้โดรนที่ซับซ้อน ทำให้ระบบเฝ้าระวังนี้ เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากโดรนเหล่านี้”
ที่มาของรูปภาพ flir.eu
ที่มาของข้อมูล newatlas.com