รีเซต

“วงแหวนดาวเสาร์” ไม่ได้ไปไหน ! ไม่ได้หายชั่วคราวด้วย แต่แค่เห็นยาก (นิดนึง)

“วงแหวนดาวเสาร์” ไม่ได้ไปไหน ! ไม่ได้หายชั่วคราวด้วย แต่แค่เห็นยาก (นิดนึง)
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2566 ( 17:27 )
61
“วงแหวนดาวเสาร์” ไม่ได้ไปไหน ! ไม่ได้หายชั่วคราวด้วย แต่แค่เห็นยาก (นิดนึง)

วงแหวนดาวเสาร์ (Rings of Saturn) ไม่ได้ “หายไป” จากสายตาคนบนโลก เพราะข้อเท็จจริงคือวงแหวนของดาวเสาร์นั้น “สังเกต” ได้ยากมากขึ้นในปี 2025 เนื่องจากปรากฏการณ์วันวิษุวัต (Equinox) บนดาวเสาร์ กับมุมการโคจรที่เปลี่ยนไปทำให้มุมมองจากบนโลกนั้นเปลี่ยนไปเท่านั้น 


ที่มา “วงแหวนดาวเสาร์จะหายไปในปี 2025” 

ปรากฏการณ์ซึ่งสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า “วงแหวนดาวเสาร์จะหายไปในปี 2025” นั้น แท้ที่จริงแล้ว เกิดจากการที่ “มุมมอง” ของคนบนโลกเวลาสังเกตดาวเสาร์นั้นจะพบวงแหวนได้ยากมากขึ้น โดยมีที่มาจากปรากฏการณ์วันวิษุวัต (Equinox) บนดาวเสาร์ที่เกิดขึ้นทุก 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงจากดวงอาทิตย์อยู่ในระนาบเดียวกันกับเส้นศูนย์สูตรบนดาวเสาร์ 


และเหตุการณ์ดังกล่าวตรงกับช่วงเวลาที่ดาวเสาร์เปลี่ยนมุมโคจรระหว่างที่กำลังโคจรในระบบสุริยะ ดังนั้น 2 เหตุการณ์นี้ ทำให้ภาพถ่ายดาวเสาร์จากโลกนั้นเหมือน “ไม่เห็น” วงแหวนดาวเสาร์ เพราะวงแหวนดังกล่าวมีความหนา 10 เมตร - 1 กิโลเมตร แต่มุมมองจากโลกที่ห่างกันเฉลี่ย 1,427,000,000 กิโลเมตร จึงทำให้เสมือนกับว่าวงแหวนนั้นหายไป 


ที่มารูปภาพ Wikicommons

 


วงแหวนดาวเสาร์ยังอยู่อีกเป็นสิบล้านปี แต่เมื่อถึงเวลานั้นจะหายไปจริง ๆ

ทั้งนี้ วันวิษุวัตบนดาวเสาร์ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2025 ในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้กล้องโทรทรรศน์ที่จับภาพวงแหวนดาวเสาร์นั้นพบวงแหวนได้ยากมากขึ้น แต่ว่าปรากฏการณ์นี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมากนัก เนื่องจากมุมโคจรของดาวเสาร์จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง และทำให้ผู้สังเกตบนโลกเห็นวงแหวนได้เช่นเดิม แต่มีมุมของวงแหวนที่ต่างจากก่อนหน้าเหตุการณ์ในปี 2025 (ตามภาพด้านบน)


อย่างไรก็ตาม วงแหวนดาวเสาร์ที่มีอายุใกล้เคียงกับโลกที่ประมาณ 4,000 ล้านปี ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ และมีเศษหินปะปน กำลังถูกดูดด้วยแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ ทำให้วงแหวนมีมวลลดลงตามผลการศึกษาของนาซา (NASA) และคาดว่าในช่วงเวลาระหว่าง 15 - 400 ล้านปี ต่อจากนี้วงแหวนดาวเสาร์จะสูญเสียมวลทั้งหมดไปและเป็นการ “หายไป” ตลอดกาลของวงแหวนดาวเสาร์จริง ๆ


ที่มาข้อมูล The Messenger TechDaily MailWikipedia

ที่มารูปภาพ Wikicommons


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง