รีเซต

8 เทคนิคมือโปร ถ่าย "สุริยุปราคา" ด้วยสมาร์ตโฟน

8 เทคนิคมือโปร ถ่าย "สุริยุปราคา" ด้วยสมาร์ตโฟน
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2567 ( 19:06 )
59

วันที่ 8 เมษายน จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “สุริยุปราคาเต็มดวง” พาดผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ เริ่มเวลา 22.42 - 03.52 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย 


สุริยุปราคา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงอยากบันทึกภาพเก็บไว้ และปัจจุบันนี้เราไม่ต้องใช้กล้องราคาแพง ๆ เพื่อบันทึกภาพอีกต่อไป แค่เพียงสมาร์ตโฟนก็สามารถถ่ายรูปสวย ๆ ได้ ซึ่ง อลัน ไดเออร์ (Alan Dyer) ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพสุริยุปราคาและเป็นผู้เขียนหนังสือ “วิธีการถ่ายรูปสุริยุปราคา (How to photograph the solar eclipse)” ก็ได้ออกมาเผยแพร่ 8 เทคนิคใช้สมาร์ตโฟนถ่ายสุริยุปราคา 


จริงอยู่ที่สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นนี้ ประเทศไทยของเราไม่สามารถมองเห็นได้ แต่การได้รับเทคนิคดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย ซึ่งเทคนิคทั้ง 8 ข้อนั้นมีดังนี้


1. ปิดแฟลช

นี่คือคำแนะนำอย่างแรกสุด โดยไดเออร์บอกว่า แฟลชที่ถ่ายสุริยุปราคานั้นไม่ได้ช่วยให้รูปถ่ายที่ได้นั้นดีขึ้น อีกทั้งหากอยู่ร่วมกับคนอื่น แสงแฟลชอาจไปรบกวนคนอื่นได้ ดังนั้นแสงแฟลชไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรูปของผู้ถ่ายโดยตรง แต่อาจไปส่งผลกระทบกับรูปถ่ายของคนอื่นได้


2. อย่าซูม

หากสมาร์ตโฟนของคุณมีเลนส์เทเลโฟโต้แยกต่างหาก ซึ่งเหมาะสำหรับซูมถ่ายวัตถุที่อยู่ห่างไกลได้ อาจมองข้ามคำแนะนำข้อนี้ แต่สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ตโฟนที่ไม่มีเลนส์เทโลโฟโต้แยก อย่าซูมถ่ายเพราะรายละเอียดของภาพจะเสียไป ทำให้รูปปรากฏเป็นเม็ดเล็ก ๆ หยาบ ๆ และทำให้คุณภาพของรูปไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก 


3. ถ่ายมุมกว้างพิเศษ (Super-Wide) หรือแนวตั้ง

ไดเออร์แนะนำว่า รูปสุริยุปราคาที่สวยงาม ควรเป็นภาพมุมกว้าง และอาจแสดงเส้นขอบฟ้าในรูปด้วย แต่สุริยุปราคาครั้งนี้อาจไม่สามารถถ่ายรูปติดเส้นขอบฟ้า เพราะตำแหน่งที่เกิดนั้นอยู่สูงเหนือเส้นขอบฟ้ามาก ดังนั้นคำแนะนำคืออาจถ่ายแนวตั้ง หรือหากสมาร์ตโฟนของใครรองรับโหมดถ่ายกว้างพิเศษ (Super-Wide) ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะอาจทำให้ถ่ายติดเส้นขอบฟ้า และให้ภาพที่ดีได้


4. ล็อกโฟกัส

หากคุณตั้งค่าให้กล้องสมาร์ตโฟนเปิดรับแสงอัตโนมัติ มันก็อาจจะให้ภาพที่ดี แต่คำแนะนำของไดเออร์คือให้ล็อกโฟกัสบนกล้องสมาร์ตโฟน แต่มันก็จะขึ้นอยู่กับสมาร์ตโฟนรุ่นที่ใช้ด้วย ตัวอย่างเช่น หากใช้ไอโฟน (iPhone) ให้แตะสิ่งที่ต้องการโฟกัสบนหน้าจอค้างไว้ 1 วินาที วิธีนี้จะล็อกโฟกัสทำให้เราสามารถจัดองค์ประกอบอื่น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงแล้ว สิ่งต่าง ๆ มืดลง ให้โฟกัสกล้องไปที่สิ่งที่อยู่ตรงกลางรูป เช่น ต้นไม้ อาคาร หรืออะไรก็ตามแต่ จากนั้นก็สามารถเลื่อนเพื่อปรับความสว่างขึ้นหรือลงได้


5. ใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง

ช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์ของสุริยุปราคา ก็คือช่วงที่เรียกว่าแหวนเพชรหรือ Diamond Ring ซึ่งก็คือช่วงสุดท้ายก่อนที่จะกลายเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ตอนนั้นจะปรากฏแสงลักษณะกลม ๆ เม็ดสุดท้าย เหมือนหัวแหวน เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นและผ่านไปเร็วมาก ดังนั้นอาจพิจารณาเปิดโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องเพื่อไม่ให้พลาดช่วงเวลานี้ไป


6. ถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW

เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น อาจจะพิจารณาถ่ายเก็บเป็นไฟล์ RAW ซึ่งเป็นไฟล์ภาพที่จะเก็บข้อมูลเซ็นเซอร์ดั้งเดิม และสมาร์ตโฟนจะไม่เข้ามาประมวลผลภาพอัตโนมัติ ทำให้สามารถแก้ไขและปรับแต่งภาพได้ในภายหลัง ซึ่งสมาร์ตโฟนบางรุ่นอาจสามารถถ่ายภาพไฟล์ RAW ได้เลย แต่หากไม่มีอาจต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม เช่น Halide, Yamera หรือ Camera+ 2


ทั้งนี้ ไฟล์ RAW ถือว่ากินพื้นที่ในหน่วยความจำมากกว่าไฟล์ JPEG หรือ PNG ดังนั้นจึงควรตรวจสอบหน่วยความจำของสมาร์ตโฟนก่อน


7. สัมผัสสุริยุปราคาด้วยตัวเอง และอย่าถ่ายวิดีโอด้วยมือ

ไดเออร์แนะนำว่าสิ่งที่ควรทำมาก ๆ คือการสัมผัสสุริยุปราคาด้วยตาของตัวเอง (แต่ต้องมีความปลอดภัย เช่น มองผ่านแว่นตาดูสุริยุปราคา) นั่นจะเป็นประสบการณ์ที่ดื่มด่ำกว่า แต่ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากใครหลายคนจะหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาบันทึกวิดีโอ ซึ่งไดเออร์ก็แนะนำว่าอย่าถ่ายวิดีโอโดยถือด้วยมือ เพราะอาจทำให้วิดีโอสั่น และเป็นไฟล์ที่ไม่มีคุณภาพเท่าไหร่นัก


8. ถ่ายวิดีโอโดยใช้ขาตั้งกล้อง

นี่เป็นคำแนะนำที่สืบเนื่องมาจากข้อที่ 7 วิธีนี้จะทำให้ได้คุณภาพวิดีโอที่ดี อีกทั้งยังมีเวลาเพื่อให้ดื่มด่ำกับสุริยุปราคาด้วยตาตัวเองด้วย โดยไดเออร์แนะนำว่า “ตั้งกล้องสมาร์ตโฟนไว้ในโหมดมุมกว้าง เริ่มถ่ายไปก่อนสัก 2 - 3 นาที จากนั้นก็ปล่อยให้มันบันทึกวิดีโอด้วยตัวของมันเอง” และยังกล่าวเสริมว่าสิ่งที่จะได้เพิ่มเติมก็คือเสียงเชียร์หรือเสียงตะโกนเมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีและทำให้วิดีโอสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น


ที่มาข้อมูล Space, PCmag

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง