คนไทยป่วยความดันโลหิตสูง 7.4 ล้านคน น่ากลัวเพราะมักไม่มีอาการ

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ในปี 2568 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ "Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer : วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” มุ่งเน้นให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อและภาวะแทรกซ้อน
จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2562 - 2563) พบว่า ความชุกโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 25.4 หรือประมาณ 14 ล้านคน จากร้อยละ 24.7 หรือประมาณ 13 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2557 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลจากระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พบว่ามีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7.4 ล้านคน และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ยังควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้มีมากถึง 3.5 ล้านคน ถึงแม้โรคความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการแต่หากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคไตวายเรื้อรัง ส่งผลให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาเอง เพื่อให้สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งถือเป็นวิธีการรักษาหลักที่ประหยัดและคุ้มค่าด้วยการควบคุมน้ำหนัก ให้มีค่าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 18.5 - 22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกมื้อ โดยในแต่ละมื้อมีปริมาณอาหารที่เหมาะสม ด้วยสูตรเมนูอาหาร 2:1:1 “ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : เนื้อสัตว์ 1 ส่วน” หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ประชาชนทั่วไปควรจำกัดปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรจำกัดปริมาณโซเดียมอย่างเข้มงวด คือ ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ออกกำลังกายระดับหนักปานกลาง เช่น แอโรบิก ว่ายน้ำ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน สะสมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน งดการดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า ประชาชนควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีการที่ถูกต้องเพื่อให้ทราบระดับความดันโลหิตของตนเอง รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ โดยระดับความดันโลหิตที่เหมาะสมควรน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าหากว่ามีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม หากมีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 180/110 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงอันตราย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงและเข้ารับการรักษาทันที และประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเข้ารับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพียงแสดงบัตรประชาชนเพื่อเข้ารับบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายซึ่งการตรวจคัดกรองช่วยในการค้นหาผู้ที่ไม่แสดงอาการหรือเริ่มมีภาวะเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตป้องกันไม่ให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงในอนาคตต่อไป หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422