รีเซต

ผลิตกาแฟในห้องแล็บ ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องใช้เมล็ด - เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผลิตกาแฟในห้องแล็บ ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องใช้เมล็ด - เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2564 ( 15:33 )
197

กาแฟ เครื่องดื่มมหัศจรรย์ที่คนทำงานเช้าทุกคนขาดไม่ได้ ถึงกับมีวลีที่บอกว่า "เราตื่นมาเพื่อดื่มกาแฟ" กันเลยทีเดียว แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าผลผลิตของกาแฟกำลังลดลงจากภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องหาวิธีช่วยเพิ่มผลผลิตและเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น


ปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลกผลิตกาแฟออกมากว่าหมื่นล้านกิโลกรัมในแต่ละปี อีกทั้งความต้องการยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทว่า การทำสวนกาแฟต้องแลกมาด้วยการรุกล้ำพื้นที่ป่า ยิ่งอัตราความต้องการกาแฟเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำสวนกาแฟเพิ่มขึ้นด้วย


นอกจากนี้ มีการศึกษาหนึ่งเผยว่า ต้นกาแฟค่อนข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดังนั้น ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงกระทบต่อการทำสวนกาแฟ และทำให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน มันจึงกลายเป็นวงจรกทารทำลายป่าและธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุด


นักวิจัยจากสถาบัน VTT ประเทศฟินแลนด์ ตระหนักถึงปัญหานี้และเริ่มนำเทคโนโลยีการผลิตอาหารในห้องทดลองมาใช้ ซึ่งกระบวนการจะคล้ายกับการผลิตอาหารในห้องทดลองที่เคยมีข่าวมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสเต็ก, ฟัวกราส์, เบอร์เกอร์ หรือนักเก็ตไก่ ครั้งนี้ถึงคราวของกาแฟที่เป็นผลิตภัณฑ์จากพืชบ้าง


นักวิจัยจะใช้เซลล์จากใบกาแฟมาใช้เป็นเซลล์ตั้งต้น จากนั้นจึงป้อนสารอาหารที่จำเป็นพร้อมกระตุ้นให้เซลล์เจริญเติบโตและเกิดปฏิกิริยาที่จะทำให้เซลล์กลายเป็น "ผงกาแฟ" ที่ผ่านการทำให้แห้งและคั่วจนเสร็จสรรพ หอมกรุ่นพร้อมชงดื่ม ข้อสังเกตในการทดลองนี้คือ ผงกาแฟที่ได้ไม่ได้ผ่านการเป็นเมล็ดกาแฟมาก่อน แต่เกิดจากเซลล์ของใบกาแฟที่ผ่านกระบวนการเฉพาะมาแล้วต่างหาก


การทดลองนี้เข้าตาบริษัทสตาร์ตอัป Compound Foods จากสหรัฐอเมริกา จึงให้เงินสนับสนุนกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการผลิตกาแฟโดยไม่ต้องพึ่งพาการปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะได้รับความนิยมไม่แพ้กาแฟที่ปลูกทั่วไปแล้ว กระบวนการนี้ยังใช้น้ำลดลงถึง 94% และปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงกว่า 93% เมื่อเทียบกับการปลูกในสวน


จะเห็นได้ว่าเทรนด์การผลิตอาหารในห้องทดลองเริ่มมาแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักพักเพื่อให้ต้นทุนในการผลิตลดลง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง