สำรวจผลข้างเคียง “ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) มีอะไรบ้าง พร้อมวิธีใช้
จากกความคืบหน้า การผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศได้ผลดี พร้อมทั้งคาดว่าเดือนกรกฎาคมนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียน อย. จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทันที ซึ่งยาชนิดนี้เป็นหนึ่งในยาที่รักษาโควิด-19 ได้ผล และใช้รักษาจริงแล้วในประเทศไทย
เมื่อไทยต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยารักษาโควิด-19 แล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ คือ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาชนิดนี้ วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมข้อมูลผลข้างเคียงจากการใช้ยา “ยาฟาวิพิราเวียร์” ว่าใครใช้ได้บ้าง ใครไม่ควรใช้ และอะไรที่ต้องระวัง
กรมการแพทย์เปิดเผยข้อบ่งชี้และผลข้างเคียงของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ระบุไม่ได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ทุกคน จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
อัปเดตความคืบหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศ
ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้สิทธิ ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ และองค์การเภสัชกรรมได้ประสานสั่งซื้อวัตถุดิบ สำหรับผลิตยา ทั้งจากประเทศจีน และอินเดีย นั้น
ล่าสุด การวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ภายในประเทศ สำหรับต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาล มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก จากผลการวิจัยและพัฒนา พบว่า สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูก โดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันนำเข้ามากถึงร้อยละ 95
ในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียน อย. จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ทันที
นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 4 ล้านเม็ดและยาเรมดิซิเวียร์ 1,613 ไวอัล ถือว่ามีเพียงพอสนับสนุนให้กับพื้นที่ตามปริมาณการใช้จริง ซึ่งภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะมียาฟาวิพิราเวียร์ทยอยเข้ามาอีก 16 ล้านเม็ด ซึ่งการส่งมอบยังเป็นไปตามแผน ถือว่าเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสามารถจัดหาเพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสานผู้ผลิตในต่างประเทศไว้แล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์
ฟาวิพิราเวียร์ (ชื่ออื่นคือ T-705 ส่วนชื่อสามัญของยากลุ่ม คือ Avigan และ Favilavir) มีลักษณะโครงสร้างเป็นอนุพันธ์ไพราซีนคาร์บอกซาไมด์ (pyrazinecarboxamide derivative) ได้รับการอนุมัติใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในญี่ปุ่น ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล แต่เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ชิคุนกุนยา และ โควิด-19
ยานี้มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่าการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรงของโควิด
การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโควิด-19
แพทย์ใช้ฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับไว้ในสถานพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคระบุให้ใช้กับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค เป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเริ่มใช้ยานี้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการบางรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น อายุมาก เป็นเบาหวาน หรืออ้วน เป็นต้น หรือแม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นก็สามารถใช้ยานี้ได้ในทันที
ยาฟาวิพิราเวียร์เหมาะกับใคร
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ยกเว้นผู้ที่มีโรคร่วม และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการไม่เพียงพอที่ยืนยันถึงประโยชน์ของการให้ยาโดยเร็วตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ส่วนภาวะโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง ประกอบด้วย
1.อายุมากกว่า 60 ปี
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โรคปอดอุดกันเรื้อรัง ร่วมโรคปอดเรื้อรัง
3.โรคไตเรื้อรัง
4.โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด
5.โรคหลอดเลือดสมอง
6.เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
7.ภาวะอ้วน
8.ตับแข็ง
9.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
10. ภาวะอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น
ผู้ป่วยระดับสีเขียวจะได้รับยาชนิดนี้ก็ต่อเมื่อเข้าเกณฑ์การประเมินของแพทย์ คือ เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกและรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงจนกลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดง
ผลข้างเคียงยาฟาวิพิราเวียร์
1.คลื่นไส้ อาเจียน
2.ท้องเสีย
3.ตับอักเสบ
4.หากนำมาใช้เกินจำเป็นจะส่งเสริมการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า เกณฑ์การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะให้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ให้ทุกคน และไม่ให้แบบหว่านแห เพราะการกินยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง ทานไปหลายคนมีปัญหาตับอับเสบได้ และการหว่านแหจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ เพราะตอนนี้เท่าที่ดูยังไม่มีหลักฐานยืนยัน มีต่างประเทศที่ยังอยู่ในการวิจัยสเตจ 2 และ 3 ซึ่งเป็นยาตัวอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องเก็บยาตัวนี้เพื่อเป็นอาวุธในการใช้ จึงไม่อยากทำแบบหว่านแห ที่สำคัญเรายังพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม ซึ่งมีประมาณ 30-40% เราพบว่า 80-90% กลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีแดง โดยไม่จำเป็นต้องกินยาเลย หากให้ยาไปจะเป็นการเปล่าประโยชน์ ทั้งหมดนี้มาจากการพิจารณาร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งแพทย์โรงเรียนแพทย์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อฯ
วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยา
1.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่ไม่มีอาการ และไม่มีโรคร่วมจะไม่มีการให้ยารักษาเฉพาะ
2.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน และมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยง เมื่อมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยง รักษาโดยการให้ยาต้านไวรัสตามดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา
3.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่มีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย นอกเหนือจากการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว การให้ยาสเตียรอยด์ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถลดอาการรุนแรงที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
4.ผู้ติดเชื้อยืนยืน ปอดอักเสบ ความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดที่อุณหภูมิห้องน้อยกว่า 96% หรือปอดอักเสบรุนแรง จะยังใช้แนวทางเดิม
ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาสำคัญที่ใช้ต้านโควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อย่างสมเหตุผล คือ ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้นหากนำมาใช้เกินจำเป็นจะส่งเสริมการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
ข้อมูลจาก Hfocus , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง