รีเซต

NASA เตือน ! อย่าใช้สมาร์ตโฟนถ่าย "สุริยุปราคา" โดยตรง

NASA เตือน ! อย่าใช้สมาร์ตโฟนถ่าย "สุริยุปราคา" โดยตรง
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2567 ( 19:04 )
101

สมาร์ตโฟนในปัจจุบันมีกล้องที่สามารถถ่ายรูปได้คุณภาพดีมาก ๆ จนการถ่ายรูปเพื่อบันทึกความทรงจำกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน แต่คำถามก็คือ เราสามารถเล็งกล้องไปถ่ายทุกที่ได้หรือเปล่ากันนะ 


คำถามนี้เกิดขึ้นกับมาร์ก บราวน์ลี (Marques Brownlee) ยูทูบเบอร์ด้านเทคโนโลยีชาวอเมริกัน ที่อยากใช้สมาร์ตถ่ายรูปสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2024 โดยเขาได้โพสต์ถามบนบัญชีเอ็กซ์ (X) ของเขาที่มีผู้ติดตามกว่า 6.2 ล้านคนว่า "ผมไม่รู้ว่าการเล็งสมาร์ตโฟนไปที่สุริยุปราคาจะทำให้เซ็นเซอร์ไหม้หรือเปล่า ผมอยากจะลองหยิบสมาร์ตโฟนแล้วชี้ไปที่ดวงอาทิตย์เพื่อหาคำตอบที่แท้จริงด้วยตัวเอง ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์"


แต่บราวน์ลีไม่ต้องทดลองด้วยตัวเอง เพราะแอคเคาท์ทางการขององค์การนาซา (NASA) ได้เข้ามาตอบว่า "เราได้ถามทีม NASA HQ Photo (แผนกภาพถ่ายของ NASA) และคำตอบก็คือใช่ เซ็นเซอร์สมาร์ตโฟนจะเสียได้ เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์ภาพอื่น ๆ หากคุณเล็งมันไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง และยิ่งใช้เลนส์ขยายด้วยแล้วมันก็จะยิ่งส่งผลเสีย ดังนั้นหากจะใช้สมาร์ตโฟนถ่าย คุณต้องใช้ฟิลเตอร์ที่เหมาะสม


แนวทางปฏิบัติที่ดีถือใช้แว่นตาดูสุริยุปราคา (Eclips Glasses) บังไว้หน้าเลนส์สมาร์ตโฟนเมื่อจะถ่ายภาพดวงอาทิตย์"


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ครั้งหน้าเราก็อาจจะระมัดระวังในการใช้สมาร์ตโฟนเล็งไปยังดวงอาทิตย์มากขึ้น จริงอยู่ที่สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่สามารถมองเห็นในประเทศไทย แต่หลักการนี้สามารถปรับใช้ในตอนที่เราจะหยิบสมาร์ตโฟนมาถ่ายรูปดวงอาทิตย์โดยตรงในวันอื่น ๆ ได้


ทั้งนี้สำหรับสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2024 นี้ จะพาดผ่านบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ เป็นเส้นทางพาดผ่านบริเวณประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เริ่มจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่เวลา 22:42 - 03:52 น. ตามเวลาประเทศไทย สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ในเว็บไซต์ของนาซา (ดูถ่ายทอดสด สุริยุปราคาเต็มดวง 2024) ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่นาน ๆ จึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง หากใครพลาดครั้งนี้ ก็ต้องรอชมสุริยุปราคาเต็มดวงอีกทีในเดือนสิงหาคม 2044 หรือก็คืออีก 20 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว




ที่มาข้อมูล Space, PCmag

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง