รีเซต

Astra สตาร์ตอัปอวกาศที่ส่งดาวเทียมสำเร็จได้รวดเร็วที่สุดใน 5 ปี นับจากวันก่อตั้งบริษัท

Astra สตาร์ตอัปอวกาศที่ส่งดาวเทียมสำเร็จได้รวดเร็วที่สุดใน 5 ปี นับจากวันก่อตั้งบริษัท
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2565 ( 00:34 )
38
Astra สตาร์ตอัปอวกาศที่ส่งดาวเทียมสำเร็จได้รวดเร็วที่สุดใน 5 ปี นับจากวันก่อตั้งบริษัท

ปัจจุบันบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตัวอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามอง คือ บริษัท แอสตรา (Astra) ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทแห่งนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วโดยเป็นบริษัทอวกาศน้องใหม่ที่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จรวดเร็วที่สุดภายในเวลา 5 ปี นับจากวันก่อตั้งบริษัท


ภารกิจส่งดาวเทียมสำเร็จเป็นครั้งแรก


ความสำเร็จในการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศไม่ใช่เรื่องง่ายความพยายามของบริษัท 5 ครั้งแรกล้มเหลวและต้องสูญเสียจรวดและดาวเทียมอันล้ำค่าไปเป็นจำนวนหนึ่ง จนกระทั่งในภารกิจที่ 6 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2021 บริษัทประสบความสำเร็จในภารกิจส่งดาวเทียมให้กับกองทัพอวกาศสหรัฐอเมริกา (U.S. Space Force) โดยใช้จรวด Rocket 3.3 จากฐานปล่อยจรวดในรัฐอะแลสกา ทิศเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา  


จรวด Rocket 4 จรวดรุ่นใหม่ของบริษัท


บริษัท แอสตรา (Astra) ได้พัฒนาเทคโนโลยีจรวดอย่างต่อเนื่องและจรวดรุ่นใหม่ล่าสุดที่กำลังพัฒนาโดยต่อยอดจากจรวด Rocket 3.3 คือ จรวด Rocket 4 จรวดขนาดเล็กความสูง 18.9 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน จรวดขั้นตอนแรกติดตั้งเครื่องยนต์จรวด 2 เครื่องยนต์ จรวดขั้นตอนที่สองติดตั้งเครื่องยนต์จรวด 1 เครื่องยนต์ รองรับการส่งดาวเทียมน้ำหนักสูงสุด 600 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกหรือระดับความสูง 500 กิโลเมตร เหนือพื้นโลก


จุดเด่นอยู่ที่ระบบภาคพื้นรองรับการปล่อยจรวด


ระบบภาคพื้นดิน (Ground System) รองรับการปล่อยจรวดของบริษัท แอสตรา (Astra) ใช้แนวคิดใหม่ที่เน้นการติดตั้งฐานปล่อยได้รวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งของฐานปล่อยจรวดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ประมาณ 2 ตู้ นั่นหมายความระบบภาคพื้นดินที่บริษัทพัฒนาขึ้นสามารถรองรับการปล่อยจรวดได้จากทุกเกือบพื้นที่บนโลกที่มีตำแหน่งเหมาะสม


การบริหารจัดการปล่อยจรวดทำได้จากระยะไกลผ่านระบบการติดต่อสื่อสาร ทำให้บริษัทระบบภาคพื้นที่มีเจ้าหน้าที่วิศวกรประจำการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ใช้วิธีการทำงานจากศูนย์ควบคุมระยะไกล นอกจากนี้บริษัทยืนยันว่าระบบภาคพื้นดินของบริษัทสามารถขนย้ายได้ทั้งทางเรือ ทางบกและเครื่องบิน


เน้นบริการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กราคาถูก


เทคโนโลยีการปล่อยจรวดที่บริษัทพัฒนาขึ้นถูกออกแบบให้สามารถประหยัดงบประมาณในการส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรต่ำ เปิดโอกาสให้บริษัทหรือหน่วยงานที่มีงบประมาณไม่สูงมากนักสามารถส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นสู่อวกาศโดยมีต้นทุนต่อการส่งดาวเทียมแต่ละภารกิจอยู่ที่ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านบาท 


ภารกิจล่าสุดของบริษัทในวันที่ 12 มิถุนายน 2022 ประสบความล้มเหลวไม่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีคิวงานขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในปี 2023 อีก 5 ภารกิจ ทั้งจากองค์การนาซาและบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศอื่น ๆ




ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ astra.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง