รีเซต

เมื่อจีนใช้มังกรน้อย พลิกฟื้นชนบท (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนใช้มังกรน้อย พลิกฟื้นชนบท (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2568 ( 13:30 )
16

เราตามไปส่องดูกรณีศึกษาอื่นที่จีนพยายามใช้ “มังกรน้อย” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชนบทกันต่อเลยครับ ...

คนจีนในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับ “ประสิทธิภาพ” และ “ความสามารถในการแข่งขัน” เราเห็นการใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างคาดไม่ถึง 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถนนในพื้นที่ชนบทเพิ่มขึ้น 18.5% ส่งผลให้เกือบทุกเมืองมีบริการจัดส่ง หมู่บ้านที่เคยโดดเดี่ยวอาจจัดส่งสินค้าท้องถิ่นไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ


จีนยังประยุกต์ใช้นวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการเกษตรและการตลาดสู่ “ความอัจฉริยะ” ในวงกว้างมากขึ้นโดยลำดับ อาทิ การใช้โดรน (Drone) ระบบสื่อสาร 5G บิ๊กดาต้า (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoTs) ไลฟ์สตรีมมิ่ง และอื่นๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสแวะไปดูงานกิจการของ Shanghai Lianshi Navigation Technology Co., Ltd. หรือในชื่อย่อว่า “เหลียนซื่อ” หรือ “แอลลี่นาฟ” (AllyNav) ซึ่งจากคำบอกเล่าระบุว่า รายนี้ถือเป็น 1 ใน 3 ท๊อปกิจการเครื่องจักรเครื่องมือทางเกษตรอัจฉริยะของจีนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการบังคับอัตโนมัติ (Automated Steering System) เกษตรแม่นยำ และหุ่นยนต์ทางการเกษตร

“เหลียนซื่อ” มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตชิงผู่ (Qingpu) ด้านซีกตะวันตกของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งยังคงมีพื้นที่ด้านการเกษตรเหลืออยู่ และมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การทุ่มทุนในอัตราเร่งกับงบวิจัยและพัฒนา และเต็มไปด้วยเกษตรกร “หนุ่มสาว” รุ่นใหม่ที่ทันสมัย รวมทั้งความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาการทำฟาร์มอัตโนมัติกับหลายธุรกิจและสถาบันการศึกษาชั้นนำรวมกว่า 200 โครงการ

นอกจากระบบการบังคับอัตโนมัติที่สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้ทุกระบบทั้งเป๋ยโต่ว (Beidou) จีพีเอส (GPS) กาลิเลโอ (Galileo) และอื่นๆ แล้ว บริษัทฯ ยังมีผลิตภัณฑ์เด่นอีกมากมาย อาทิ ระบบปรับพื้นผิวที่ดิน และระบบควบคุมการเพาะปลูก การให้ปุ๋ย และการฉีดพ่น ตลอดจนโซลูชั่นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm Solutions) ที่ออกไปทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง และเตรียมจะเข้าลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ของจีนในอนาคตอันใกล้ 

แม้กระทั่งในมณฑลรอง อาทิ เสฉวน กานซู่ และเจียงซี เรายังเห็นการใช้เทคโนโลยี IoT ในการตรวจสอบการเพาะปลูกข้าวสาลี การพัฒนาธัญพืชอื่น และการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีคุณภาพสูง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากและมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยดึงดูดคนหนุ่มสาวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ได้เป็นจำนวนมาก

คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่เพียงใส่ใจกับการทำฟาร์มเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ให้ความใส่ใจกับการเขียนโค้ด นำร่องนวัตกรรม และดำเนินการด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ อันนำไปสู่การสร้างธุรกิจที่มีรากฐานอันลึกซึ้งและเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างหนึ่งในโลกออนไลน์ก็คือ คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับการเลี้ยงไก่ 10,000 ตัวว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ปรากฏว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่คนหนึ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและแจ้งว่า “เพียง 30 นาที” 

เกษตรกรดังกล่าวอธิบายว่า เขาเรียนรู้และปรับใช้ระบบการให้อาหารแบบเส้นทางเดียว (Monorail) ที่เป็น “ต้นแบบ” ของการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดเล็กจากโลกออนไลน์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้บัญชาการไก่” ในหมู่คนหนุ่มสาว สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและจัดสรรเวลาและทรัพยากรอื่นเพื่อเพิ่มผลประกอบการโดยรวมได้

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นผ่านสตาร์ตอัพในมณฑลเหอหนาน ตอนกลางของจีนเมื่อ Henan Yimin Holding Co. ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2019 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวนอุตสาหกรรมสาขาการบิน (Aviation Field Industrial Park) นครเจิ้งโจว (Zhengzhou) เมืองเอกของมณฑล ได้นำเอา 5G บิ๊กดาต้า (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และอินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoTs) นำเอาเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพริก 


ภายหลังการระดมทุนจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Henan Agricultural Production Investment รัฐวิสาหกิจด้านการเงินของมณฑลเหอหนาน บริษัทฯ ก็เดินหน้าพัฒนาฐานแอปพลิเคชั่นการปลูกพริกอัจฉริยะ 5G (5G Intelligent Pepper Planting Application Base) และนำไปสู่แนวทางใหม่ในการเพาะปลูกพริกไทยอัจฉริยะและอุตสาหกรรมพริกไทยดิจิตัล

ในทางปฏิบัติ บริษัทฯ ส่งเสริมการฝึกอบรม สนับสนุน และปรับมุมมองความคิด “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการเข้าสู่ภาคการเกษตร และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงห่วงโซ่แห่งคุณค่าทั้ง 7 ส่วนอย่างครบวงจรตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การจัดการการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การจัดเก็บ การตลาด และบริการบนพื้นฐานของประสิทธิภาพและความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้พัฒนาระบบการตรวจสอบดินแบบเรียลไทม์ (Real-Time Soil Monitoring System) ซึ่งช่วยให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทารและการใส่ปุ๋ยได้เป็นอย่างมาก และนำไปสู่การลดการใช้น้ำได้ 50% การใช้ปุ๋ย 30% และลดต้นทุนแรงงานได้ถึง 70% จนกลายเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 

ทำนองคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในมณฑลเหอหนานเมื่อนวัตกรรมทางเทคโนโลยีช่วยให้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีในจีนรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น อันนำสู่ผลิตภาพทางการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี

ผู้เชี่ยวชาญในวงการยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน นักวิจัยได้พัฒนาสายพันธุ์ที่นำไปสู่แป้งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และสายพันธุ์ที่มีกากใยอาหารสูงสำหรับผู้บริโภคที่มีระบบการย่อยอาหารที่อ่อนไหว 

กรณีศึกษานี้สะท้อนว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ผู้ผลิตแป้ง นักวิทยาศาสตร์ และผู้ผลิตเมล็ดพืชร่วมมือกันอย่างแนบแน่น และทำให้มั่นใจได้ว่าอุปสงค์และอุปทานจะดำเนินไปอย่างสอดประสานกัน ช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิผลทางการเกษตร และตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ การใช้ความสำคัญกับการเสริมสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ และการสนับสนุนให้มีผู้นำอุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง

สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐบาลจีนมองเรื่องนี้อย่างรอบด้านอย่างแท้จริง การมีธุรกิจใหม่ที่เบ่งบาน โดยมีโมเดลธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต และแบรนด์ที่มีศักยภาพนับเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนและการสร้างความมั่งคั่ง

ติดตามต่อตอนหน้า ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง