ส่องภาพรวมปัจจุบันและดูแนวโน้มอนาคตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเมืองไทย
การใช้งานยานพาหนะที่เป็นระบบพลังงานไฟฟ้านั้นมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ทั้งแบบไฮบริดที่ผสมกับเครื่องยนต์สันดาป และแบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในอนาคต สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเชื่อว่าจำนวนพาหนะที่เป็นพลังงานไฟฟ้าล้วนและพลังงานสะอาดอื่น ๆ (ZEV: Zero-Emission Vehicle) จะเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านภายในปี 2030
และเมื่อส่องตัวเลขจำนวนยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าจดทะเบียนในปัจจุบัน พบว่ามีรถพลังงานไฟฟ้าล้วนทั้งสิ้น 7,310 คัน โดยเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน 3,042 คัน รถจักรยานยนต์ 4,106 คัน รถสามล้อ 113 คัน และรถโดยสารอีก 49 คัน โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นตรงกับเงื่อนไขรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าล้วน ไม่ได้มีการผสมพละกำลังเครื่องยนต์สันดาปแต่อย่างใด
ในขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ปี 2030 นั้นเชื่อว่าประเทศไทยจะมียานพาหนะไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนกว่า 1,125,200 คัน โดยมาจากจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถึง 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอีก 650,000 คัน ที่เหลือที่เพิ่มขึ้นก็มีลักษณะการเพิ่มขึ้นที่คล้ายคลึงกัน สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการเพิ่มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030
และเมื่อขยับออกไปอีก 5 ปี หรือในปี 2035 ตัวเลขคาดการณ์ของยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าท้ังหมดนั้นกระโดดไปเกือบ 3 เท่า หรือกว่า 3,039,800 คัน และเพียงแค่จำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็มีจำนวนพอกันกับตัวเลขยานพาหนะทั้งหมดของ 5 ปี ก่อนหน้านั้นแล้ว และที่น่าสนใจก็คือตัวเลขของรถโดยสารสาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 83,000 คัน หรือเกือบ 200 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน
และเพื่อให้การใช้งานยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าแพร่หลาย อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือสถานีชาร์จ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีสถานีชาร์จกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 870 แห่ง โดยมีผู้เล่นหลากหลายหน้าตา ทั้ง PTT กฟฝ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือแม้แต้เอกชนอย่างพลังงานบริสุทธิ์ (EA) เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเชื่อได้ว่าทิศทางการเติบโตของยานพาหนะไฟฟ้าในไทยจะต้องสดใสอย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
ที่มารูปภาพ Gettyimages, Unsplash