รีเซต

รู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมเบิกจ่ายได้หากเป็น

รู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมเบิกจ่ายได้หากเป็น
Ingonn
13 มิถุนายน 2564 ( 16:56 )
548
รู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมเบิกจ่ายได้หากเป็น

จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดมากขึ้นในประเทศไทยทำให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เปรียบเสมือนอาวุธป้องกันโรคที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ก็มักมีข่าวคราวเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยหลักๆมักมีสาเหตุมาจากเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ

 

 

วันนี้ TrueID จะพารู้จักโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน พร้อมสถานที่ตรวจ

 

 


ภาวะ VITT คืออะไร


ภาวะ VITT (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia) คือการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ ที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีนอยู่ 2 ชนิดคือ วัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 

 

 

กลไกที่ทำให้เกิดภาวะ VITT เกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ

 

 


ภาวะ VITT เกิดขึ้นกับใคร


สำหรับอุบัติการณ์ในการเกิด VITT ประชากรทั่วไปจะพบได้ประมาณ 1 ต่อแสนประชากร ส่วนผู้สูงอายุจะพบได้น้อยมาก โดยผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีจะพบได้ 1 ต่อล้านของประชากรที่ฉีดวัคซีน แต่ถ้ามีอายุน้อยกว่า 55 ปีจะพบได้บ่อยขึ้นพบได้ 1 ต่อ 50,000 ของประชากร ส่วนใหญ่พบในผู้หญิง อาการมักจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่สามารถพบได้ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 30 วันหลังจากฉีดวัคซีน อาการขึ้นอยู่กับว่าลิ่มเลือดอุดตันที่อวัยวะใด โดยส่วนมากจะพบที่หลอดเลือดดำของสมอง

 

 

 

อาการของภาวะ VITT

 

อาการเริ่มต้นอาจจะมีมึนศีรษะ ปวดศีรษะ และปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แขนขาอ่อนแรง และชักได้ รองลงมาจะมีลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้องก็จะมีอาการปวดท้องตอนแรกอาจจะอาการไม่มาก ถ้าทิ้งไว้ก็อาจจะมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ คลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการเหล่านี้อาจจำเป็นจะต้องมาโรงพยาบาล ส่วนอาการที่พบน้อย จะเป็นภาวะที่มีเลือดออก เพราะภาวะ VITT เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ อาจจะมีจ้ำช้ำ จุดเลือดออกเล็กๆ

 

 


การวินิจฉัยภาวะ VITT


การวินิจฉัยภาวะนี้จะประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ


1. มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ถ้ามีอาการสงสัย ก็อาจจะต้องส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ตามอวัยวะนั้นๆที่มีอาการ โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการอะไร


2.ปริมาณเกล็ดเลือดเลือดของคนไข้ที่จะต่ำลงในภาวะ VITT


3. การตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านเกล็ดเลือดของตัวเองเป็นการตรวจที่จำเพาะเจาะจงต่อภาวะ VITT และที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทำการตรวจชนิดนี้ได้

 

 


การรักษา


สำหรับการรักษาจะคล้ายกับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตัน ได้แก่ การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้เนื่องจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาจจะต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ป่วยทั่วๆ ไป การรักษาที่อาจจะต้องเพิ่มเติมมาก็คือการให้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG) เพื่อไปยับยั้งภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้

 

 

สิทธิประโยชน์ใหม่ การตรวจและรักษาภาวะ VITT

 

แม้ว่าภาวะ VITT จะมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก แต่ สปสช. ก็ต้องการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมเพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชนทุกคนในการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ว่าหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น จะได้รับการดูแลทั้งกระบวนการ โดยจะครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ดังนี้

 

1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง CBC

 

2. การตรวจวินิจฉัย Heparin-PF4 antibody (lgG) ELISA assay

 

3. การตรวจวินิจฉัย Heparin induced Platelet activation test (HIPA)

 

4. ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG)

 

 

ซึ่งให้เบิกจ่ายตามระบบ VMI โดย สปสช. คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 9.28 ล้านบาท 

 

 

          

เบิกยา IVIG ได้ไหม

 

สำหรับยา IVIG สำหรับรักษาภาวะ VITT นั้น ไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงต้องเบิกจ่ายผ่านโปรแกรมยา จ2 ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาบริการ โดย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยา และคณะทำงาน AEFI ที่จะดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่

 

1. พัฒนาหน่วยตรวจให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพของประเทศ

 

2. ติดตามข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด VITT

 

 

3. ประเมินประสิทธิผลของยา IVIG และหลังจากที่ได้ดำเนินการครบระยะเวลา 1-2 ปี ให้มีการทบทวนสิทธิประโยชน์ในกรณีนี้อีกครั้ง

 

 

 

เบิกได้เมื่อมีอาการเหล่านี้

 

หากผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4-30 วัน มีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาชาอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ชัก ตามัว เห็นภาพซ้อน เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก ปวดท้องหรือปวดหลังรุนแรง ขาบวมแดง หรือ ซีด เย็น แนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดย สปสช. จะสนับสนุนค่าตรวจรวมทั้งค่ารักษาให้

 

 

 

โรงพยาบาลที่รับตรวจ


ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนอย่างน้อย 79 แห่ง ทั่วประเทศที่มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะส่งตัวอย่างเลือดเพื่อยืนยันอีกครั้งด้วยวิธีที่เรียกว่า Anti PF4/heparin antibody และ Platelet activation assay ตามแนวทางของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย

 

 

ภาคเหนือ


1. จังหวัดเชียงราย มีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ และโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค


2. จังหวัดเชียงใหม่ มีโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลลานนา และ เชียงใหม่ราม สหคลินิก


3. จังหวัดลำปาง มีโรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม


4. จังหวัดลำพูน มีโรงพยาบาลลำพูน


5. จังหวัดอุตรดิตถ์ มีโรงพยาบาลอุตรดิตถ์

 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


1. จังหวัดเลย มีโรงพยาบาลเมืองเลยราม


2. จังหวัดหนองบัวลำภู มีโรงพยาบาลหนองบัวลำภู


3. จังหวัดอุดรธานี มีโรงพยาบาลกรุงเทพ-อุดร


4. จังหวัดสกลนคร มีโรงพยาบาลสกลนคร


5. จังหวัดนครพนม มีโรงพยาบาลนครพนม


6. จังหวัดชัยภูมิ มีโรงพยาบาลชัยภูมิ


7. จังหวัดขอนแก่น มีโรงพยาบาลข่อนแก่น, โรงพยาบาลศรีนครินทร์


8. จังหวัดกาฬสินธุ์ มีโรงพยาบาลกาฬสินธุ์


9. จังหวัดนครราชสีมา มีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลปากช่องนานา


10. จังหวัดบุรีรัมย์ มีโรงพยาบาลบุรีรัมย์


11. จังหวัดสุรินทร์ มีโรงพยาบาลสุรินทร์


12. จังหวัดศรีสะเกษ มีโรงพยาบาลศรีสะเกษ


13. จังหวัดอุบลราชธานี มีโณงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์, โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี และโรงพยาบาลอุบลรักษ์ ธนบุรี

 

 


ภาคกลาง


1. จังหวัดพิษณุโลก มีโรงพยาบาลพุทธชินราช และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


2. จังหวัดนครสวรรค์ มีโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และโรงพยาบาลศรีสวรรค์


3. จังหวัดลพบุรี มีโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช


4. จังหวัดสุพรรณบุรี มีโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช


5. จังหวัดนครปฐม มีโรงพยาบาลนครปฐม


6. จังหวัดนนทบุรี มีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, โรงพยาบาลเกษมราษฏร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศน์ และโรงพยาบาลนนทเวช


7. จังหวัดปทุมธานี มีโรงพยาบาลปะกอก-รังสิต 2


8. จังหวัดนครนายก มีโรงพยาบาลนครนายก


9. จังหวัดสมุทรสาคร มีโรงพยาบาลสมุทรสาคร, โรงพยาบาลกระทุ่มแบน และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

 

 

ภาคตะวันออก


1. จังหวัดปราจีนบุรี มีโรงพยาบาลอภัยภูเบศร


2. จังหวัดสระแก้ว มีโรงพยาบาลสระแก้ว


3. จังหวัดชลบุรี มีโรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลบางละมุง และโรงพยาบาลพนัสนิคม


4. จังหวัดระยอง มีโรงพยาบาลระยอง


5. จังหวัดจันทบุรี มีโรงพยาบาลพระปกเกล้า

 

 

ภาคตะวันตก


1. จังหวัดราชบุรี มีโรงพยาบาลราชบุรี


2. จังหวัดเพชรบุรี มีโรงพยาบาลกรุงเทพเพชรบุรี
 

 

ภาคใต้


1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลกรุงเทพสุราษฎร์


2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโรงพยาบาลมหานครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสิชล


3. จังหวัดภูเก็ต มีโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์


4. จังหวัดตรัง มีโรงพยาบาลตรัง


5. จังหวัดสงขลา มีโรงพยาบาลหาดใหญ่, โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

 


กรุงเทพมหานคร


1. โรงพยาบาลราชวิถี


2. โรงพยาบาลศิริราช


3. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์


4. โรงพยาบาลรามาธิบดี


5. โรงพยาบาลตำรวจ


6. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


7. สถาบันประสาทวิทยา


8. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี


9. โรงพยาบาลเลิดสิน


10. โรงพยาบาลกรุงเทพ


11. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์


12. โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม


13. โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ฯลฯ

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ , คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คำแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง