สรุปวัคซีนโควิด-19 ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่?
เป็นอีกคำถามใหญ่ที่หลายคนสงสัยว่า การเสียชีวิตด้วยสาเหตุลิ่มเลือดอุดตันเกิดจากวัคซีนโควิด-19 จริงหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศพบผู้ที่ฉีดนั้นเกิดภาวะลิ่มเลือดหลายสิบรายและบางรายเสียชีวิต จึงไม่แปลกที่เราจะเป็นกังวลเมื่อต้องฉีดวัคซีนโควิด-19
วันนี้ TrueID ได้มาไขข้อสงสัยในประเด็นวัคซีนโควิด-19 ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันจริงหรือไม่? โดยแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เปิดข้อมูลเกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19 กับ ลิ่มเลือดไว้ มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่ต้องระวัง
วัคซีนโควิด-19 กับทำให้ลิ่มเลือดอุดตัน?
ภาวะหลอดเลือดดำหรือลิ่มเลือดอุดตันธรรมดาที่พบรายงานในต่างประเทศ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในประชากรไทย เนื่องจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสรีระร่างกายทำให้มีอัตราการพบน้อยกว่าคนผิวขาว
หลังจากติดโรคโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันสูง ถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันที่รุนแรง วัคชีนทุกประเภทไม่เพิ่มโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันทั่วไป ทั้งหลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเคยเป็น อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดดำอุดตันมาก่อนสามารถฉีดวัคซีนได้
นอกจากนั้นภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดดำอุดตัน โดยเฉพาะที่สมองที่มีรายงานหลังฉีดวัคซีนของแอสต้าเซนเนก้า หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น มีโอกาสเกิดต่ำมาก ซึ่งยังไม่พบในประเทศไทย สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ด้วยยาที่มีอยู่ในประเทศไทย
6 ข้อสรุปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันจริงหรือไม่?
1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ทุกชนิดไม่ส่งผลต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และลิ่มเลือดอุดตัน
2.การเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่สมอง มีรายงานหลังฉีดวัคซีนของ AstraZeneca หรือ Johnson and Johnson ว่ามีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่ระหว่าง 1 : 100,000 ถึง 1 : 500,000 ซึ่งภาวะนี้สามารถรักษาได้จากการวินิจฉัยและยาที่มีอยู่ในประเทศ
3.ภาวะหลอดเลือดอุดตันภายหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความน่ากังวลมากกว่าการฉีดวัคซีน เพราะการติดเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตันสูงถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันที่รุนแรง
4.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกชนิดมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันแต่ผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีนแต่ละชนิด มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 : 100,000 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ปอดอักเสบรุนแรง หลอดเลือดอุดตัน หรือเสียชีวิตนับหมื่นเท่า
5.ความกังวลหลังฉีดวัคซีน Sinovac ที่ว่าฉีดแล้วจะป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ หรือโรคอัมพาต ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วไม่พบผู้ที่เกิดหลอดเลือดสมองอุดตันจากการฉีดวัคซีน
6.ปัจจุบันไม่พบหลักฐานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยตรง ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ประมาณ 1 : 60,000 ซึ่งภายหลังการสอบสวนโรคแล้ว พบว่าอาจเกิดจากโรคประจำตัวของผู้เสียชีวิตมากกว่าเกิดจากการฉีดวัคซีน
ผู้ที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรง
ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ภายหลังจากการฉีดวัคซีนในเข็มแรก ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 2 ชนิดเดิมได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนชนิดของวัคซีน โดยผู้ที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำเป็นต้องเฝ้าดูอาการนานกว่าปกติ
ผู้ป่วยขั้นวิกฤต
ผู้ป่วยขั้นวิกฤตและผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรคที่รักษาตัวในโรงพยาบาลจำเป็นต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน จนกว่าสุขภาพร่างกายจะพร้อมจึงสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
ผู้ป่วย HIV
ผู้ป่วย HIV สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ยกเว้นว่ากำลังมีอาการของโรค หรือเม็ดเลือดขาว (CD4) น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ควรรักษาให้อาการอยู่ในระดับปกติก่อน จึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
หลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต้องทำอย่างไร
1.สังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประมาณ 30 นาที
หลังการฉีดวัคซีนอาจมีใข้ต่ำ ๆ ปวดบริเวณที่ฉีด คลื่นใส้ อาเจียน อาการเหล่านี้มักดีขึ้นภายใน 3 วัน ให้รักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาพาราเซตามอล กรณีมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
หากมีอาการข้างเคียงรุนแรง เช่น แขนขาอ่อนแรง แน่นหน้าอก หมดสติ รีบพบแพทย์ใกล้บ้านทันที หรือติดต่อสายด่วน 1669
2.ตรวจสอบความถูกต้องของใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และใบนัดหมายครั้งต่อไป
3.ทำแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์ หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ในวันที่ 1, 7 และ 30 หลังฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อม
4.เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 2 ตามวันและเวลาที่นัดหมาย
มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำหลังฉีดวัคซีนไหม
ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากการติดตามระดับภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว พบว่าระดับภูมิต้านทานจะเริ่มลดลงตั้งแต่ 3-6 เดือน เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวสั้นเพียง 2-7 วัน เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นในผู้ป่วยที่หายแล้วจึงสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้ว หากมีการรับเชื้อซ้ำแล้วระดับภูมิต้านทานสูงไม่เพียงพอต่อการต้านโรค ก็จะสามารถติดเชื้อซ้ำได้ แต่อาการจะรุนแรงลดลง
ดังนั้น การป้องกันโรคโควิด-19 ในอนาคต เมื่อมีวัคซีนเพียงพอ ประชาชนจำเป็นจะต้องมีภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอด จึงอาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยการดวัคซีนซ้ำ เพื่อให้ภูต้านทานอยู่ระดับสูง
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง