รีเซต

เช็กเลย! อาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ใน 30 นาที มีอะไรบ้าง

เช็กเลย! อาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ใน 30 นาที มีอะไรบ้าง
Ingonn
24 มิถุนายน 2564 ( 11:58 )
325
เช็กเลย! อาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ใน 30 นาที มีอะไรบ้าง

 

ช่วงนี้หลายๆคนกำลังเริ่มรับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และอาจมีความกังวลใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนเนื่องจากการฉีดวัคซีนแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนซิโนแวค ต่างมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้นและสำหรับบางคนอาจเกิดอาการแพ้ได้ โดยทุกครั้งหลังฉีดจะต้องเฝ้าสังเกตอาการ 30 นาที ว่ามีอาการแพ้หรือไม่

 

 


วันนี้ TrueID ขอมาบอกให้รู้ก่อนแพ้วัคซีนโควิดจริง หลังจากฉีด ภายในเวลา 30 นาที ว่าจะมีอาการอย่างไรบ้าง หรือหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วอาจเกิดอาการแพ้ขึ้นได้จะสังเกตตนเองอย่างไร

 

 


สิ่งที่ควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

 

1.การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในสถานการณ์ที่กำลังระบาดหนักและมีสายพันธุ์ใหม่

 


2.หากมีประวัติแพ้ยาหรืออาหารอย่างรุนแรง แนะนำให้แจ้งแพทย์/พยาบาลก่อนจะฉีดวัคซีน

 


3.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ปีและหญิงตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

 


4.หลังฉีดวัคซีนแล้วให้นั่งพักเฝ้าระวังตนเองเป็นเวลา 30 นาทีอาการแพ้ที่เกิดขึ้นใน 7 ถึง 14 วันหลังฉีดวัคซีน ก็ต้องแจ้งแพทย์/พยาบาลเช่นกัน

 


5.ภาวะลิ่มเลือดอุดตันและอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดน้อยมากและสามารถแก้ไขได้

 


6.ในอนาคตอันใกล้ จะมีการบริหารวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ผ่านทางการสูดดมหรือสูดพ่นผ่านรูจมูกซึ่งจะสะดวกและได้ผลดีมากขึ้นอีก

 


7.ฉีดวัคซีนครบแล้วยังต้องใช้วิถีชีวิตใหม่อย่างเข้มข้น (new normal plus) ต่อไปก่อนอีกอย่างน้อย 6 เดือน

 


8.การสวมหน้ากากอนามัย การลดเวลาเข้าไปในชุมชนสาธารณะ (ไม่เกิน 15 นาทียิ่งดี) การล้างมือ การหลีกเลี่ยงการเข้าไปห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้เราไม่ติดเชื้อหรือไม่เจ็บป่วยรุนแรง

 

 

 

ผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ได้และให้เลื่อนการฉีดออกไปก่อน


หญิงตั้งครรภ์ในสามเดือนแรก เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้ป่วยที่มีการกำเริบของโรคเดิม โรคมะเร็งและควบคุมโรคยังไม่ได้ หรือมีไข้สูง ป่วยไม่สบายมาก ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

 

 


อาการข้างเคียงและอาการแพ้หลังฉีดวัคซีน

 

1. อาการข้างเคียงเฉพาะที่ (ตรงกล้ามเนื้อที่ฉีดวัคซีน) 


หลังฉีดใน 1-3 ชั่วโมงแรก อาจจะรู้สึกตึงที่ต้นแขน ต่อมาจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยที่ต้นแขนได้ ต้นแขนจะไม่บวมหรือบวมจนเห็นชัดเจน จะไม่รู้สึกเจ็บเมื่อลูบผ่านผิวหนังตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน

 

 

2. อาการข้างเคียงทั่วร่างกาย (ตามระบบ)


หลังฉีดได้ 24 ชั่วโมง อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ ไปถึงสูงได้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามแขน ขา รู้สึกอ่อนเพลียเล็กน้อย รู้สึกไม่ค่อยสบาย เบื่ออาหารเล็กน้อย อาการเหล่านี้แสดงว่าภูมิคุ้มกันของเราถูกกระตุ้นจากการฉีดวัคซีนและร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกัน 

 

 

บรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ด้วยการกินยาพาราเซตามอล (500 มก. ในผู้ใหญ่) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1-3 ครั้งก็น่าจะพอ โดยทั่วไปอาการเหล่านี้เกิดไม่นานเกิน 3-5 วัน ผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มที่สอง อาจจะมีอาการข้างเคียงรุนแรงมากขึ้นบ้างแต่จะไม่ได้มีมากมายจนผิดปกติ

 

 

3. อาการแพ้วัคซีน


อาการแพ้เป็นเรื่องสุดวิสัยและเป็นเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดหรือไม่ อาจจะแพ้ที่ตัวไวรัสหรือส่วนประกอบของตัวไวรัสหรือแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ผสมกับไวรัสหรือส่วนประกอบของไวรัสเพื่อทำเป็นวัคซีน

 

 

 

อาการแพ้รุนแรงที่เกิดใน 30 นาทีแรกหลังฉีดวัคซีน


1.อาจจะหายใจลำบาก, แน่นหน้าอก ใจสั่น กระวนกระวายจากหลอดลมตีบ ริมฝีปาก ลิ้นหรือลำคอบวม บางรายเกิดลมพิษที่ผิวหนัง พบได้ประมาณ 5 รายในการฉีดหนึ่งล้านคน

 

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ มักพบในเพศหญิงและเคยมีประวัติแพ้อาหารหรือสารอื่น ๆ แบบมีลมพิษหรือแน่นหน้าอกมาก่อน 
ดังนั้นหลังฉีด 30 นาทีแรก ให้ผู้ถูกฉีดนั่งและมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล

 

 

2.บางรายมีอาการเด่นชัดของระบบประสาท เช่น อาการชาครึ่งซีก แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยวคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดทางสมอง ดังที่เป็นข่าวในบุคลากรที่ปฏิบัติงานทางการแพทย์ 6 รายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคและในที่อื่น (ฉีดวัคซีนชนิดนี้ไปแล้ว 600,000 ราย) การตรวจเอกซเรย์สมองด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่พบความผิดปกติของเนื้อสมอง มีหนึ่งรายสงสัยว่า หลอดเลือดสมองหดตัวชั่วคราวทำให้เกิดอาการดังกล่าว 


อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ที่เกิดอาการเหล่านี้เป็นชั่วคราวและหายกลับมาเป็นปกติภายใน 1 ถึง 3 วัน อาการในกลุ่มนี้อาจจะแยกยากออกจากกลุ่มที่มีสาเหตุจากความตื่นเต้น เครียด วิตกกังวล หรือกลัวเข็มหรือการฉีดวัคซีน (คล้ายๆ กับคนที่เห็นเลือดหรือถูกเจาะเลือดแล้วเป็นลมเกือบจะทันที พบได้ถึงร้อยละ 1 ถึง 3 ของผู้ถูกฉีดยาหรือวัคซีนในคนอายุน้อย ต้องให้นอนพัก ดมยาดมกระตุ้นแล้วจะหายเป็นปกติ) 


องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อภาวะนี้ในคนกลุ่มนี้ว่า Immunization Stress-Related Responses (ISRR) อาการที่เกิดจากความเครียดแบบนี้หลังการฉีดวัคซีนมักพบในคนอายุน้อย ความเครียด วิตกกังวลจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว แต่แก้ไขง่าย

 

 

3.ตัวอย่างของการแพ้ในระบบประสาท เกิดที่โรงพยาบาลระยองระหว่างวันที่ 5-9 เมษายน 2564 มีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ 3,029 รายพบอาการแพ้ดังกล่าวภายหลังฉีดวัคซีน 72 ราย(ร้อยละ 2.37) ในจำนวนนี้เป็นอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรงที่เรียกว่า Serious AEFI จำนวน 6 ราย ทุกรายเป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 21-54 ปี ทั้งหมดรับการฉีดวัคซีน CoronaVac ของบริษัทซิโนแวค เลขที่ผลิต Lot No.J20210300 1 m6dik เดียวกัน จำนวน 76 กล่อง วันหมดอายุคือวันที่ 1 กันยายน 2564

 

 

 

อาการแพ้ที่เกิดหลัง 30 นาทีแรกจนถึงสามหรือสี่สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีน


1.บางรายมีผื่นตามผิวหนัง มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวนาน 3-6 วัน

 


2.มีน้อยรายมาก ๆ ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรือแดงในสมองหรือช่องท้อง เกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในสมอง บางรายมีเนื้อสมองตาย มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือในร่างกาย 


มักพบในเพศ หญิงอายุต่ำกว่า 60 ปี และเกิดภายใน 3 สัปดาห์ พบครั้งแรกหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ต่อมาพบในวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน บางรายมีอาการชัก กลุ่มอาการนี้มีชื่อว่า vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia (VTT) ผู้ที่แพ้จนเกิดกลุ่มอาการนี้มีระดับแอนติบอดีสูงต่อเกล็ดเลือด (สาร PF4-polyanion complexes) จนเกล็ดเลือดถูกทำลายและเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในสมองและช่องท้องบางแห่งใช้ชื่อว่า Vaccine-Induced Prothrombotic Immune Thrombocytopenia (VIPIT) 


ให้ถือว่า อาการแพ้แบบนี้เป็นเหตุสุดวิสัย พบได้ในผู้ฉีดวัคซีนประมาณ 1 รายใน 125,000 ถึงหนึ่งล้านคน ไม่มีรายใดติดโควิด-19 มาก่อนและไม่เคยรับยาต้านเลือดแข็งเฮปารีน (heparin) มาก่อนซึ่งเป็นยาที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ด้วย

 

 

ข้อมูลจนถึงปลายเดือนเมษายน พบอุบัติการณ์การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในสมองและช่องท้องจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ในการฉีดวัคซีน mRNA ดังนี้


• 0.4 รายต่อล้านคนในประชากรปกติทั่วไป


• 4 รายต่อหนึ่งล้านคนที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์


• 4 รายต่อหนึ่งล้านคนที่ฉีดวัคซีนของโมเดอนนา


• 5 รายต่อหนึ่งล้านคนที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้า เซเนก้า


• 39 รายต่อหนึ่งล้านคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

 


3.ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงและเคยป่วยเป็นแขนขาเป็นอัมพาตนาน 7 ถึง 10 วันขึ้นไป (กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร, Guillan Barre Syndrome หรือ GBS) อาจจะพิจารณาเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มเติมในด้านความปลอดภัยในเรื่องนี้จากการฉีดวัคซีน

 

 

4.ประเทศอิสราเอลมีการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ไปแล้วมากกว่า 5 ล้านโดส แล้วเริ่มมีรายงานว่า พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในผู้ถูกฉีด 62 ราย และ 56 จาก 62 รายเกิดหลังการฉีดเข็มที่สอง ส่วนมากพบในเพศชายอายุน้อยกว่า 30 ปี กำลังสอบสวนว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสัมพันธ์โดยตรงกับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือไม่

 

 


การเตรียมตัวก่อนการได้รับวัคซีน


1.การพักผ่อนให้เต็มที่ 


2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ


3.ทำสภาพจิตใจให้ผ่อนคลาย

 
4.นั่งให้สบายขณะฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการเป็นลมและล้มลงบนพื้น

 

 

 

จะเห็นได้ว่าการสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อการรักษา แม้อาการแพ้วัคซีนจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ดังนั้นเมื่อเดินทางไปฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว อย่าลืมพักและเช็กร่างกายให้ดีด้วย

 

 

ข้อมูลจาก แพทยสภา

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง