รีเซต

“ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว” ควรฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มช่วงนี้บ้าง

“ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว” ควรฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มช่วงนี้บ้าง
Ingonn
17 มิถุนายน 2564 ( 14:43 )
274
“ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว” ควรฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มช่วงนี้บ้าง

 

ถ้าหากไม่มีโรคโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทุกคนก็คงใช้ชีวิตปกติ และมีการป้องกันโรคต่างๆด้วยการฉีดวัคซีนเหมือนเคย แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา การฉีดวัคซีนธรรมดาอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนโควิดร่วมด้วย เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่อการป้องกันโรคอย่างมีปริทธิภาพ และไม่มีอาการแพ้ หรืออาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด

 

 

 

วันนี้ TrueID ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ควบคู่กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าในระยะนี้วัคซีนตัวไหนที่ควรฉีดบ้างและควรฉีดอย่างไร

 

 


ฉีดวัคซีนอื่นพร้อมวัคซีนโควิดได้หรือไม่ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่

 

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เว้นระยะระหว่างวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนการตอบสนองต่อวัคซีนที่ฉีดตามมา โดยให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อนวัคซีนอื่น ๆ 

 

 

อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล ให้ฉีดวัคซีนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา และในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่ทำได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงซึ่งต้องคำนึงถึงมากกว่า

 

 

 

การฉีดวัคซีนอื่นๆ


- วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส จะฉีดให้ทุกคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ หรือไม่เคยได้รับวัคซีนนี้ โดยฉีดสองเข็ม


- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดกระตุ้นปีละครั้ง


- วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดให้เฉพาะผู้มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็มคือ วันที่ 1,7 และ 21


- วัคซีนงูสวัด ฉีดให้ทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 เข็ม คร้้งเดียวตลอดชีวิต


- วัคซีนบาดทะยัก ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากเชื้อบาดทะยัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อตั้งแต่ 3-21 วัน หรืออาจนานกว่านั้น โดยเฉลี่ยมีอาการภายใน 10-14 วัน พิษของเชื้อจะทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุกและ รุนแรงจนเสียชีวิตได้ ฯลฯ

 

 

 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนอื่นๆด้วย


1.จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจทําให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

 

2.ลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อร่วม (co-infection) กับโรคโควิด-19 เช่น ไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส

 

3.ลดภาระของระบบสาธารณสุขในภาพรวม

 

แต่ถ้าหากกังวลว่าการมารับวัคซีนที่โรงพยาบาลอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 ทั้งระหว่างการเดินทางและขณะที่อยู่ที่สถานพยาบาล ช่วงเวลาในการให้วัคซีนส่วนใหญ่จึงยังสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น วัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็ก สามารถเลื่อนได้ 1 สัปดาห์ – 1 เดือน  แต่หากไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามกำหนด ก็ควรรีบมาฉีดให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

 

 

วัคซีนที่ควรต้องฉีดตามกำหนด


ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย2  แนะนำในทิศทางเดียวกันว่าไม่ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนเหล่านี้ ได้แก่

 

1.วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรคอีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น เช่น ถ้าโดนสัตว์กัด การไม่ฉีดวัคซีนทันทีอาจจะเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนมีอันตรายต่อชีวิตได้

 


2.วัคซีนสําหรับทารกแรกเกิด ได้แก่ วัคซีนบีซีจี และวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี เข็มแรกเกิด ควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เพราะเด็กแรกเกิดภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก

 


3.วัคซีนในผู้ใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน IPD) และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค 

 

 


เหตุผลที่ “วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ” และ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” จำเป็นต้องฉีด


1.ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทุกปี ตัวไวรัสจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย จนทำให้อ่อนแอลงและเกิดการติดเชื้ออื่นๆ อย่างเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเข้ามาได้ง่ายขึ้น

 

 

2.พบการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากถึง 59.5% ในประเทศจีน (จากการเก็บข้อมูลในคนไข้โรคโควิด-19 257 คน ในจังหวัด Jiangsu ตั้งแต่ 22 มค – 2 กพ 2020)

 

 

3.โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส และ ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย โดยอาจรับเชื้อจากการสัมผัสละอองการไอและจามของผู้ป่วย ทั้งสองโรคนี้มีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 คือ ไข้สูง ไอ หอบ หายใจลำบาก ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอซึ่งค่อนข้างแยกออกจากโรคโควิด-19 ได้ยาก 

 

 

4.โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านเหมือนไข้หวัดทั่วไปได้ เป็นโรคที่มีความรุนแรง บางรายมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยมักต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือนอนในห้อง ICU

 

 

 

ใครต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติม


กลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงจากเชื้อโควิด-19 ได้แก่


1.ผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไป

 

2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

 

 

 

ฉีดวัคซีน “วัคซีนปอดอักเสบ” และ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” อย่างไร


1.วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็ม ทุกปี9


2.วัคซีนโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงและอยู่นาน แล้วเว้นระยะห่าง 1 ปี ฉีดวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์


3.วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถฉีดวันเดียวกันได้

 

 

 

หากฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้ไปแล้ว จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่


สามารถฉีดได้ โดยเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

 

 

 

ระยะห่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ห้ามลืม


ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด-19 ของวัคซีนซิโนแวค คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คือ 10-12 สัปดาห์ แต่พิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น ซึ่งควรมาฉีดให้ตรงตามนัด ไม่ล่าช้า และไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

 

 


หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง


จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีความปลอดภัยและให้ใช้ได้แล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ 

 


เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่และยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน

 

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค , พญ. สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง