รีเซต

วางแผนให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วางแผนให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่
Ingonn
13 ธันวาคม 2564 ( 20:12 )
1.2K
วางแผนให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ในเดือนนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักทำเป็นประจำในช่วงนี้คือ “การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” แต่การฉีดวัคซีนช่วงนี้จะคาบเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วย ซึ่งไม่ควรฉีดควบคู่กัน โดยจะให้เว้นช่วงประมาณ 4 สัปดาห์ระหว่างวัคซีนแต่ละตัว เพื่อเฝ้าระวังอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน หากเกิดอาการอะไรขึ้นก็จะได้ทราบว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ 

 

วันนี้ TrueID จึงชวนทุกคนมาวางแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ให้ชนกัน โดยแต่ละชนิดควรฉีดห่างกันแค่ไหน ถึงจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม

 

Highlight

 

  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่างรอฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้

 

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิด-19 ต้องฉีดห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นแค่ไหน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน มีอัตราตายสูงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันจะช่วยลดการแพร่กระจายโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เกี่ยวอะไรกับวัคซีนโควิด-19

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดความสับสนในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 ได้ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิดได้ นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อนติดเชื้อโควิด-19 ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาล หรือแม้แต่การเข้ารักษาในโรงพยาบาลสั้นกว่ากลุ่มไม่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนการติดเชื้อโควิด-19

 

ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ่อยแค่ไหน ?

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ รวมทั้งบุคคลทั่วไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อยทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคจะค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้ในแต่ละปีสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องฉีดวัคซีนซ้ำเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และป้องกันได้ตรงกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาด

 

กลุ่มที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่


ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 


1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 


2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 


3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน


4.ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 


5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 


6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  


7.โรคอ้วน (มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

 


ระยะเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย


1.วัคซีนแอสตราเซเนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10–12 สัปดาห์

 

2.วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวค (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งขณะนี้กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์

 

 

และในอนาคตอาจมีอีก 2 วัคซีนเพิ่มเติม ได้แก่

 

3.วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson COVID-19 Vaccine) ฉีดเพียงแค่ 1 เข็ม

 

4.วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna COVID-19 Vaccine) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4 สัปดาห์ 

 


วางแผนฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่


ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่ได้การจัดสรรรวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้ตามแผนการฉีดนี้

 

แผนที่ 1 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19  

โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน จึงฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่อไปได้ โดยระยะห่างระหว่างเข็มของวัคซีนโควิด-19 ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน 

 

แผนที่ 2 กรณีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 แล้ว

จะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 ที่ได้รับไปแล้ว ดังนี้     

 

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 แล้ว ให้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดซิโนแวคเข็มที่ 2 จนครบทั้ง 2 เข็มก่อน โดยมีระยะการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ จึงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้ ซึ่งให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน     
      

 

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 แล้ว สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยให้ห่างจากวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือน และหลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ตามกำหนดนัด ให้มีระยะห่างจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน 

 

 

แผนที่ 3 ผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาครบทั้ง 2 เข็ม 

สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วอย่างน้อย 1 เดือน    

 

 


ขณะที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ วันนี้สามารถเข้ารับการฉีดได้แล้ว ดังนั้นในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อที่จะรับวัคซีนโควิด-19 ในเดือนถัดไปอย่างต่อเนื่อง

 

สามารถฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน พร้อมกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคราวเดียวกันได้หรือไม่ หากไม่สามารถให้พร้อมกันได้ ควรเว้นระยะห่างนานเท่าไหร่

 

เนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการรับวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนโควิดและวัคซีนที่ต้องการใช้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกันและการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ดีวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อถูกสัตว์กัดให้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลาเนื่องจากความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ามีความสำคัญกว่า

 

ประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่


ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 40-60% ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ตรงกับวัคซีน นอกจากนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (H1N1) ได้ดี แต่มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ H3N2 

 

อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนไข้หวัดใหญ่


อาการที่พบบ่อย คือ เจ็บหรือบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่บางรายอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ต่ำ หรือรู้สึกปวดเมื่อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน ใกล้เคียงกับอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 ส่วนอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ผู้ป่วยที่แพ้จะเริ่มแสดงอาการภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีน

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , พบแพทย์ , Hfocus

 

 

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง