รีเซต

“หลังฉีดวัคซีนกินยาแก้ปวดได้” แต่กินยาแก้ปวด ลดไข้ กลุ่ม NSAIDs มากเสี่ยงอันตรายต่อไต

“หลังฉีดวัคซีนกินยาแก้ปวดได้” แต่กินยาแก้ปวด ลดไข้ กลุ่ม NSAIDs มากเสี่ยงอันตรายต่อไต
Ingonn
15 มิถุนายน 2564 ( 15:49 )
4.7K

 

ใครเคยกินยาแก้ปวด แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac), นาพร็อกเซน (Naproxen) หรือเซเลค็อกสิบ (Celecoxib) กันบ้าง รู้หรือไม่ว่า การที่เรากินยาเหล่านี้เป็นประจำหรือมากเกินไป จะทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคไตได้โดยไม่รู้ตัว เพราะยาเหล่านี้ล้วนเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่เรามักนิยมรับประทาน

 

 


วันนี้ TrueID ขอเตือนทุกๆคนที่กำลังรับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ หรือชอบทานยาแก้ปวด ว่ายาอะไรที่กินมากแล้วเสี่ยงเป็นโรคไตสูง แล้วหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 จะยังสามารถทานยาแก้ปวดได้อยู่หรือไม่ ไปดูกัน

 

 

 

ยาแก้ปวด NSAIDs คืออะไร


ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และลดไข้

 

 

 

ยาแก้ปวด NSAIDs มีอะไรบ้าง


ยากลุ่มนี้ เป็น “ยาอันตราย” ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร ตัวอย่างยาที่เห็นกันบ่อย ๆ เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac), นาพร็อกเซน (Naproxen), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib)

 

 

 

 

สรรพคุณยาแก้ปวด NSAIDs


นอกเหนือจากการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการอักเสบในโรคข้ออักเสบต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อกระดูกเสื่อม ข้อกระดูกสันหลังอักเสบ ข้ออักเสบในโรคเกาต์ แล้วยังใช้กับการอักเสบกรณีอื่น เช่น เอ็นอักเสบ การอักเสบของเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มหัวใจ ยาบางชนิดนำมาใช้บรรเทาอาการปวดเฉียบพลันในกรณี ปวดประจำเดือน ปวดภายหลังการถอนฟัน ปวดบาดแผลผ่าตัด 

 

 

นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้หลายชนิดมีฤทธิ์ลดไข้ด้วย ยาที่นำมาใช้ลดไข้ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน อย่างไรก็ตาม NSAIDs (เอ็นเสด) มีผลไม่พึงประสงค์มากตลอดจนมียาอื่นที่ให้ผลดีในการลดไข้ จึงไม่ใช้ยาในกลุ่มนี้เพื่อการลดไข้ทั่วไป

 

 

 

ยาแก้ปวด NSAIDs อันตรายต่อไต ก่อนใช้ควรระวัง


การกินยาในกลุ่มนี้แนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร      

 

 

นอกจากนี้หากใช้ยาในกลุ่มนี้มากเกินไป จะส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในไตลดลง อาจทำให้เกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันได้ และยาในกลุ่มนี้ยังทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การใช้ยาในระยะยาวจึงนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้

 

 


การเกิดอันตรายต่อไตขึ้นอยู่กับ

 

1. ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา ดังนั้นไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดตามความจำเป็น


2. ผู้สูงอายุและทารกแรกคลอดมีความเสี่ยงสูง


3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน


4. ผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเลือดมากหรือเสียน้ำมาก 


5. การใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต

 

 


ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ยา NSAIDs 


1.ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา ผู้ที่มีแผลในทางเดินอาหารระยะเฉียบพลัน หรือผู้ที่จับหืด


2.ระวังการเกิดแผลและเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะใช้ยาแก้ปวด NSAIDs ชนิดใด


3.ระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง ผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร (เนื่องจากยาบางตัวผ่านรกและถูกขับออกทางน้ำนมได้)


4.หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต


5.ระวังการใช้ยาร่วมกับยาอื่น เพราะยาในกลุ่มนี้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้มาก

 

 


มียาอะไรที่เสี่ยงในการเป็นโรคไตบ้าง


ในปัจจุบันผู้ป่วยเป็นโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หนึ่งในสาเหตุการเกิดโรค คือ ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล โดยยาที่มักก่อให้เกิดอันตรายต่อไตมีดังนี้

 

1.กลุ่มยาแก้ปวดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพเฟน (Ibuprofen) เป็นต้น กลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด

 

2.ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir), สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้อีก

 

3.ยาชุดผิดกฎหมายที่มักมียาที่เป็นพิษต่อไตอย่างสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์รวมอยู่

 

4.ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมักลักลอบใส่สารที่อันตรายยาไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อไต

 

 

นอกจากยาดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างสรรพคุณว่าบำรุงไตหรือล้างไต ซึ่งไม่สามารถโฆษณาสรรพคุณนี้ได้ถือว่าผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แม้จะไม่ได้เป็นพิษต่อไตโดยตรง แต่อาจสร้างปัญหาได้ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลไต จนโรคลุกลามได้

 

 


สังเกตุอาการ


ส่วนการสังเกตอาการโรคไตนั้น วิธีที่ได้ผลชัดเจนที่สุดคือการเจาะเลือดตรวจ แต่เราสามารถสังเกตุอาการสัญญาณเตือนโรคไตได้ ดังนี้ เหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยมากหรือปัสสาวะมีฟอง แต่เพื่อให้มั่นใจควรทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจการทำงานของไต

 

 

 

การป้องกันการเกิดโรคไตจากการใช้ยา

 

1.หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์


2.หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอง แนะนำปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา


3.ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริมหรือยาจากสมุนไพรที่ผิดกฎหมายไม่ได้ขึ้นทะเบียน โอ้อวดสรรพคุณ รวมถึงยาชุด

 

 

 

สรุปหลังฉีดวัคซีนกินยาแก้ปวดได้ไหม


ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถ้ามีไข้หรือปวดศีรษะ ท้องเสียอาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นอาการที่พบได้ หลังการฉีดวัคซีน ดังนั้นหลังฉีด เมื่อกลับไปถึงบ้านถ้ามีอาการดังกล่าว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้เลย ไม่ต้องรอให้ไข้ขึ้นสูง หรือปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และสามารถทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง อาการดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 1-2 วัน ก็จะหายเป็นปกติ

 

 

การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น และหากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนซื้อยาทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายได้

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง