รีเซต

นาซาเปิดตัวนักบินอวกาศ 4 คน ภารกิจ Artemis II การส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์

นาซาเปิดตัวนักบินอวกาศ 4 คน ภารกิจ Artemis II การส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์
TNN ช่อง16
4 เมษายน 2566 ( 01:07 )
181
นาซาเปิดตัวนักบินอวกาศ 4 คน ภารกิจ Artemis II การส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์

วันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมาองค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกาหรือนาซา (NASA) ร่วมกับองค์การอวกาศแคนาดาหรือซีเอสเอ (CSA) เปิดตัวนักบินอวกาศทั้ง 4 คน ในภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis II) การส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2024 การเปิดตัวในครั้งนี้จัดขึ้นศูนย์อวกาศจอห์นสัน (NASA's Johnson Space Center) ในเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา


นักบินอวกาศในภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis II) ประกอบด้วย



1. ผู้บัญชาการ รีด ไวส์แมน (Reid Wiseman) ชาวสหรัฐอเมริกา ประวัติเคยเป็นนักบินอวกาศในภารกิจ Expedition 41 สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในช่วงปี 2014 เป็นระยะเวลากว่า 165 วัน บนอวกาศในฐานะวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ในภารกิจครั้งนั้นเขาทำการเดินอวกาศนาน 13 ชั่วโมง



2. นักบินอวกาศ วิคเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover) ชาวสหรัฐอเมริกา ประวัติเคยทำหน้าที่เป็นนักบินอวกาศให้กับยาน SpaceX Crew-1 ในช่วงปี 2021 ทำภารกิจ Expedition 64 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นระยะเวลา 168 วัน บนอวกาศในฐานะวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ



3. ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ 1 คริสติน่า แฮมม็อก โคช์ (Christina Hammock Koch) ชาวสหรัฐอเมริกา เจ้าของสถิตินักบินอวกาศผู้หญิงชาวสหรัฐอเมริกาที่เดินทางบนอวกาศยาวนานที่สุด 328 วัน เคยทำภารกิจเดินอวกาศโดยใช้นักบินอวกาศผู้หญิงล้วนครั้งแรกบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS



4. ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ 2 เจเรมี แฮนเซน (Jeremy Hansen) ชาวแคนาดา ประวัติอดีนักบินเครื่องบินขับไล่กองทัพอากาศแคนาดา มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอวกาศดาวเทียมและชาวแคนาดาคนแรกที่ทำงานร่วมกับศูนย์ควบคุมภารกิจของนาซาในปี 2017


ความสำคัญของการทำภารกิจในครั้งนี้นอกจากเป็นการกลับไปดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ในรอบ 52 ปี ยังเป็นภารกิจแรกที่มีการส่งนักบินอวกาศผู้หญิงไปดวงจันทร์ นักบินอวกาศผิวดำคนแรกที่เดินทางไปดวงจันทร์ และนักบินอวกาศชาวแคนาดาคนแรกที่เดินทางไปดวงจันทร์  


ภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis II) มีกำหนดการปล่อยยานอวกาศในปี 2024 โดยใช้จรวด SLS หรือ Space Launch System ขนส่งยานอวกาศโอไรออน์ (Orion) พร้อมนักบินอวกาศทั้ง 4 คน เดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย ภารกิจทั้งหมดใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน 


ก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 นาซาได้ทำภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis I) การส่งยานอวกาศโอไรออน์ (Orion) แบบไร้นักบินอวกาศภายในยานไปโคจรรอบดวงจันทร์มาแล้วเพื่อเป็นการทดสอบระบบดำรงชีพของนักบินอวกาศ ระบบการติดต่อสื่อสารและระบบอื่น ๆ ภายในยานอวกาศ ภารกิจอาร์เทมิส 1 ประสบความสำเร็จยานอวกาศเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย

 

ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ

nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง