รีเซต

“ผู้กำกับโจ้” เคยเป็น “ไบโพล่า” สะท้อนคนร้ายมักหงายการ์ดเป็น “โรคจิตเวช” ต้องรับผิดตามกฎหมายไหม

“ผู้กำกับโจ้” เคยเป็น “ไบโพล่า” สะท้อนคนร้ายมักหงายการ์ดเป็น “โรคจิตเวช” ต้องรับผิดตามกฎหมายไหม
Ingonn
31 สิงหาคม 2564 ( 11:39 )
283

จากกรณี “ผู้กำกับโจ้” หรือ พันตำรวจเอกธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ได้นำถุงคลุมหัวผู้ต้องหาทั้งหมด 6 ใบ จนผู้ต้องหาเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายนานเกิน 6 นาที ซึ่งล่าสุด มีกระแสข่าวออกมาว่า ตำรวจภูธรภาค 6 ให้ข้อมูลว่า “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เคยมีประวัติรักษา “ไบโพลาร์” มาระยะหนึ่งแล้ว และต้องกินยาอยู่เรื่อย ทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่า จะนำประเด็นนี้มาต่อสู้ในชั้นศาล

 

 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางช่อง 3 ได้ระบุว่า บรรดาคนที่เคยร่วมงานมากับอดีตผู้กำกับโจ้ จะรู้ดีว่า เขามีอาการคล้ายคนป่วยเป็นโรคไพโบล่า แต่ที่ผ่านมา ไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองป่วย เป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานที่รู้พยายามไม่มอบหมาย งานที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดอาการกำเริบ จึงเป็นที่มาของข่าวลือว่า อดีตผู้กำกับโจ้ เป็น "ไบโพล่า" และจนถึงขณะนี้ อดีตผู้กำกับโจ้ ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา และยังไม่มีรายงานว่าจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ต่อสู้ในทางคดีด้วย

 

 


“ผกก.โจ้” อ้างป่วย “ไบโพล่า” ไม่รับโทษได้ไหม


ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่าย “ทนายคลายทุกข์” ได้โพสต์ว่า อดีตผู้กำกับโจ้ อ้าง “ไบโพล่า” เพื่อไม่ต้องรับโทษได้หรือไม่ โดยได้สรุปตามข้อกฎหมายไว้ดังนี้

 

 

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 การที่ ผู้กระทำความผิดจะไม่ต้องรับโทษต้องเป็นกรณีที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เลย เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน แต่ถ้ารู้ผิดชอบอยู่บ้างบังคับตัวเองได้บ้างยังต้องรับโทษแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ 

 

 

แต่ถ้าขณะกระทำความผิด รู้ผิดชอบบังคับตนเองได้ต้องรับผิดเต็มตามที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถลดโทษหรือไม่ต้องรับโทษส่วนตัวผมเห็นว่าต้องรับโทษเพราะ หากผู้กำกับโจ้เป็นโรคจิตสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่น่าจะแต่งตั้งเป็นผู้กำกับนะครับความเห็นส่วนตัว

 

 

 

หลายคดีที่เรามักพบเห็นว่า คนร้ายมัก ป่วยเป็นโรคหรือมีอาการทางจิตเวช อย่างเช่น โรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า แต่การที่เราสรุปว่า คนร้ายคือคนป่วยจิตเวชทั้งหมด จะถือว่าเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยจิตเวชที่แท้จริงมากเกินไป เพราะการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ มีความยากลำบากกว่าผู้ป่วยโรคทั่วไปอยู่แล้ว เนื่องจาก มักถูกเลือกปฏิบัติ ในด้านต่างๆ ทั้งอาชีพ การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ ซึ่งผู้ป่วยโรคจิตเวชมีความอ่อนไหวสูงกว่า และเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่า

 

 


คนร้าย คือ คนโรคจิตหรือเปล่า ?


โรคจิตมีด้วยกันหลายชนิดแต่ละชนิดก็มีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไปบ้าง ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคจิตจะไม่ทราบว่าตนเองผิดปกติไป มักจะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ ไม่เคยคิดสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่สมเหตุสมผล รู้สึกสองจิตสองใจ  พยายามปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามวางตัวให้เป็นไปตามปกติ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะเห็นว่าตัวเองผิดปกติไป และพอเริ่มมีอาการเป็นมากขึ้นความสามารถในการตัดสินว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงจะเสียไป การควบคุมตนเองลดลง พฤติกรรมในระยะนี้ก็จะแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็นชัดว่าผิดปกติไป

 


 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคจิตนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิดมาก แต่แต่ละชนิดยังอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการย่อยๆ ลงไปอีก อย่างไรก็ตามพอจะจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 6 กลุ่ม ดังนี้

 


1.โรคจิตเภท


2.โรคจิตหลงผิด


3.โรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน


4.โรคจิตชนิดเฉียบพลัน


5.โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย


6.โรคจิตที่เกิดจากสารต่างๆ หรือยา

 

 

โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกายหรือสารต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วเมื่อรักษาโรคทางร่างกาย หรือหยุดการใช้สารหรือยาต่างๆ แล้วอาการก็จะหายหรือดีขึ้น โรคจิตเภทและโรคจิตหลงผิดนั้นจะค่อนข้างเรื้อรัง ส่วนโรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน และโรคจิตชนิดเฉียบพลันมักเป็นไม่นาน

 

 


ทำไม “ไบโพลาร์” มักเป็นโรคยอดฮิต ของคนร้าย


โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมา ระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลาย ๆ เดือนก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านการงาน การประกอบอาชีพ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการดูแลตนเองอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

 

 

ปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพลาร์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมที่ผิดปกติทั้งที่เกิดจากการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษและเกิดใหม่ช่วงเป็นทารกในครรภ์ เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ จะมีโอกาสเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่าคนทั่วไป

 

 

รวมถึงอาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และจากสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียดในชีวิตประจำวันที่กระตุ้นให้โรคแสดงอาการ รวมถึงเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของไทรอยด์ฮอร์โมน

 

 

โดยโรคไบโพลาร์พบได้ราวร้อยละ 2-5 ของประชากรทั่วไป โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาที่เกิดอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติบ่อยกว่าอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติเพียงอย่างเดียวก็ได้

 

 


“อาการไบโพลาร์” ที่สังเกตได้


1. อารมณ์คลุ้มคลั่ง (Manic Episode)


- รู้สึกคุณค่าตัวเองสูงเกินจริง บางครั้งคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ 


- ไม่หลับไม่นอน กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข


- พูดมาก พูดไม่หยุด


- คิดฟุ้งซ่าน จะทำโน่นทำนี่ คิดทำการใหญ่โต


- วุ่นวาย กิจกรรมมาก อาจใช้จ่ายผิดปกติมาก


- สัมพันธภาพกับผู้อื่นเสีย
 

 

 

2. อารมณ์เศร้า (Depressive Episode) 

 

- ซึมเศร้า


- หมดความสนใจและความเพลิดเพลินลงมาก


- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ใน 1 เดือน


- ไม่หลับหรือหลับมากไป


- อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง


- รู้สึกผิดหรือไร้ค่า ร้องไห้ง่าย


- สมาชิกลดลง ลังเลใจ ตัดสินใจอะไรไม่ได้


- คิดอยากตาย หรือการฆ่าตัวตาย

 

 

 

เราจะดูแล “ผู้ป่วยไบโพลาร์” อย่างไร?


สำหรับผู้ป่วย ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ซึ่งได้แก่


1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


2.ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด


3.มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด ทำจิตใจให้สบาย


4.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง


5.หมั่นสังเกตอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น


6.แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบถึงอาการเริ่มแรกของโรค เพื่อให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์

 


 
สำหรับการปฏิบัติตัวของญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ได้แก่


1.เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยที่แท้จริงของผู้ป่วย


2.ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


3.สังเกตุอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรคและรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น


4.ช่วยควบคุมเรื่องการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย


5.เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่ให้ผู้ป่วยหยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

 

 

 

 

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล , โรงพยาบาลกรุงเทพ , เพจทนายคลายทุกข์ , ช่อง 3

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง