รู้จัก “ซีม่าโลชั่น” ปลุกกระแสราดตัวรักษาหิด หรือช่วยผลัดผิวขาว

กลับมาเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง จากกรณีที่รุ่นพี่ราดซีม่าใส่รุ่นน้อง ป.2 ไปทั้งตัว จนเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน แผลพุพอง น้ำหนองไหล คล้ายถูกน้ำกรดราด ดราม่าซ้ำครูไม่พาไปส่งโรงพยาบาล ให้นอนพักที่ห้องพยาบาลของโรงเรียน
ล่าสุดได้มีบรรดาคุณหมอ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญต่างวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งพูดถึงการใช้ “ซีม่าโลชั่น” ที่ถูกต้อง เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ อาจส่งผลกับผิวหนังโดยตรงหากใช้ผิดวิธี
กระแส “ซีม่าโลชั่น”
21 กันยายน 2558 สมาชิกกระทู้พันทิพย์ท่านหนึ่ง ได้แชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “ซีม่าโลชั่น บทเรียนราคาแพง" เตือนการใช้ซีม่าโลชั่นในการลอกหนังผิวบริเวณข้อศอก/หัวเข่า โดยระบุว่าเมื่อทาไป 7 เดือน มีอาการผิวหนังไหม้
21 มีนาคม 2564 นักเรียนชั้นป.2 ถูกรุ่นพี่ทำโทษ ด้วยการราดซีม่าโลชั่นถึง 6 ขวด ทำให้เกิดปวดแสบปวดร้อนจนเป็นแผลพุพอง
ตกลง “ซีม่าโลชั่นคือยาอะไร”
ยาที่ใช้รักษาเชื้อราบนผิวหนัง กลาก เกลื้อน หิด ไม่ได้เป็นโลชั่นเหมาะจะใช้กับผิวหนังที่หนา ไม่มีแผลเปิด เนื่องจากทำให้แสบและระคายเคือง ทาบริเวณที่เป็นวันละ 1-2 ครั้ง
โดยส่วนผสมประกอบไปด้วย
1. กรดซาลิซิลิก เป็นกรดที่มีฤทธิ์ลอกผิวเซลล์ชั้นนอก (Salicylic acid 11.8%)
2. เรซอซินอล ใช้ผลัดผิวเซลล์ได้ (resorcinol 3.8%)
3. กรดฟีนอล ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ (phenol 0.825%)
นอกจากซีม่าโลชั่นยังมี “ซีม่าครีม”
เป็นยาฆ่าเชื้อรา ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต ติดเชื้อรา ทาแล้วไม่ทำให้เกิดอาการแสบและการระคายเคือง ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง
โดยส่วนผสมประกอบไปด้วย
คลอไตรมาโซล (Clotrimazole 1% )
สาเหตุที่รักษาโรคเชื้อราได้ เนื่องจากเชื้อราจะเกาะกินอยู่ที่หนังกำพร้า โดยยาจะมีสรรพคุณลอกเชื้อราออกนั่นเอง แต่ต้องระมัดระวังปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ และตำแหน่ง เพราะถ้าใช้ผิดวิธีก็จะทำให้ผิวหนังลอก นอกจากนั้นห้ามใช้ในกรณี แพ้ยาหรือห้ามใช้ในผิวหนังมีแผลเปิด และมักจะมีผลข้างเคียงตามมาได้แก่ มีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน
ผลข้างเคียงหากใช้ผิดวิธี
• ผิวไวต่อแสงแดด
• เกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย เนื่องจากผิวชั้นนอกสุดถูกลอกออกไป
• สีผิวไม่สม่ำเสมอ
• หลังจากการอักเสบทำให้สีผิวบริเวณนั้นคล้ำขึ้น
• หากผิวอักเสบ จะทำให้เกิดแผลติดเชื้อ และสภาพผิวจะดำ ด่างถาวร
รู้แบบนี้แล้ว อย่าหาทำใช้ “ซีม่าโลชั่น” ผิดวิธีจนทำให้ผิวที่สวยกลายเป็นผิวเสียกันนะ
ข้อมูลจาก สาระสุขภาพยาน่ารู้ , คณะเภสัชศาสตร์ ม.พะเยา