รีเซต

"คุกคามทางเพศ" ตราบาป ที่คนอื่นสร้างให้

"คุกคามทางเพศ" ตราบาป ที่คนอื่นสร้างให้
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2566 ( 08:55 )
70

"คุกคามทางเพศ" ตราบาป ที่คนอื่นสร้างให้ 

เรื่อง (ไม่) ปกติในสังคมไทย หากพบเจอ (ไม่) ควรเงียบ? 


—---------------------------


“ทำไมแบนเหมือนไม้กระดาน” 

“ขาวดีจริงๆ”

“พี่ชอบแบบนี้”

“ชอบแบบไม่ใส่อะไรเลยมากกว่า 555” 


ปฎิเสธไม่ได้…ว่าคำพูดเหล่านี้ หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ่อยครั้ง บางคนอาจปล่อยผ่าน แต่สำหรับบางคน คำพูดเชิงคุกคามแบบนี้ อาจทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย หมดความมั่นใจในตัวเอง กังวล เศร้าซึม โกรธ จากการ หยอกล้อกันทางคำพูดทั้งทางตรง ทางอ้อม เล่นมุกตลกเรื่องเพศ


“การคุกคามทางเพศ” เป็นการคุกคามรูปแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้งกายและวาจา การคุกคามทางเพศนั้นสามารถเกิดในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น ที่ทำงาน ที่บ้าน โรงเรียน และอื่น ๆ เหยื่อของการคุกคามทางเพศนั้นสามารถเป็นเพศใดก็ได้


ข้อมูลจากนักเขียนนาม มาร์ธา เลงกาแลน (Martha Langelan) แบ่งพฤติกรรมของผู้คุกคาม ไว้ 4 รูปแบบดังนี้ 


1. คุกคามแบบล่า เป็นพวกที่รู้สึกดีกับการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกอับอาย 

2. คุกคามแบบมีอำนาจเหนือกว่า เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด ผู้คุกคามทำเพื่อเพิ่มอีโก้ตัวเอง

3. คุกคามแบบแสดงความเป็นใหญ่ ผู้ที่ต้องการรักษาสิทธิพิเศษในที่ทำงาน เช่น ผู้ชายคนหนึ่งล่วงละเมิดพนักงานหญิงในอาชีพที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

4. คุกคามบนท้องถนน การล่วงละเมิดทางเพศประเภทหนึ่งมักเกิดจากคนแปลกหน้าในที่สาธารณะ การคุกคามแบบนี้ร่วมถึงการใช้วาจาและอวัจนภาษาด้วย การคุกคามทางคำพูด เช่น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ลักษณะทางกายภาพ เป็นต้น


นอกจากนี้ การคุกคามทางเพศ โดยนายจ้างเป็นหนึ่งในรูปแบบของการเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย องค์กรหลายแห่งเริ่มมีการตั้งเป้าในการป้องกันไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและการปกป้องพนักงานจากการล่วงละเมิดทางเพศ



“หยุด” โทษ “เหยื่อ” / หยุดสร้าง “ตราบาป” 


“ก็แต่งตัวโป๊เอง”

“เป็นเด็กเอนฯนี่น่า”

“ไปเดินคนเดียวในซอยเปลี่ยวเอง”

“ชอบโชว์ ก็เป็นเรื่องปกติ” 


คำพูดเหล่านี้ ถูกใช้เป็นคำซ้ำเติมเหยื่อ ที่เราเห็นกันบ่อย ไม่ว่าจะโลกจริง หรือ โลกออนไลน์ แต่รู้หรือไม่ว่า?  คำต่างๆ ที่เรากำลังถาโถมใส่เหยื่อจากการถูกคุมคามทางเพศ หรือ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการตั้งข้อสังเกตุว่านี่คือ “สาเหตุ” ที่ทำให้เรื่องแบบนี้ ไม่ถูกเปิดเผย กลายเป็นปัญหาที่ถูกฉายซ้ำในสังคมไทยเรื่อยมา หรือไม่? 


หลังการเผชิญปัญหา  เหยื่อไม่ยอมไปแจ้งความ ไม่ยอมบอกผู้ปกครอง หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น มิหนำซ้ำ ยังถูกการกล่าวโทษจากสังคม เมื่อทำอะไรไม่ได้ เหยื่อ ก็จะกลับมาโทษตัวเอง โทษเวรกรรมของตัวเอง เป็นความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ กลายเป็น “ตราบาป” ที่ตัวเองไม่ได้ก่อเลยด้วยซ้ำ




ผลกระทบจากการคุกคามทางเพศ


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ได้ระบุ ผลกระทบที่ตามมาจากการถูก Sexual Harassment ผลกระทบมีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลเสียต่อเหยื่อ ทั้งในระยะสั้นและยาว เพราะการถูก Sexual Harassment นับเป็นเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจที่ทำให้เหยื่อรู้สึกหวาดกลัว คุกคาม และไม่ปลอดภัย

• ผลทางร่างกาย (Physical Effects) มีอาการทางกายที่ตามมาจากความเครียด ส่งผลต่อร่างกายได้ทุกระบบ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการกินการนอนได้

• ผลทางจิตใจ (Emotional / Mental Health Effects) กังวล เศร้าซึม โกรธ รู้สึกผิด โทษตัวเอง หมดความมั่นใจในตัวเอง หวาดหวั่นกับอนาคตที่จะมาถึง รู้สึกอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD



6 พฤติกรรมคุกคามทางเพศที่ไม่ควรเพิกเฉย


1. การพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปร่าง หน้าตา และพฤติกรรมของเหยื่อในเชิงเหยียด

2. การใช้มุกตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือส่งเสียงหยอกล้อ ที่มีความหมายแอบแฝงไปในเรื่องเพศ

3. การร้องขอการกอด จูบ การมีเพศสัมพันธ์ หรือส่งข้อความซ้ำๆ เพื่อนัดเจอ ขอข้อมูลส่วนตัว

4. การปล่อยข้อมูลส่วนตัวหรือสร้างข่าวลือในทางเสียหาย ใช้คำพูดหรือส่งข้อความข่มขู่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอม

5. การส่งภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางเพศให้กับอีกฝ่าย

6. การจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกายของอีกฝ่าย แม้ว่าจะยังไม่มีการถึงเนื้อถึงตัว


คิดดีๆ ก่อนพิมพ์ - พูด โทษหนักจําคุกไม่เกิน 5 ปี 


คุกคามทางเพศออนไลน์ หรือ Cyber Sexual Harassment ซึ่งในทางกฎหมายสามารถนำข้อมูลหลักฐานเข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษกับผู้กระทำผิดเรื่องคุกคามทางเพศในสังคมออนไลน์ไว้เป็นการเฉพาะ แต่พฤติกรรมของผู้กระทำความผิดอาจมีความผิดตามกฎหมายเป็นรายกรณีได้ ดังนี้


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ประมวลกฎหมายอาญา


มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท


หากพบเบาะแสการกระทำความผิด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับลักษณะของการคุกคามทางเพศออนไลน์ สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


สุดท้ายนี้ ปัญหาการคุกคามทางเพศ ก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย แม้จะมีการร่วมรณรงค์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหานี้ ก็ยังไม่หมดไป ร้ายแรงกว่านั้น คือ การพัฒนาไปสู่การข่มขืน


คน ทุกเพศ ทุกวัย ควรหันกลับมาที่ตัวเอง เริ่มต้นจากตัวเรา หยุดพฤติกรรม ปากไว ใจเร็ว ควร คิดก่อนพูด คิดก่อนพิมพ์ อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ มิเช่นนั้น เรานั้นแหละ อาจกลายเป็นคนสร้าง “ตราบาป” โดยไม่รู้ตัว 



ภาพ TNNOnline  


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง